แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงว่า “จะไม่จับมือกับเผด็จการคนทำรัฐประหาร” ซึ่งในขณะนั้น คำพูดนี้มุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่ถูกเรียกกันว่า “สองลุง”
แต่เมื่อถึงเวลาจริง พรรคเพื่อไทย กลับจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พลเอกประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค และร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มที่เคยสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ จนถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า “ตระบัดสัตย์” ไปแล้วครั้งหนึ่ง
การให้การต้อนรับ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งถือเป็น เผด็จการอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ ยิ่งตอกย้ำว่าพรรคเพื่อไทย ทำในสิ่งตรงข้ามกับที่เคยประกาศไว้ อย่างชัดเจน
จากเดิมที่ถูกโจมตีเรื่อง “จับมือสองลุง” เพื่อเข้าสู่อำนาจ วันนี้ภาพที่ แพทองธาร ต้องให้การต้อนรับผู้นำรัฐประหารจากต่างประเทศ ยิ่งทำให้เสียงวิจารณ์ดังขึ้นว่า “ผิดคำพูดซ้ำสอง”
เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงปัญหาด้าน ภาพลักษณ์ แต่ยังลามไปถึง ความน่าเชื่อถือในระยะยาว ของพรรค หากไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงจุดยืนในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน
พรรคเพื่อไทย จึงตกเป็นเป้าโจมตีโดยเฉพาะจาก ภาคประชาชน และ องค์กรสิทธิมนุษยชน ที่มองว่านี่คือการ “ฟอกขาว” ให้รัฐบาลทหารเมียนมา และย้อนแย้งกับ จุดยืนประชาธิปไตย ที่พรรคเคยประกาศไว้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า การให้เวทีระดับนานาชาติแก่ มิน อ่อง หล่าย คือการมอบความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
รัฐบาลทหารเมียนมาถูกกล่าวหาว่า สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 6,000 คน ควบคุมตัวโดยพลการอีกกว่า 20,000 คน และรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตกลับมาใช้
ที่สำคัญ กองทัพเมียนมายัง ใช้กำลังโจมตีประชาชนแม้ในพื้นที่ประสบภัย และขัดขวางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลให้หลายฝ่ายมองว่า การประชุม BIMSTEC ครั้งนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ของ ความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร
แม้ข้อกล่าวหาจะมีน้ำหนัก แต่ในทางปฏิบัติ ไทยไม่อาจตัดขาดเมียนมาได้ง่าย เนื่องจากมีทั้ง ข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์และผลประโยชน์ของชาติ
ไทยและเมียนมามีพรมแดนยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร มีปัญหาข้ามพรมแดนที่ต้องจัดการ ทั้ง แรงงานผิดกฎหมาย ผู้ลี้ภัย ยาเสพติด และความมั่นคง
หากไทยเลือกเดินสายแข็งอย่างสุดโต่ง เมียนมาอาจหันไปพึ่งจีนหรือรัสเซีย และนั่นอาจทำให้ไทยเสียประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว
ดังนั้น การต้อนรับ มิน อ่อง หล่าย จึงอาจเป็นเพียง ความจำเป็นทางการทูต แต่ก็ไม่สามารถลบภาพความย้อนแย้งของพรรคเพื่อไทย ที่กำลังเผชิญแรงกดดันว่ากำลัง “พูดอย่าง ทำอย่าง”
ย้อนกลับไปในปี 2564 “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการเมืองน้ำดี ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อย่างรุนแรง ว่า
“ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ กดดันให้เมียนมาผลักดันให้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย และประณามการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
