
ข้อกล่าวหาการทุจริตการเลือกตั้ง สว. ผ่านโปรแกรมคำนวณผลโหวตและการใช้กลุ่ม “โหวตเตอร์” เพื่อคว้าชัยชนะในทุกระดับ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการเมือง โดยคดีนี้ถูกระบุว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(3) และ 209 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐและการกระทำลักษณะ อั้งยี่และซ่องโจร
ข้อกล่าวหาร้ายแรงนี้กำลังจะถูกอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) หรือ “บอร์ดคดีพิเศษ” ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยบอร์ดต้องใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 หรืออย่างน้อย 15 จาก 22 เสียง เพื่อรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ
รายชื่อบอร์ดคดีพิเศษประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ ได้แก่ นายภูมิธรรม เวชยชัย (ประธาน), พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม (รองประธาน), อัยการสูงสุด, ผบ.ตร., ปลัดกระทรวงหลักๆ ตลอดจนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย การเงิน และการสอบสวน รวมถึง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ
คำถามสำคัญที่ต้องตั้งคือ บอร์ดจะตัดสินใจอย่างไร? แม้ดีเอสไอจะมีอำนาจสอบสวนคดีอาญา แต่ในคดีเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีบทบาทหลักและอำนาจในการสืบสวนและชี้มูลความผิดเพื่อนำเสนอศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ในประเด็นนี้ ดีเอสไอได้ส่งหนังสือลับลงวันที่ 3 ก.พ. 2568 ถึง กกต. เพื่อสอบถามว่า กกต.ประสงค์จะสอบสวนความผิดทางอาญาใดด้วยตัวเอง และความผิดใดที่ต้องการให้ดีเอสไอดำเนินการ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนและล้ำเส้นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ควรตั้งคำถามคือ ทำไม กกต.ถึงไม่เร่งรัดดำเนินการสอบสวนให้สิ้นข้อสงสัย จนทำให้กลุ่ม ‘สว. สำรอง’ ต้องไปพึ่งดีเอสไอแทน? หาก กกต.ไม่เร่งดำเนินการ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและการทำงานขององค์กรอิสระอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ การประชุมวันที่ 25 ก.พ. จึงเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิด หาก กกต.เปิดทางให้ดีเอสไอดำเนินการในคดีอาญา กระบวนการสอบสวนจะเดินหน้าทันที แต่หากยังไม่มีความยินยอม และ "บอร์ดคดีพิเศษ" กลับมีมติรับคดีเป็นคดีพิเศษ ก็อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต. ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในภายหลัง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาร้ายแรงที่เกี่ยวข้อง
ความกังวลนี้สะท้อนผ่านท่าทีของกลุ่ม สว. นำโดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 พร้อมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีนี้
นายมงคล ระบุว่า “เรื่องนี้น่าจะมีอะไรที่ไม่น่าถูกต้อง เพราะอำนาจในการสอบสวนและตรวจสอบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับเรื่องไว้แล้ว อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ”
ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำลักษณะ “อั้งยี่และซ่องโจร” ซึ่งอาจครอบคลุมเฉพาะการเลือก สว. ในบางจังหวัดหรือบางสาขาอาชีพ หรืออาจเหมารวมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้สมัครจนถึงการลงคะแนนทั่วประเทศ หากเป็นกรณีหลัง จะกระทบต่อความชอบธรรมของ "วุฒิสภา" โดยตรง
ไม่เพียงแค่มิติทางกฎหมาย แต่ผลกระทบทางการเมืองก็ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพรรคภูมิใจไทยและกุมเสียงจำนวนมากในวุฒิสภา
การตรวจสอบครั้งนี้ในทางการเมือง อาจมองได้ว่าเป็นความพยายาม “แยกสลาย” เครือข่ายที่หนุนหลังพรรคภูมิใจไทย ซึ่งส่งผลต่ออำนาจต่อรองในรัฐบาลปัจจุบัน ที่แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำรัฐบาล แต่ในความเป็นจริง กลับมีอิทธิพลน้อยกว่าภูมิใจไทย
ต่างจากบริบททางการเมืองในอดีต ที่พรรคแกนนำรัฐบาลมักจะมีอิทธิพลอย่างมาก คุมเบ็ดเสร็จทั้งสภาล่างและสภาสูง จนถูกเรียกขานในช่วงนั้นว่าสภาผัวเมีย
