
สตง. เร่งตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบ จากกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมยืนยันกระบวนการดำเนินโครงการฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
30 มี.ค.2568- ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหาย ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยภายหลังจากที่ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ดังนี้
การออกแบบอาคาร สตง. ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561
กระบวนการก่อสร้างอาคาร สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่าย ไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
การบริหารสัญญาก่อสร้าง สตง. ให้ความสำคัญกับการดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศฯ ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะกรณีการพิจารณาการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างอาคารในเขตกรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยนำเงื่อนไขค่าหน่วยแรงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกใช้ค่าหน่วยแรงที่มากกว่า ในการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ ภายใต้การให้มีการรับรองและยืนยันอย่างครบถ้วน ทั้งจากผู้ออกแบบก่อสร้าง ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงผลตอบข้อหารือจากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารซึ่งทั้งหมดเป็นผู้มีวิชาชีพโดยตรงในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมีการประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญา
สำหรับกรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในการออกแบบรูปรายการละเอียด ผู้ออกแบบจัดทำตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้นมีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 x 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่ง สตง. ได้ติดตามตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างอยู่เสมอ
การควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท ซึ่งผู้ควบคุมงานต้องควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของพัสดุในการก่อสร้างทุกรายการตามแบบรูปรายการ
ในการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว สตง. ได้ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท (คิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่า ราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท) นอกจากนี้ สตง. ยังได้แสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต อีกทั้งยังได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
สตง. มีความห่วงใยและมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ประสบภัยและภาคส่วนต่าง ๆ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าจากเหตุแผ่นดินไหว (อาคารถล่มในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เมียนมา' แผ่นดินไหวขนาด 2.4
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสั้นๆ พร้อมแผนที่
นายกฯ เผย ครม.สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขหลักเกณฑ์เยียวยาแผ่นดินไหว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องการเยียวยาเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะมีการตามเรื่องหลักเกณฑ์ กรมบัญชีกลางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
'กมธ.งบฯ สว.' จัดทำข้อเสนอปรับเพิ่มเงินเยียวยาแผ่นดินไหว ชี้จ่ายไม่ตรงความเสียหาย
นายอลงกต วรกี สว. ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวภายหลังการประชุมกรณีการจ่ายเงินเยียวยาบ้านพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมที่ได้รับความเสียหาย
สว. ถกเกณฑ์เยียวยาแผ่นดินไหว พบ กทม.จ่ายเงินซ่อมบ้านพักอาศัย 70-300 บาท
กมธ.ติดตามงบฯ สว. ถกเกณฑ์เยียวยา-ชดเชย แผ่นดินไหว แนะ ปชช.ไม่พอใจ ยื่นอุทธรณ์ได้ หลังพบจ่ายเยียวยา 70-300 บาท แปลกใจ “ปธ.กมธ.”แจงแทนหน่วยงานที่เชิญมา เหตุรู้ระเบียบ แถมการันตีให้ กทม. ไม่ทำอะไรพลการ-ยึดตามระเบียบทั้งหมด
แผ่นดินไหวเขย่า 'แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่' รวม 4 ครั้ง
องเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 02:07 น. เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 2.7 ในพื้นที่ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาเวลา 07.39 เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 1.7