ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ โดยมีระยะเวลาอภิปรายถึง 37 ชั่วโมง และผลการโหวตในเช้าวันที่ 26 มีนาคมไม่ได้พลิกโผแต่อย่างใด
“แพทองธาร” ผ่านศึกนี้ไปได้ด้วยคะแนนไว้วางใจ 319 เสียง และคะแนนไม่ไว้วางใจ 162 เสียง โดยมีการงดออกเสียง 7 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 488 เสียง
ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ “พรรคประชาชน” ตั้งเป้าจะใช้เวทีนี้เพื่อกดดันให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลผ่านประเด็น “ดีลแลกประเทศ”
แต่เมื่อถึงเวลาจริง การอภิปรายกลับไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าในยุค “แพทองธาร” เป็นนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลที่ทำให้ “ทักษิณ” กลับไทยโดยไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวอย่างไร เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
การตั้ง ‘เพดานสูง’ โดยไม่สามารถยืนยันหลักฐานที่สอดคล้องกัน กลับกลายเป็นการซักฟอก “รัฐบาลบิ๊กตู่” มากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร”
และสุดท้ายเรื่องที่ถูกอภิปรายมากที่สุดกลายเป็น “ดีลสลับขั้วตั้งรัฐบาล” หลังเลือกตั้งปี 2566
เมื่อ “ดีลแลกประเทศ” ไม่สามารถชี้ชัดเป็นรูปธรรม ฝ่าย “แพทองธาร” และพรรคเพื่อไทยจึงใช้จังหวะนี้ตอกกลับว่าเป็นเพียง “วาทกรรม” และ “จินตนาการ” ของพรรคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ศึกซักฟอกครั้งนี้ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะฝ่ายค้านสามารถเจาะประเด็นสำคัญได้ตรงจุด
เช่น 1. กรณี “ตั๋ว PN” 2. ทรัพย์สินครอบครัวแพทองธาร เช่น “โรงแรมเทมส์ วัลลีย์” ที่เขาใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การ “โรยเกลือ“ ต่อเนื่องจากนี้ แต่ปัญหาคือ พรรคประชาชนจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนถึง “พรรคประชาชน” ล้วนเคยเปิดศึกกับองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้วาทกรรม “นิติสงคราม” เพื่อปฏิเสธความชอบธรรมขององค์กรเหล่านี้
แต่ในวันนี้ พรรคประชาชนจะยังสามารถใช้องค์กรที่เคยตราหน้าว่าเป็นเครื่องมือของ “นิติสงคราม” มาจัดการ “แพทองธาร” ได้หรือไม่?
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือการที่ “แพทองธาร” ใช้เวทีซักฟอกส่งสารทางการเมืองไปยังพรรคประชาชน โดยกล่าวในช่วงท้ายของการชี้แจงว่า
“ดิฉันเชื่อว่าในทุก ๆ ที่ ไม่มีใครอยากเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรอกค่ะ ในวันนี้ เพื่อความชัดเจนและสร้างการเมืองแบบใหม่ ท่านก็ควรประกาศให้ชัดไปเลยว่า จะร่วมหรือไม่ร่วมกับใคร พูดให้ชัดตั้งแต่วันนี้ ประชาชนก็จะได้เกิดความสบายใจ”
คำพูดนี้เป็นมากกว่าคำถามทั่วไป แต่เป็นหมากที่กดดันให้ พรรคประชาชน ต้องแสดงจุดยืนว่า จะร่วมกับใครในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในปี 2570
เมื่อถึงเวลาสรุปอภิปราย “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคประชาชน กลับไม่ให้คำตอบที่ชัดเจน
ทว่าหลังศึกซักฟอกจบลง ภาพที่สะดุดตากว่าการอภิปราย คือภาพ “ณัฐพงษ์” และ “ศิริกัญญา ตันสกุล” แกนนำพรรคประชาชน ขึ้นไปบนบัลลังก์ถ่ายรูปร่วมกับ “แพทองธาร”
ภาพนี้ในทางการเมือง มีนัยที่ลึกซึ้งกว่าการแสดงมารยาท หากมองให้ลึกขึ้นมันสะท้อนว่า พรรคประชาชนยังคงต้องการรักษา “ช่องว่างทางการเมือง” และไม่ต้องการปิดโอกาสในอนาคต
นี่คือ “สัญญาณทอดไมตรี” ที่สวนทางกับการโจมตีทางวาทกรรมระหว่างศึกซักฟอก
ขณะเดียวกัน นอกสภา “ปิยบุตร แสงกนกกุล” หนึ่งในผู้นำทางความคิดของพรรคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า
“..พรรคเพื่อไทยปวารณาตนเป็นตัวแทนของ พลังเก่า พร้อมสกัดการเปลี่ยนแปลง อย่างรุดหน้า หากประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถเลือกพรรคเพื่อไทยได้อีกต่อไป
คงเหลือแค่ พรรคประชาชนจะทำให้ประชาชนเชื่อและฝากความหวังได้หรือไม่ว่า ต้องเลือกพรรคประชาชนให้ถล่มทลาย…”
สารจาก “ปิยบุตร” ตีกรอบให้ชัดว่า พรรคประชาชนกำลังวางตัวเป็น “ขั้วตรงข้าม” กับพรรคเพื่อไทย แต่คำถามสำคัญคือ…จริงหรือ?
