กู่ไม่กลับ! สภาล่มซ้ำซาก 2 ครั้งในสัปดาห์ 'ชวน' สุดยื้อแถมโดน ส.ส.เพื่อไทย ลูบคม

สมฉายา "สภาอับปาง" สัปดาห์เดียวล่ม 2 ครั้ง "ชวน" สุดยื้อแถมโดน "ส.ส.เพื่อไทย" ลูบคม ติงทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง เจอสวนกลับ พูดอะไรต้องย้อนดูตัวเอง ยันไม่ลำเอียง สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ นับได้แค่ 195 เสียงปิดประชุม

4 ก.พ.2565 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ระหว่างพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย พิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาค้างมาจากการประชุมสภาฯสมัยประชุมครั้งที่ 1

หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางเสร็จสิ้นแล้ว เวลา 14.05 น. นายชวน ประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติรับทราบรายงานดังกล่าว แต่เนื่องจากมีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมบางตาอาจไม่ครบองค์ประชุมได้ นายชวนจึงพยายามรอ ใช้เวลานานกว่า 20 นาที แต่ดูเหมือนสมาชิกในห้องจะยังไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ประธานพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที เพื่อรอสมาชิก ด้านนายชวนอนุญาตให้พักเพียง 15 นาที แต่สุดท้ายไม่ได้พักการประชุม เนื่องจากนายชวน กังวลว่าสมาชิกจะลดลงจากเดิมไปอีก

จากนั้นนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ แต่ขณะเดียวกันฝ่ายค้านขอให้นับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรแสดงตน ซึ่งนายชวนได้วินิจฉัยให้แสดงตนตามที่นายวิรัช เสนอ แต่นายจุลพันธ์ ลุกขึ้นประท้วงคัดค้าน ระบุว่า วันนี้พวกเรากำหนดจะประชุมถึงเวลาประมาณ 17.00 น. หากนับองค์ประชุมแบบตามที่นายวิรัชเสนอ จะทำให้เสียเวลา กว่าจะเสร็จก็เวลา 17.30 น. ไม่ต้องประชุมต่ออยู่ดี ดังนั้น ถ้าเดินเกมการเมืองเช่นนี้ฝ่ายค้านไม่ยุ่งด้วย และขออยู่นอกห้องประชุม

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ระบุว่านายชวน วันนี้ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำให้นายชวน สวนกลับว่าพูดอะไรจะต้องย้อนดูตัวเองด้วย และยืนยันว่าตนไม่ได้ลำเอียงในการทำหน้าที่ แต่นายพิเชษฐ์ตอบกลับว่า “ไม่เป็นไรครับท่านประธาน ท่านก็ต้องดูตัวเองด้วย ท่านอย่ามาว่าผม อย่าเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” แต่นายชวน ระบุว่าต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับ ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิ ทำให้นายพิเชษฐ์ ระบุว่าสถานการณ์แบบนี้ท่านอยู่ได้อย่างไร ห้องประชุมเป็นแบบนี้อยู่ได้อย่างไร แต่ในที่สุด นายพิเชษฐ์ ก็กล่าวขอโทษ

ต่อมานายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ญัตติที่นายวิรัช เสนอน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีส.ส.รับรอง ดังนั้น การเสนอจึงไม่ชอบ ทำให้นายชวน กล่าวตอบว่า เมื่อนายศุภชัย ยืนยันว่าญัตติการเสนอนับไม่ถูกต้อง คำสั่งที่ตนได้สั่งไปก่อนหน้านี้ให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากนั้นนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย จึงได้ลุกขึ้นกล่าวว่า “ญัตติที่ผมได้เสนอให้ขอนับองค์ประชุมแบบเสียบบัตร ยังอยู่และถูกต้องทุกประการ เพราะมีสมาชิกรับรองกว่า 20 คน”

กระทั่งเวลา 14.45 น. นายชวน ได้กดออดเชิญให้สมาชิกเข้าห้องประชุมเพื่อเสียบบัตรแสดงตน และประกาศผลองค์ประชุม ปรากฎว่ามีสมาชิกเพียง 195 คน ไม่ถึง 237 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม และสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.50 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาในการยื้อ เพื่อนับองค์ประชุมเกือบ 1 ชั่วโมง และสภาฯล่มครั้งถือเป็นครั้งที่สอง ของเดือนก.พ. และเป็นครั้งที่ 16 ของสภาฯชุดนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วัน-อยู่บำลุง' เปิดหมดเปลือกซบ พปชร. เร้าเพื่อไทยขับ 'เหลิม' กัดฟันยังเคารพอาแม้ว

นายวัน อยู่บำรุง สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แถลงเปิดใจถึงการลาออกจากพรรคเพื่อไทย การย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ว่า มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นอกจากข่าวลาออกจากกรรมการผู้ช่วย

พลังประชารัฐ เปิดตัว 'วัน-6นักการเมือง' บิ๊กป้อมฉุนหาสาขาเพื่อไทย!

ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พร้อมด้วยนายไพบูลย์

นายกฯ สั่งรัฐมนตรีงดวิจารณ์ตอบโต้การเมือง ตลอดช่วงสัปดาห์มหามงคล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเนื่องจากสัปดาห์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะตรงกับพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

สิงหารู้เรื่อง! ดวง ‘แม้ว‘ กำลังมีปัญหากับข้าเก่าเต่าเลี้ยง

ท่านแม้ว เดินเกมการเมืองข้ามช็อตเตรียมจัดตั้งรัฐบาลต่อถ้าเศรษฐาถูกสอย ไม่ปล่อยให้ภูมิใจไทยพรรคลำดับ 3 จัดตั้งรัฐบาลตามธรรมเนียม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490