แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมา สะเทือน 11 จังหวัดในไทย รวมถึงกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความเสียหายอาคารถล่มในกรุงเทพฯ เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหายอีก 101 ราย ปภ.เผยเร่งช่วยเหลือและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
29 มีนาคม 2568 - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ซึ่งมีศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม ส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะ 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ชัยนาท ลำพูน เลย และกำแพงเพชร ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายในจังหวัดอื่น ๆ
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่าสำหรับกรุงเทพมหานครมีรายงานอาคารร้าว ถนนทรุดตัว และ อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และสูญหายอีก 101 ราย โดยอาคารที่ถล่มคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้ซากอาคาร พร้อมทั้งสำรวจความเสียหายของอาคารและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายภาสกร กล่าวว่า ปภ. ได้ระดม ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (Urban Search and Rescue - USAR) สนับสนุนปฏิบัติการของ กทม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างภายในอาคารที่ถล่ม โดยกำหนดให้ สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปทุมธานี เป็นศูนย์ระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลสาธารณภัย สำหรับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งนี้
“ทันทีที่ทราบว่ามีเหตุอาคารถล่มในเขตกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ทีม USAR ปภ. ไปสมทบกับทีม USAR กทม. เพื่อเร่งค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร โดยใช้เครื่องมือตรวจจับชีพจร สุนัขดมกลิ่น และอุปกรณ์กู้ภัยเฉพาะทาง ขณะเดียวกัน ได้จัดเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ” นายภาสกรกล่าว
นายภาสกรกล่าวว่า ปภ. ได้สั่งการให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เร่งสำรวจความเสียหายและประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินโดยด่วน เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ จัดทำบัญชีความเสียหาย และดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ทันทีตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นายภาสกรกล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการประชุมติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นให้การปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเป็นไปอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ
“ขอให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขตต้องเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันที รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติการในพื้นที่ข้างเคียงและกรุงเทพมหานคร” นายภาสกรกล่าว
ทั้งนี้ นายภาสกรกล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบควรติดตามประกาศจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด และแจ้งข้อมูลความเสียหายผ่านศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกด้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ต.ถ้ำลอด แม่ฮ่องสอน' เกิดแผ่นดินไหวขนาด 1.8
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสั้นๆ พร้อมรูป
'เมียนมา' แผ่นดินไหวขนาด 2.4
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสั้นๆ พร้อมแผนที่
นายกฯ เผย ครม.สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขหลักเกณฑ์เยียวยาแผ่นดินไหว
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องการเยียวยาเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะมีการตามเรื่องหลักเกณฑ์ กรมบัญชีกลางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
'กมธ.งบฯ สว.' จัดทำข้อเสนอปรับเพิ่มเงินเยียวยาแผ่นดินไหว ชี้จ่ายไม่ตรงความเสียหาย
นายอลงกต วรกี สว. ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวภายหลังการประชุมกรณีการจ่ายเงินเยียวยาบ้านพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียมที่ได้รับความเสียหาย
สว. ถกเกณฑ์เยียวยาแผ่นดินไหว พบ กทม.จ่ายเงินซ่อมบ้านพักอาศัย 70-300 บาท
กมธ.ติดตามงบฯ สว. ถกเกณฑ์เยียวยา-ชดเชย แผ่นดินไหว แนะ ปชช.ไม่พอใจ ยื่นอุทธรณ์ได้ หลังพบจ่ายเยียวยา 70-300 บาท แปลกใจ “ปธ.กมธ.”แจงแทนหน่วยงานที่เชิญมา เหตุรู้ระเบียบ แถมการันตีให้ กทม. ไม่ทำอะไรพลการ-ยึดตามระเบียบทั้งหมด