หากถึงวันเลือกตั้ง และพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง พรรคประชาชนจะต้องหาพรรคพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล คำถามสำคัญคือ พรรคประชาชนจะเลือกจับมือกับพรรคใด เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
เช่นกัน หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้เสียงเกินครึ่ง และพรรคประชาชนได้อันดับสอง พรรคประชาชน จะกล้าประกาศหรือไม่ว่า “จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย” และขอเป็นฝ่ายค้าน?
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีแกนนำพรรคประชาชนคนใดให้คำตอบที่ชัดเจน
อีกวาทะเด็ดของ “แพทองธาร” ที่ตอบโต้ณัฐพงษ์ว่า “ดิฉันถูกกล่าวหาว่าถูกครอบงำโดยคุณพ่อ แต่ของท่านถูกครอบงำโดยคนที่ไม่ใช่พ่อ”
คำพูดนี้ไม่ใช่เพียงการโต้กลับธรรมดา แต่เป็นการยอมรับโดยปริยายว่า “ถูกครอบงำโดยทักษิณ” และดึงอีกฝ่ายให้ตกอยู่ในเกมเดียวกัน
หากพรรคประชาชนกล่าวหาว่า “แพทองธาร” ถูกครอบงำโดยพ่อ คำถามคือ พรรคประชาชนเองมีอิสระแค่ไหน?
เพราะสิ่งที่ “แพทองธาร“ พูดนั้น กำลังชี้ว่า “ณัฐพงษ์-พรรคประชาชน” เองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
วาทะนี้ไม่ใช่แค่ของแพทองธาร แต่มันคือเสียงของ “ทักษิณ” ที่ท้าทายพรรคประชาชนว่า “กล้าหรือไม่” ที่จะประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัด
โจทย์หินจึงตกอยู่ที่ “พรรคประชาชน” ว่าสุดท้ายแล้ว พรรคประชาชนจะยืนหยัดในหลักการทางอุดมการณ์ที่เคยพูดไว้ หรือจะเปิดทางสำหรับ “ดีลการเมือง” ในอนาคต
และหากถึงเวลานั้น พรรคประชาชนจะสามารถตอบประชาชนได้หรือไม่ว่า เหตุใดจึงต้องจับมือกับพรรคที่พวกเขาเคยกล่าวหาว่า “ดีลแลกประเทศ”
นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบ และไม่มีพื้นที่สำหรับ “ความคลุมเครือ” อีกต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พ่อนายกฯ' ไม่ให้ราคา 'ภูมิใจไทย' ท้าทายกระแสสังคม
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวเรื่อง "ทักษิณ หยาม ภูมิใจไทยคือภูมิใจไทย" โดยระบุว่า
ชิง2เก้าอี้ตุลาการศาลรธน. สว.สีน้ำเงินตัวปิดเกม
หลังที่ประชุมวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาตรี อรรจนานันท์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
พ่อลูกชินวัตร แขวนตุงสืบชะตา สะเดาะเคราะห์
“นายกฯอิ๊งค์” ควง “ทักษิณ” สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ แขวนตุงสืบชะตา ก่อนเปิดสงกรานต์นานาชาติ เล่นน้ำกับชาวเชียงใหม่ บอกใครคิดเลขกี่ตัวก็ขอให้ถูก รวยๆทุกคน พร้อมร่วมฉีดน้ำวัยรุ่นลานห้างเมญ่า
'พิธา' ฝากผู้นำรัฐบาลมีสมาธิ อย่าให้เกมการเมืองเหนือประโยชน์ปชช.
'พิธา' มอง เสถียรภาพหลังสงกรานต์ 'พรรคร่วมรัฐบาล' ขัดแย้งกันกว่า 10 ปี แค่รอเวลาปะทุ ขออย่าให้เกมการเมือง มากกว่าสัดส่วนผลลัพท์ ที่ ปชช.ควรจะได้ ด้าน 'เท้ง' ย้ำคำเดิม 'นายกฯ' ควรคุมเสียงให้ได้
'ผู้นำฝ่ายค้าน' หวดหนัก 'สตง.- รัฐบาล' ไร้ความโปร่งใส ปชช.ยิ่งไม่วางใจ
ผู้นำฝ่ายค้าน บอก ขอรอ 'สตง.' แถลงแจงเหตุ ตึกถล่มก่อน ย้ำ ความโปร่งใสสำคัญที่สุด มอง การทำหน้าที่ ต้องไม่มองว่าเป็นคนคุมกฎระเบียบอย่างเดียว แต่ต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้จ่าย-ทำรายงานการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐาน
'เท้ง' จี้นายกฯต้องนำทัพทีมเจรจาไม่ใช่พ่อ
'เท้ง' ส่งกำลังใจ 'ทีมเจรจาไทยแลนด์' มองควรให้ 'นายกฯ' เป็นผู้นำมากกว่า 'พิธา' ปัดตอบ บอก 'ผมมาเที่ยวไม่เกี่ยวครับ'