
‘ทวี’ นำทีม ‘ดีเอสไอ’ ถกนัดแรก คดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ปมตึก สตง.ถล่ม พบรับงาน 29 โครงการรัฐ บีบราคาต่ำ รวมมูลค่า 2.2 หมื่นล้าน สัปดาห์หน้าจ่อหมายเรียกพยานกลุ่มแรก พร้อมเร่งล่าตัว 2 กรรมการคนไทย
4 เม.ย. 2568 – จากกรณีที่ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ใช้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีนอมินี บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้นถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ตามความผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และมี พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมคดีพิเศษที่ 32/2568 ครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการสอบสวน โดยการประชุมครั้งนี้มี 3 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย วาระที่ 1 เรื่องประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ วาระที่ 2 เรื่องเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการสอบสวนคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และวาระ 3 เรื่องอื่น (ถ้ามี) โดยในการประชุม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย นำโดย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ร่วมกันประชุมคดีพิเศษดังกล่าว
โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวให้โอวาทก่อนเริ่มการประชุมว่า กรณีเหตุการณ์อาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) เกิดถล่มลงมา แล้วมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และขณะนี้ก็ยังมีผู้สูญหายจำนวนมาก ซึ่งตัวเลขวานนี้ (3 เม.ย.) ปรากฏยอดผู้เสียชีวิตแล้ว 15 ราย มีจำนวนผู้ประสบภัย รวม 103 ราย เรื่องนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งพื้นที่ประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ แต่เรากลับต้องโฟกัสพื้นที่ภายในอาคาร สตง. ประมาณ 11 ไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรวบรวมพยานหลักฐานและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสาเหตุมันเกิดจากอะไร และเมื่อได้สาเหตุแท้จริงแล้ว ก็จะดูต่อได้ว่ามันมีการกระทำผิดกฎหมายอะไรบ้าง โดยปกติแล้วพนักงานสอบสวนจะทำงานเกี่ยวข้องอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.พยานบุคคล 2.พยานเอกสาร และ 3.พยานวัตถุ
ทั้งนี้ ด้วยความที่ไม่ได้มีใครเก่งไปทั้งหมด จึงต้องใช้พยานผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ประการทั้งหมดนี้เป็นโชคดีปนโชคร้ายของประเทศไทย เรามีหลักการและกฎหมายที่ดีจำนวนมาก แต่กฎหมายที่ดีก็มีจำนวนฟุ่มเฟือย และที่สำคัญ กฎหมายมาแบ่งเป็นอาณานิคมของกฎหมายใครกฎหมายมัน ดังนั้น เวลาเกิดเหตุขึ้นมา จึงทำให้แม้แต่เรื่องอุบัติเหตุอุบัติภัย ซึ่งพอเหตุอุบัติภัยมีการข้ามพื้นที่ ข้ามประเทศ การบริหารจัดการจึงมีความยาก และทุกหน่วยงานก็มีอาณานิคมของตัวเอง การทำงานของพนักงานสอบสวนในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่อธิบดีดีเอสไอได้รับคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษ โดยเฉพาะประเด็น 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้แก่ นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.7997% นายประจวบ ศิริเขต ถือหุ้น 10.2% และ นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 0.0003% ปรากฏว่าได้มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ติดตามตัวกรรมการคนไทยบางรายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมเรียกสอบสวนปากคำตามขั้นตอน

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ร่วมกันแถลงผลการประชุมคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เบื้องต้น
โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ในฐานะผู้อำนวยความยุติธรรมจึงมารับฟังข้อมูลและอยากให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมคณะทำงาน ได้รับทราบว่าคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนและต้องการความยุติธรรม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะอ้างว่าแผ่นดินไหวแต่บนพื้นที่ 320 ล้านไร่ในประเทศไทย พบว่าเกิดขึ้นเพียงที่ดินก่อสร้างอาคารสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พื้นที่เพียง 11 ไร่เท่านั้น ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และมีผู้ประสบเหตุ จำนวน 103 ราย ซึ่งต้องเร่งให้การช่วยเหลือ ถ้ายังมีชีวิตอยู่แม้จะมีหนทางไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม แนวทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นจะต้องมีพยานหลักฐาน และพยานบุคคลที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องไปสอบสวน รวมถึงพยานวัตถุว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิต หากปล่อยให้อาคารชำรุดไปเลยก็จะโยนความผิดเพราะหาหลักฐานไม่ได้ และวัสดุอุปกรณ์เป็นยี่ห้อใดถือเป็นพยานวัตถุต้องประสานผู้รับผิดชอบ และอยากให้ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ที่สำคัญอย่าเข้าไปเป็นอุปสรรค เราต้องเชื่อว่าบุคคลสูญหายยังมีชีวิตอยู่ การอยู่รอดชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งนี้ ดีเอสไอมีการแต่งตั้งบุคคลที่มีประสิทธิภาพในหลายๆ เรื่อง เช่น คนที่ควบคุมการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและการประกอบธุรกิจบุคคลต่างด้าว คือ กระทรวงพาณิชย์ แต่พอเป็นกิจการร่วมค้า กระทรวงพาณิชย์ กลับไม่มีทะเบียนอ้างว่าไม่ใช่เป็นนิติบุคคลตามกฏหมายแพ่ง และหน่วยงานที่มารับผิดชอบมาเป็นกรมสรรพากรเพราะต้องมีการมาเสียภาษี ซึ่งไม่มีหน่วยงานโดยตรงที่รับผิดชอบเรื่องทะเบียนตรงนี้ จึงอยากให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ
ส่วนการจดทะเบียนกิจการร่วมค้า บริษัทต่างชาติไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ต้องมีคนไทยร่วมถือหุ้นร้อยละ 51 และคนต่างด้าวร้อยละ 49 จึงอยากให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบด้วยเพราะต้องตอบคำถามสังคมได้ ส่วนพบมี 11 บริษัทที่เป็นคนไทย ได้งานมาทั้งหมด 29 โครงการได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบเพราะอาจจะมีโครงการจำนวนมากกว่านี้ สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้อาจต้องการผลประโยชน์ ควรดูว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ แต่ถ้าพบความผิดการทุจริตในเนื้องานจะส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา เผยว่า นอกจากความผิดคดีนอมินีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังมีความผิดอื่นพิจารณาควบคู่ไปด้วย คือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) โดยจะต้องดูว่าในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้นนั้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่
ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการไปตรวจสอบยังบ้านพักของนายประจวบ (สงวนนามสกุล) ที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว พบเพียงภรรยา ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า นายประจวบมีรายได้น้อยมาก ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น อีกทั้งนายประจวบกลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตึก สตง. ถล่มให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร ก่อนออกจากบ้านไปแล้ว 2-3 วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งภรรยาว่าออกไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งเราดูแนวโน้มเบื้องต้น ไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลาย ๆ แห่ง นี่จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง หรือนอมินี นอกจากนี้ ในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณและนายมานัส เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า คณะพนักงานสอบสวนยังได้มีการจัดทำโครงสร้างรายชื่อกิจการร่วมค้าที่ บ.ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มีการไปเข้าร่วมกับนิติบุคคลหลายแห่ง แต่ในช่วงแรกเราจะโฟกัสไปที่กิจการร่วมค้าที่ไปร่วมกับ บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันราคาในกรณีการก่อสร้างตึก สตง. ส่วนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
ส่วนสัญญาที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้าและได้รับงานจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 จำนวน 29 สัญญานั้น คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นเดียวกัน เพราะตอนนี้เรายังโฟกัสที่คดีนอมินีเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ หากย้อนไปดูในส่วนของ 11 รายชื่อกิจการร่วมค้าของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะพบว่าหลายที่ก็ยังไม่ได้เกิดเหตุใด ๆ ยังปกติอยู่ ดังนั้น เราจึงไปดูในส่วนของ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี“ เป็นหลักก่อน