มีกระแสข่าวในแวดวงการเมืองว่ามีการเดินเกมใต้ดินของ “รมต.ทุนหนา” กับ “สส.สุภาพสตรีชื่อดัง” และ ผอ.คนดัง จากพรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อแยกสลายกลุ่ม “สว.สีน้ำเงิน” ผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งข้อเสนอที่ล่อตาล่อใจ เพื่อลดทอนอิทธิพลของพรรคภูมิใจไทยในสภาสูง
บางฝ่ายสันนิษฐานว่าการเคลื่อนไหวนี้สอดประสานกับการร้องเรียนของกลุ่ม “สว.สำรอง” ที่เป็นต้นทางของการส่งเรื่องให้ดีเอสไอจนเกิดข้อกล่าวหาร้ายแรงดังกล่าว แม้เรื่องนี้จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง แต่ในทางการเมือง การสั่นคลอนสลายขั้วกลุ่ม “สว.สีน้ำเงิน” เท่ากับการลดทอนฐานอำนาจของพรรคภูมิใจไทยโดยตรง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีรายงานว่าบุคคลในรัฐบาลได้มีการพบปะกับกลุ่ม สว. หลายครั้งในลักษณะ “พูดคุยแบบไม่เป็นทางการ” ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามในการสร้าง “แนวร่วมใหม่” ในวุฒิสภา เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต
หากแผนการนี้ประสบความสำเร็จ จะทำให้พรรคภูมิใจไทยสูญเสียเครื่องมือสำคัญในการต่อรองกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยสามารถควบคุมวุฒิสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งการออกกฎหมาย การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญโดยเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
การประชุมบอร์ดคดีพิเศษในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป แต่เป็น “เกมชี้ชะตา” ที่จะกำหนดอนาคตของทั้งวุฒิสภาและพรรคภูมิใจไทย
หากดีเอสไอสามารถรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษได้สำเร็จ กระบวนการสอบสวนจะเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งข้อหาทางอาญาต่อ สว. หลายราย และสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเครือข่ายสีน้ำเงินในระดับประเทศ
ในขณะเดียวกัน หากการประชุมครั้งนี้ไม่รับไว้เป็นคดีพิเศษ หรือ กกต. ตัดสินใจดำเนินการสอบสวนเอง ก็อาจกลายเป็น “จุดตั้งหลักใหม่” ของกลุ่ม สว.น้ำเงิน และพรรคภูมิใจไทย ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่จะกลับมาสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอีกครั้งในอนาคต
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยยังคงเต็มไปด้วยเกมอำนาจที่ซับซ้อนและยากจะคาดเดา ซึ่งทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะอยู่ในสภาหรือนอกสภา ล้วนเชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการควบคุมสมดุลอำนาจที่สามารถชี้ชะตาอนาคตของประเทศได้ในทุกมิติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุลพงศ์-พรรคประชาชน เอ็กซ์เรย์ แผลอักเสบ นายกฯ ผิดจริยธรรม-นิติกรรมอำพราง
ถึงแม้ว่า"แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านไปได้ด้วยคะแนนเสียงโหวตไว้วางใจท่วมท้น 319 เสียง แต่ประเด็นข้อกล่าวของฝ่ายค้านที่ซักฟอกนายกฯกลางสภาฯ
ประธาน สว. นำวิศวกรตรวจโครงสร้างอาคารรัฐสภาฝั่งวุฒิสภา ไม่พบรอยร้าว
นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยนายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภา(สว.) รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นๆ
‘สันติ-สุริยะใส’ ขยี้นิติกรรมตั๋ว PN ปมอวสาน ‘อุ๊งอิ๊งค์’ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
‘สันติ-สุริยะใส’ ขยี้นิติกรรมตั๋ว PN ปมอวสาน ‘อุ๊งอิ๊งค์’ อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2568
LIVE ภัยพิบัติใหญ่ 68 "8.2" แมกนิจูด!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568
'สนธิญา' ยื่น กกต. สอบปม 'นายกฯอิ๊งค์-เท้ง' โต้กันนัวศึกซักฟอก คนนอกครอบงำพรรค
นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นหนังสือต่อกกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบจากกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 -25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวหาซึ่งกันและกัน ระหว่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน
โรยเกลือ 'ตั๋ว PN' ไปไกลแค่ไหน? จากชั้น 14 สู่แพทยสภา-เร่งกาสิโน!
ยุทธการ “โรยเกลือ” ที่ฝ่ายค้านเริ่มต้นจะไปได้ไกลแค่ไหน? พรรคประชาชนจะผลักดันเรื่องนี้ถึง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะถูกตัดตอนแค่ในชั้นกรมสรรพากร?