พลเอกประยุทธ์ กลับแสดงท่าทีเชื้อเชิญ ต้อนรับและสนับสนุนคณะรัฐประหารจากเมียนมาเป็นประเทศแรกและประเทศเดียว การกระทำของนายกฯไทยจึงทำลายภาพลักษณ์ของไทยอย่างร้ายแรง”
ทว่าวันนี้ เมื่อ พรรคเพื่อไทย เข้ามาบริหารประเทศ กลับทำในสิ่งเดียวกัน กับที่เคยประณามผู้อื่นเอาไว้
ภาพนี้สะท้อนความย้อนแย้ง ระหว่างคำพูดกับการกระทำ และ ตอกย้ำข้อครหาเรื่องความไม่จริงใจ ที่สังคมเริ่มตั้งคำถามกับพรรคมาโดยตลอด
ในเมื่อเคยประกาศยืนหยัดเพื่อ ประชาธิปไตย อย่างชัดเจน การเปลี่ยนจุดยืนเช่นนี้ ย่อมกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชน หากไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้
ขณะที่รัฐบาลตกเป็นเป้า นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็อาจต้อง ย้อนกลับมาทบทวนมุมมองของตนเอง ว่ากำลังยึดติดกับ โลกอุดมคติ มากเกินไปหรือไม่
หลายฝ่ายต้องการให้ไทย ตัดขาดเมียนมา เพื่อยืนหยัดเคียงข้างหลักสิทธิมนุษยชน แต่นโยบายต่างประเทศ ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยอุดมคติเพียงอย่างเดียวได้
เพราะโลกของการทูตเต็มไปด้วย ข้อจำกัดและผลประโยชน์ที่ซับซ้อน หากเลือกแนวทางตัดขาด อาจทำให้ไทย เสียเปรียบในเวทีภูมิภาค
แม้การยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยจะเป็นหลักที่ควรปักธงไว้ แต่หาก ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเชิงยุทธศาสตร์ ก็อาจกลายเป็นแนวทางที่ ไม่มีวันเป็นจริงได้
ในทางกลับกัน หากนักเคลื่อนไหว เข้าใจข้อจำกัดของรัฐ อาจจะสามารถออกแบบกลยุทธ์กดดันเมียนมา ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่าเดิม
รัฐบาลไทยจึงอยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และแม้จะมีเหตุผลทางการทูต แต่ พรรคเพื่อไทย ก็ยังต้องเผชิญคำถามสำคัญจากประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายภาคประชาชนก็ต้อง ชั่งน้ำหนักระหว่างอุดมคติกับข้อเท็จจริง เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีพลังและไม่ตกอยู่ในกับดักของความเพ้อฝัน
หากรัฐบาลและภาคประชาชน สามารถหาจุดสมดุลระหว่าง หลักการกับความเป็นจริง ได้ นั่นอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในระยะยาว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พ่อนายกฯ' ชี้ต้องคุยกับ 'เมียนมา' มากขึ้น ร่วมแก้ยาเสพติด-แก๊งคอลฯ-ฝุ่นPM2.5-สารหนู
'ทักษิณ' ชี้ต้องคุยกับเมียนมามากขึ้น ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งปมยาเสพติด-คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นPM2.5-สารหนู พร้อมปลอบคนเชียงใหม่และเชียงราย รัฐบาลเร่งจัดการ
สทร. ยอมรับได้คุย ‘มินอองไลง์’ หวังเห็นเมียนมาเปิดเจรจาปูทางสันติสุข
"ทักษิณ" รับได้คุย "มินอองไลง์" ปัดเข้าข้าง - หวังเห็นเมียนมาเปิดเจรจาปูทางสันติสุข - แนะคุยชนกลุ่มน้อย-ปล่อยนักโทษการเมืองก่อนเลือกตั้ง
ส่งกำลังพลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว 'เมียนมา' ตามยุทธการมัณฑะเลย์ 82
พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมส่งกำลังพลของ
วิเคราะห์เจาะลึก ‘เลือกตั้งเมียนมา’ ชำแหละ ‘เบื้องหลัง-ความหวัง’ รบ.ทหาร ปูทางสู่ ‘รัฐบาลผสม’ ที่กองทัพยังคุมเกม
รัฐบาลทหารเมียนมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยการประกาศจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นใ
แผ่นดินไหวขนาด 3.8 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจาก อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 254 กม.
เมื่อเวลา12.38 น.ได้แผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา (Myanmar) ขนาด 3.8 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