เมื่อถามว่า เวลาเจ้าหน้าที่ไปตรวจสถานที่แห่งใดจะพบว่าเอกสารล่องหนหายไป หรือมีการขนย้ายเอกสาร ประชาชนจึงหวั่นใจว่าจะสามารถได้เอกสารหลักฐานที่จะใช้พิจารณาดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ตอนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพราะเราก็มีอำนาจในการที่จะประสานติดตามพยานหลักฐานต่าง ๆ โดยเรามั่นใจว่าจะได้เอกสารสำคัญมาแน่นอน ส่วนกรณีที่มีรายงานข้อมูลว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจยางแห่งหนึ่งนั้น ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) นั้น ดีเอสไอจะตรวจสอบถึงประเด็นที่เขาเป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับบริษัทที่เกิดเหตุ เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าบางรายการที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ส่วนเรื่องฝุ่นแดงของเหล็ก ทราบว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีปลอม และเป็นเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเอสไออาจต้องไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ปัจจุบันทราบว่าที่ทำการของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ มีการใช้ที่อยู่เดียวกันในหลากหลายที่ อย่างสถานที่อาคารภายในซอยพุทธบูชา 44 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กทม. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่านอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานแล้วก็ยังมีอีก 4-5 นิติบุคคลที่มาใช้เป็นสำนักงานด้วยเช่นกัน สิ่งนี้เป็นข้อพิรุธที่ดีเอสไอได้รวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน ส่วนปัจจุบันนี้สำนักงานที่แท้จริงของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะอยู่ที่ใดนั้น ขอให้คณะพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจยึดไว้เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง สตง. เราจะต้องมีการประสานเรื่องเอกสาร เพราะเมื่อเรารับเป็นคดีพิเศษแล้ว ก็จะต้องมีการโอนเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีมาให้ดีเอสไอ จึงทำให้ในตอนนี้ดีเอสไอยังไม่ได้เห็นเอกสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าว
“ภายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะสามารถออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรกมาสอบสวนปากคำได้ แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบสักระยะ” อธิบดีดีเอสไอ ระบุ.
ขณะที่ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตามผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 ราย นายประจวบ นายโสภณ และนายมานัส ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 รายได้มาเป็นผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่มีการก่อตั้งนิติบุคคลเกิดขึ้น โดยกรณีของนายมานัส ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิติบุคคล เคยถือหุ้นถึง 360,000 หุ้น แต่ได้โอนหุ้นไปให้นายโสภณ ทำให้เหลือหุ้นเพียง 0.0003 โดยดีเอสไออยู่ระหว่างติดตามว่าการโอนหุ้นระหว่างสองคนนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นแท้จริงหรือไม่ ประกอบกับบุคคลทั้งสามที่เป็นผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบในตอนนี้ยังไม่เคยประกอบอาชีพในเรื่องของการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งยังรับงานภาครัฐ รวมไปถึงนายโสภณ ยังเข้าไปเป็นผู้บริหารงานร่วมกับชาวจีนอีกหนึ่งราย ซึ่งตอนนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม
ส่วน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับพฤติการณ์การเป็นนอมินีแล้วผันตัวไปเป็นกิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อจะเข้าประมูลงานของภาครัฐหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบ พบว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สามารถประมูลงานของภาครัฐได้ 29 โครงการ ปัจจุบันเป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาทในโครงการตามสัญญา ซึ่งถ้าเราสามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมดนั้น มันจะทำให้เห็นความชัดเจน เนื่องจากเขาได้มีการแสดงเอกสารว่าเป็นคนไทย และเป็นคนไทยที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงาน แต่ได้มาร่วมค้ากับคนไทยที่มีประสบการณ์ทางด้านการประมูลงานมาก่อน โดยที่ต้องไปตรวจสอบว่าคนไทยเหล่านี้รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเราจะตรวจสอบว่าสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เอกสารกิจการร่วมค้าที่มาจากต่างประเทศจริงหรือไม่
“คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพยายามค้นหาความจริงทั้งหมด เพราะท้ายสุดแล้วโครงการทั้ง 29 โครงการนี้ ล้วนได้ก่อสร้าง เพราะโครงการสุดท้าย โครงการที่ 29 พบว่าเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 9,348 ล้านบาท อย่างไรคณะพนักงานสอบสวนขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่เกินสองเดือน เนื่องด้วยรายละเอียดค่อนข้างมีจำนวนเยอะ แต่มันจะทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่าเหตุใดต้องเป็นต่างด้าว แล้วมาอำพรางเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้าในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการด้วยตัวเอง ทั้งที่กล่าวอ้างว่าเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องมาร่วมประมูลกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้รัฐเชื่อมั่นในเรื่องของการประมูล จนมันทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งยังเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว และเป็นอาคารสูงที่สุดแล้วเกิดถล่มลงมา” ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุ
เมื่อถามว่า พฤติการณ์ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่ผ่านมามีการยอมขาดทุนในโครงการประมูลงานภาครัฐเพื่อที่จะสะสมผลงาน สร้างความน่าเชื่อถือจนเข้าสู่การประมูลโครงการรัฐขนาดใหญ่ใช่หรือไม่นั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ แจงว่า สำหรับโครงการก่อสร้าง สตง. ราคากลางพบว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประมูลได้ราคา 2,136 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ 15% ไม่เลยกฎเกณฑ์ที่ไทยกำหนด แต่ภาษานักก่อสร้างเรียกว่าเป็นการฟันงาน เพื่อจะบีบตัวเองลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้วราคากลางของการก่อสร้างตึก สตง. มันเข้มข้นมาก ราคา 2,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว แต่ทำไมยังดีดราคาลงมาได้ถึง 300-400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาความจริงว่าบริษัทได้มีการนำเอาความอันเป็นเท็จ หรือแสดงข้อเท็จจริงอย่างไรที่ทำให้รัฐหลงผิด
สำหรับ 11 กิจการร่วมค้าที่ได้ไปร่วมกับ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวก็จะเป็นเรื่องยาก พร้อมยืนยันว่ากรรมการในบริษัทอื่นๆ เหล่านี้ ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพียงแสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมในลักษณะนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.อุตสาหกรรม เห็นด้วยถอนสิทธิ BOI บริษัทซินเคอหยวน ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
'กมธ.อุตสาหกรรม' ขอ คกก.สอบข้อเท็จจริงตึก สตง.ถล่ม พิจารณารอบคอบ เห็นด้วยกระทรวงอุตฯ ขอถอน BOI บ.ผลิตเหล็ก
ทำบุญตึกถล่ม ฟื้นขวัญกำลังใจ DSIไล่ล่านอมินี
กทม.ลุยขนซากตึกถล่ม คาดปลายเดือนเคลียร์ด้านบนออกได้หมด "ชัชชาติ"
นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานปรับโหมดจากเรื่องแผ่นดินไหว เร่งผลักดันท่องเที่ยวสงกรานต์
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2568 ว่า ขออนุญาตสื่อสารว่าเรื่องของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่น
ผู้รับเหมาไฟฟ้า ตึกสตง.ถล่ม เข้าให้ข้อมูลดีเอสไอ ปมโดนเบี้ยวค่าจ้าง 3.7 ล้านบาท
จากกรณีหัวหน้าผู้รับเหมาช่วงก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และผู้รับเหมากว่า 10 คน รวมตัวกันเดินทางไปที่จุดเกิดเหตุเพื่อพูดคุยไกล่เกลี่ยกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จำกัด และ บริษัท 9PK ซึ่งเป็นบริษัทซับคอนแทค ที่ค้างค่าจ้างผู้รับเหมารวมกว่า 10 ล้านบาท
มองบน! 'ทวีไอพี' อุ้มกาสิโน ไม่เกี่ยวกับศาสนา ดีกว่ากฎหมายที่ผ่านการยึดอำนาจ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงจุดยืนของพรรคประชาชาติต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบ