ในหลวง พระราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฯ เนปาล พร้อมภริยา เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก
2 เม.ย.2568 - เวลา 18.12 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล และนางราธิกา ศากยะ (Mrs. Radhika Shakya) ภริยา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีเนปาลครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่ประเทศไทยกับเนปาลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2502 และเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมหารือกัน เพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้านในหลายสาขา โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน เกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ การผลักดันความร่วมมือด้านการศึกษา และการให้ทุนการศึกษา ตลอดจนสนับสนุนสินค้าเกษตร รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ และความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี
จากนั้น เวลา 18.42 น. น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายโอกาส เตพละกุล อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ พร้อมครุยวิทยฐานะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเครื่องทรง 3 ฤดู ชนิดทองคำ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถด้านวิศวกรรมการบินและอากาศยาน ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้ทั้งด้านทฤษฎี วิชาการ และการฝึกปฏิบัติด้านการบินในหลายหลักสูตร ภทรงพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ พร้อมทั้งทรงถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงแก่นักเรียนการบิน ตลอดจนทรงจัดทำหลักสูตรการบิน ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินแก่กองทัพอากาศอย่างต่อเนื่อง และทรงมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และพระปรีชาสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร อีกทั้งยังทรงสนพระราชหฤทัยในการฝึกบินตามหลักสูตรการบินพาณิชย์ ทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกจากกรมการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตครูฝึกภาคอากาศ และผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ ทรงใช้พระปรีชาสามารถด้านการบินในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จึงนับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างของนักบินที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญทางการบิน และทรงอุทิศพระองค์เพื่อความก้าวหน้าของวงการการบินไทยมาโดยตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดภาพ 'ภูฏาน' ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติไทย เตรียมการรับเสด็จฯ ในหลวง-พระราชินี
เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ราชอาณาจักรภูฏาน ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ และธงชาติไทย เตรียมการรับเสด็จฯ ในหลวง-พระราชินี
ในหลวง ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย 'พระสันตะปาปาฟรานซิส' สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังประธานคณะคาร์ดินัลทั่วโลก ในการที่ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส (His Holiness Pope Francis) สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ความว่า
พสกนิกรชาวไทยมุสลิมปลื้มปีติ 'ในหลวง' ทรงเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงเปิด “งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1446” พุทธศักราช 2568
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชพิธีสงกรานต์
“ในหลวง-พระราชินี” เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีสงกรานต์ ประจำปี 2568