สังคมกำลังจับตามองการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ ‘บอร์ดคดีพิเศษ’ ซึ่งมีวาระสำคัญในวันนี้ (25 ก.พ.) เพื่อพิจารณาว่าจะรับกรณีการ ‘ฮั้วเลือก สว.’ ไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่
หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ได้สอบสวนเบื้องต้นและพบข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงการใช้โปรแกรมคำนวณผลโหวตและการระดมกลุ่ม “โหวตเตอร์” เพื่อปูทางสู่ชัยชนะในทุกระดับของการเลือกตั้ง ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(3) และ 209 ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐและการกระทำในลักษณะอั้งยี่และซ่องโจร
คำถามสำคัญคือ เหตุใดคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับต้องให้องค์กรที่อยู่ภายใต้ฝ่ายการเมืองอย่างดีเอสไอเข้ามาดำเนินการแทน?
ประเด็นนี้สะท้อนถึงปัญหาการทำงานของ กกต. ที่ล่าช้าและไร้ความจริงจังในการตรวจสอบคำร้องจำนวนมากซึ่งกล่าวหาว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ขาดความสุจริตโปร่งใส เวลาล่วงเลยเกิน 100 วัน แต่กลับไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้ผู้ร้องเรียนต้องหันไปพึ่งดีเอสไอแทน
ในเมื่อ กกต. แสดงท่าที “เกียร์ว่าง” เช่นนี้ จึงแทบไม่ต้องสงสัยว่า “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานบอร์ดคดีพิเศษ และ “ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นรองประธานบอร์ดและผู้กำกับดูแลดีเอสไอ ย่อมสามารถผลักดันให้บอร์ดคดีพิเศษรับเรื่องนี้ไว้สอบสวนได้โดยไม่ยาก
แม้การตัดสินใจจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จากกรรมการบอร์ดจำนวน 22 คน แต่เมื่อผู้บริหารระดับสูงทั้งสองคนส่งสัญญาณชัดเจน ก็แทบไม่เหลือข้อกังขาว่าการรับคดีนี้จะเดินหน้าอย่างแน่นอน
ที่น่าสนใจคือ ผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดคดีพิเศษจำนวน 9 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 โดยคณะรัฐมนตรีของ “แพทองธาร ชินวัตร” ยิ่งทำให้โอกาสในการรับคดีนี้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนกรรมการที่เหลือเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งแทบไม่มีอำนาจมากพอที่จะต้านกระแสนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่บอร์ดคดีพิเศษจะไม่เร่งลงมติในวันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจตามมา
โดยอาจรอความชัดเจนจาก กกต. ก่อนว่าจะสอบสวนความผิดทางอาญาใดด้วยตัวเอง และความผิดใดที่ต้องการให้ดีเอสไอดำเนินการ ซึ่งดีเอสไอได้ส่งหนังสือสอบถามไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ กกต. และเลขาธิการ กกต. ยังคงสงวนท่าที ไม่ตอบกลับใดๆ
หากในที่สุด “บอร์ดคดีพิเศษ” ตัดสินใจรับเรื่องไว้ “เป็นคดีพิเศษ” ก็จะดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจที่ครอบคลุมเฉพาะความผิดทางอาญา และหากพบว่ามีความผิดจริง ขั้นตอนต่อไปคือการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกัน ผลสอบสวนของคดีนี้ก็อาจถูกใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้การเลือก สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะ ซึ่งความเคลื่อนไหวของนักร้องเรียนทางการเมืองเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว
คำถามคือ หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ ผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าเครือข่ายสีน้ำเงินที่มีความสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทยอาจต้องหลุดจากสภาสูง แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ หากมีการเลือกตั้งใหม่ จะได้ สว. ที่เป็นกลางและไม่อิงฝ่ายการเมืองจริงหรือไม่?
อย่าลืมว่าระบบการได้มาซึ่ง สว. ในปัจจุบันมีความบิดเบี้ยว แปลกประหลาดตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เปิดช่องให้ผู้สมัครสามารถเลือกตนเองและพวกพ้องในกลุ่มเดียวกันได้ ซึ่งไม่เพียงแค่เครือข่ายสีน้ำเงินเท่านั้นที่ใช้ช่องโหว่นี้ แต่พรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มการเมืองอื่นๆ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน
เช่น คณะก้าวหน้าของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่สนับสนุนพรรคประชาชน (ชื่อเดิม พรรคก้าวไกล) ก็เคยจัดเสวนาและรณรงค์ให้ประชาชนสมัครเป็น สว. เพื่อโหวตเลือกกลุ่มของตน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่าเครือข่ายสีน้ำเงินที่มี “ครูใหญ่เนวิน” เป็นแบ็กอัพ แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็คือการ “ฮั้วเลือก สว.” ดีๆนั่นเอง
ดังนั้น แม้การเลือก สว. ใหม่จะเกิดขึ้น แต่หากยังใช้กติกาเดิม ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการฮั้วในรูปแบบเดิม เพียงแต่จะทำได้แนบเนียนขึ้นจนไม่สามารถจับได้เหมือนครั้งนี้
ปัญหานี้จึงไม่ใช่เพียงการฮุบสภาสูงของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สะท้อนถึงความพยายามของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ต้องการช่วงชิงอำนาจในวุฒิสภา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์และอำนาจทางการเมือง
ความสำคัญของ สว. ยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 5 ปี และจะหมดวาระในปี 2572 โดยระหว่างนี้ สว. ชุดนี้ยังมีอำนาจกลั่นกรองกฎหมายสำคัญ รวมถึงการคัดเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ชุดใหม่ 3 คน กกต. ชุดใหม่ 5 คนในปีนี้ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนมีอำนาจกำหนดทิศทางของประเทศในระยะยาว
ยังไม่นับรวม คณะกรรมการ กสทช. จำนวน 7 คน ที่จะหมดวาระทั้งชุดในปี 2571 ซึ่งเป็นที่หมายตาของ "กลุ่มทุนโทรคมนาคมรายใหญ่" ที่สัมพันธ์แนบแน่นกับฝ่ายการเมือง โดยการเลือก กสทช. ชุดใหม่ก็อยู่ในอำนาจของ สว. เช่นกัน
เมื่อพิจารณาจากอำนาจอันกว้างขวางของ สว. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายการเมืองจะพยายามยึดครองสภาสูงเพื่อใช้อำนาจนี้เป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์และต่อรองกับฝ่ายต่างๆ
หากแผนล้มกระดานเลือก สว. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ คำถามที่ต้องตอบคือ จะได้ สว. ที่เป็นกลางและบริสุทธิ์จริงหรือไม่?
หรือสุดท้ายจะกลายเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวครอบงำทั้งสภาล่างและสภาสูง ย้อนกลับสู่ยุคที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ผูกขาดอำนาจ ไร้ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา จนเกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมการเมืองไทยมาแล้ว
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า สว. ของไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้จะมีหน้าที่หลักในการกลั่นกรองกฎหมายและคัดเลือกบุคคลที่เป็นกลางเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระ
แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเวทีแสวงหาผลประโยชน์และต่อรองอำนาจของฝ่ายการเมือง ส่งผลให้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยหยุดชะงัก และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยุติสอบฮั้วเลือก สว. ชี้ไม่เข้าเงื่อนไขส่งศาลรธน.
พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีมีการร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการฮั้วเลือสว.
วางมือตรงหน้า ซ่อนไพ่ไว้ข้างหลัง: รัฐบาลที่ไม่กล้าชนภูมิใจไทย
กล้องทุกตัวจับภาพ ภูมิธรรม เวชยชัย ควงแขน อนุทิน ชาญวีรกูล เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมรอยยิ้มและคำหยอกว่า “เดี๋ยวหอมแก้ม” ท่ามกลางเสียงแซวว่าจะจับมือกันถึงปี 70
'เท้ง' ปิดประตูผสมพันธุ์เพื่อไทยสมัยนี้!
'เท้ง' บอกไม่น่าเป็นไปได้อยู่แล้ว 'ปชน.' เข้าร่วม 'รัฐบาล' ในสมัยนี้ ชี้มีความเป็นไปได้ 'พท.' ผลัก 'ภท.' ออกพรรคร่วม เหตุ 'ฝ่ายค้าน' ยังมีคดี 44 สส.อยู่อาจทำตัวเลขสมการการเมืองเปลี่ยนได้
'สันติสุข' ฉบับทักษิณ-อันวาร์ กับกระสุนปืนที่ปลิดชีพสามเณรสะบ้าย้อย
เช้าวันที่ 22 เมษายน ขณะพระภิกษุและสามเณรจากวัดกูหลาออกบิณฑบาตตามวิถีของสงฆ์ พร้อมมีรถกระบะของตำรวจคุ้มกันนำขบวนอยู่ด้านหน้า
'ภูมิธรรม' ฟุ้งจับมือ 'เสี่ยหนู' บ่อยเพราะมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน!
'ภูมิธรรม' ย้ำ บมือคุย 'เสี่ยหนู' บ่อย เหตุมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เผย รมต.ยังไม่มีใครได้รับสัญญาณจะถูกปรับพ้นครม. บอก นายกฯคุยหลายฝ่ายปมปัญหาราคาสินค้า
‘เพื่อไทยดิ่งเหว ทักษิณมืดมน’ อดีตบิ๊กศรภ. ชี้ไม่เกิน 4 เดือน!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ชี้พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธา จากนโยบายกาสิโน-แจกเงินไม่ดูฐานะการคลัง เตือนบทบาททักษิณครอบงำรัฐบาลจนทุกอย่างมุ่งสู่จุดจบทางการเมืองและกฎหมาย