สว. ถกญัตติด่วน รุมสับรัฐบาลล้มเหลว 'แพทองธาร' ไร้เดียงสารับมือแผ่นดินไหว

วุุฒิสภาถกญัตติด่วน ยำเละรัฐบาลขาดประสิทธิภาพรับมือแผ่นดินไหว ระบบแจ้งเตือนภัยตั้งงบประมาณไว้ตั้งแต่ปี 67 แต่ไม่คืบหน้า แขวะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังแจ้งเร็วกว่า ข้องใจตึกถล่มอาจมาจากการคอร์รัปชัน 'นันทนา' ซัดนายกฯไร้เดียงสา ไม่นำประสบการณ์จากยุคพ่อ-อา มาปรับใช้อย่างเป็นมืออาชีพ

31 มีนาคม 2568 – ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา

น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง แต่กลับไม่มีการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนอย่างทันท่วงที ทั้งที่ประเทศไทยได้ลงทุนในระบบแจ้งเตือน Cell Broadcast รวมกว่า 1,074 ล้านบาท ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิในปี 2547 แต่ยังคงไม่คืบหน้า

“ช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว ผมเห็นกับตาว่าตึกถล่ม และน้ำกระฉอกจากตึกเต็มไปหมด คนวิ่งหนีตึกลงมาเหมือนในภาพยนตร์ ผมเชื่อว่าประชาชนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศไทย” น.ต.วุฒิพงศ์กล่าว และว่า ขณะที่ไม่มีการแจ้งเตือนทันที แต่หลังจากผ่านไป 5-6 ชั่วโมงกลับได้รับข้อความแจ้งเตือน ซึ่งพบว่า มิจฉาชีพสามารถส่งข้อความได้เร็วกว่าและยังส่งลิงก์หลอกลวงตามมาอีกด้วย

ด้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส อภิปรายอย่างดุเดือดว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทยและรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด จนทำให้คนไทยตาสว่างกันเลยทีเดียว

"รัฐบาลไม่อาจแสดงความไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเกิดเป็นครั้งแรก ถ้าจะว่าไปแล้วครอบครัวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เคยเผชิญวิกฤตตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ เหตุการณ์สึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ มาถึงรุ่นนายกฯ ควรนำประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้าง แต่กลับหาความเป็นมืออาชีพไม่มี"

เธอ กล่าวต่อว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและทำน้อยเกินไป เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลต้องเตือนภัยประชาชน แต่รัฐบาลไม่เคยสื่อสารให้ประชาชนอุ่นใจ มีแต่คอลเซ็นเตอร์เท่านั้น ที่ทราบว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัย แต่สิ่งที่นายกฯ บอกคือสั่งการแล้วแต่ระบบไม่ออก ทำให้เห็นว่าปัญหาใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานภาครัฐเกี่ยงกันทำงานอีก

"มีกระแสข่าวว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั้ง 2 ค่าย พร้อมส่ง SMS แต่ กสทช. และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร มัวแต่ลังเลไป 23 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันได้รับ SMS ถึงวิธีการปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดิฉันไม่แน่ใจว่า SMS นี้ ท่านส่งมาเตือนตัวเองหรือไม่ ให้รวบรวมสติแล้วรีบส่งข้อความอย่างเร็วไปให้ประชาชนรับรู้” น.ส.นันทนา กล่าว

ขณะที่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. อภิปรายวว่า จากการตรวจสอบของงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณปีที่ผ่านมา ส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย (ปภ.) พบการตั้งงบประมาณเพื่อระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตั้งงบผูกพันตั้งแต่ปี 67-69 กว่า 269 ล้านบาท และยังมีงบประมาณเพื่อสำหรับกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ในกรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ซึ่งระบุว่าจะมีเครือข่ายสมรรถนะสูง ตรวจเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และสึนามิ ตั้งงบไว้ 271 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 67-69

นายเทวฤทธิ์ กล่าวอีกว่าแม้จะมีการชี้แจงถึงระบบเซลบรอดเคส ปลายไตรมาส สองของปีนี้ ตั้งงบไว้ปี 2567 แต่ระบบแจ้งเตือนทางโทรศัพท์และการเฝ้าระวัง ทำไมถึงปล่อยให้ระบบเตือนภัยบกพร่องซึ่งระบบดังกล่าวควรเร่งรัด หากรอไปถึงปลายไตรมาสสองคงไม่ทัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากที่สว.จะอภิปรายถึงระบบเตือนภัยของรัฐบาลที่ล้มเหลวและไม่ทันต่อการแจ้งเตือนช่วงเกิดภัยพิบัติแล้ว ยังอภิปรายถึงการก่อสร้างอาคารที่มีผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นอาคารของส่วนราชการ เช่น อาคารสตง. อาคารศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ อาคารสำนักงานศาล

จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบรายละเอียด เพราะกังวลว่าอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแบบก่อสร้าง การแก้ไขเหล็กที่ใช้ก่อสร้างจนทำให้อาคารไม่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้

เช่น นางประทุม วงศ์สวัสดิ์ สว. อภิปราย เชื่อว่ามีการคอร์รัปชันก่อสร้างตึกสตง.แห่งใหม่ แต่ไม่มีใครกล้าหาญจะพูด เพราะระบบอุปถัมภ์ค้ำคอ ตนขอเตือนไปยังหน่วยงานราชการว่าไม่ควรเพิกเฉย ละเลยสิ่งผิด ทั้งนี้อาคารที่มีปัญหานั้นส่วนใหญ่เป็นตึกของราชการ นอกจากนั้นแล้วในส่วนของอาคารรัฐสภามีหลายอย่างที่ไม่ชอบมาพากล แต่นิ่งเฉย

“วันนั้นดิฉันอยู่ในเหตุการณ์ที่รัฐสภา ไม่พบเสียงเตือน และต้องหนีลงบันไดหนีไฟ ซึ่งป้ายเตือนภัยสำคัญ ควรมีกล่องไฟแจ้งทางหนีไฟ ดิฉันลงบันไดหนีไฟ เพิ่งทราบจุดของบันไดหนีไฟ และเพิ่งทราบว่าบันใดหนีไฟสร้างด้วยไม้สักอย่างดี ขณะที่เพดานของห้องประชุมเป็นแผ่นไม้ หากเกิดอะไรขึ้นและตกลงมา ไม่มีใครทันใส่หมวกนิรภัยแน่นอน” นางประทุม กล่าว

หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้น ที่ประชุมให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ดำเนินการส่งเรื่องไปยังครม.รับทราบ และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)บริหารราชการแผ่นดินวุฒิสภาไปศึกษาเพิ่มเติม และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จให้เสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

IRPC ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บัญชีและการเงิน พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)

'สตง.' อย่าทำโง่! คนกล่าวหาเพราะขาดความรับผิดชอบในกระบวนการทุกขั้นตอนสร้างอาคาร

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า

รองผู้ว่าสตง. รับไม่รู้บริษัทจีนก่อสร้างตึกถล่ม เข้าใจแต่แรกเป็นอิตาเลียนไทย

รองผู้ว่าฯ สตง. บอกเข้าใจแต่แรก บ.อิตาเลียนไทย สร้างตึกแต่เพียงผู้เดียว ร่ายทุกขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ยอมรับ ‘ปรับแบบปล่องลิฟต์’ เพื่อขยายทางเดินให้ถูกกฎหมาย ลั่น กลางซากตึก “มันทำเxยอะไรวะ” ถามกลับ จะสร้างบ้านทับคนของตัวเองได้อย่างไร ไม่อำมหิตไปหรือ