จักรภพ โผล่โชว์ภูมิ วิจารณ์แถลงการณ์ร่วม 10 ข้อสรุป ไทย-ซาอุฯ

จักรภพ

28 ม.ค. 2565 – นาย จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัคร และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ปัจจุบันอาศัยอยู่ต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

นาย จักรภพ ระบุว่าข่าวลือและข่าวมโนเกิดขึ้นมากในกรณีซาอุดีอาระเบีย ที่จู่ ๆ ก็เกิดการเยือนกรุงริยาร์ดของฝ่ายไทยขึ้นมา เราควรตั้งคำถามกับตัวเอง 2 ข้อเพื่อให้นำทางเราไปสู่คำตอบ ซึ่งถึงอาจจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่ก็ใกล้เข้าไปหน่อย คำถามนั้นคือ:

  1. เบื้องหน้า: สาระจริง ๆ ของการรับระบอบไทยครั้งนี้คืออะไร?
  2. เบื้องหลัง: เกิดขึ้นได้เพราะอะไร?

คำถามที่ 1

อ่านแถลงการณ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียให้ละเอียด ในนั้นได้บอกอะไรเราอย่างชัดเจนเกือบทั้งหมดแล้ว ผมจะขอว่าไปทีละข้อ และอาจจะรวบบางข้อเข้าด้วยกัน เพราะหลายข้อเป็นข้อความที่ว่างเปล่าแบบการทูตยุคโบราณเท่านั้น

ข้อ 1 ชัดเจนตั้งแต่ข้อแรกนี้เลยว่า งานนี้ไทยเป็นคนไปของอนง้อกับทางซาอุดีอาระเบีย เพราะรองนายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ออกจดหมายเชิญนายกรัฐมนตรีไทย ตามประเพณีการทูตแล้ว คนในตำแหน่งเดียวกันหรือเทียบเท่ากันเท่านั้นเขาจะเชิญกัน นายกฯ ต้องเชิญนายกฯ ด้วยกัน ไม่ใช่รองนายกฯ เชิญนายกฯ ซึ่งเท่ากับบอกกลาย ๆ ว่า คนตำแหน่งต่ำกว่าของบ้านฉัน ใหญ่เท่ากับคนตำแหน่งสูงกว่าที่บ้านเธอ ส่งสัญญาณตั้งแต่แรกว่าใครง้อใคร และใครตัวซี้ตัวสั่นรีบวิ่งไปหาเขาเมื่อได้ยินเสียงเคาะกะลา เรารู้ครับว่า เจ้าชายบินซัลมานฯ หรือ MBS คือผู้มีอำนาจจริงในซาอุดีอาระเบีย ถ้าจะคุยให้ได้เรื่องก็ต้องคุยกับคนนี้เท่านั้น เรื่องนี้ใครก็เข้าใจ แต่จะต้องไม่ลืมด้วยว่าประเทศไทยไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นคนรับใช้ หรือยอมตัวเป็นชาติไก่รองบ่อนของชาติใดอย่างเป็นทางการ การแสดงความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างคู่เจรจาคือเกียรติภูมิของชาติอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในขั้นต้น แต่พออ่านข้อ 1 เลยทำให้คิดว่า หรือคนไทยเราบางคนไม่รู้จักคำว่า เกียรติภูมิ หรือ เกียรติยศ

ข้อ 2 คราวนี้ ไทยเป็นฝ่ายเอ่ยปากแสดงความเสียใจเกี่ยวกับกรณีที่พวกเราเรียกกันว่า คดีเพชรซาอุฯ ขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะระบุปีเสียด้วยว่า ระหว่าง พ.ศ. 2532-2533 ทั้งที่เรื่องจริงมันยาวนานกว่านั้นมาก อาจมีเจตนาเพื่อตัดบางกรณีที่ลามต่อเนื่องออกไป เพื่อจะได้ไม่ต้องไปสืบสวนและสอบสวนเพิ่มแบบขยายประเด็น แบบนี้ต้องเรียกว่าตั้งข้อหาตัวเองแบบตำรวจบางคน คือช่วยตั้งข้อหาให้มันแคบเข้าไว้ แต่สาระสำคัญกว่านั้นอยู่ที่ตรงฝ่ายไทยชิงสรุปว่า เท่าที่ผ่านมา ได้ทำคดีนั้นอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ยินดีจะเปิดแฟ้มใหม่ให้กับซาอุดีฯ หากมี “หลักฐานเพิ่ม” คำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือ หลักฐานใหม่พวกนี้มาจากไหน? มาจากฝ่ายไทยเอง หรือรอให้ฝ่ายซาอุดีฯ เขาจะส่งเป้าชี้มาให้เลยเสร็จสรรพ? เรื่องนี้อ่านแล้วรู้สึกได้เลยว่า ไทยจะยังไม่ได้อะไรเป็นมรรคเป็นผลอย่างที่ใครบางคนฝันกลางวันเอาไว้หรอกครับ ยกเว้นว่าอาจจะได้เอกอัครราชทูตที่ริยาร์ดส่งมาประจำที่กรุงเทพฯ สักคน และก็รอเรื่องอื่นไปจนกว่าทางซาอุดีฯ จะบอกมาอีกทีว่าฉันพอใจกับเรื่องเพชรซาอุฯ รอบใหม่แล้ว นั่นก็เท่ากับว่า การวิ่งไปคราวนี้เป็นเพียงภารกิจรักษาหน้าเท่านั้น คุยได้นิด ๆ ว่าเราจะกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดีอาระเบียแล้วนะ ถ้าถามต่อว่าแล้วว่าได้อะไรเป็นรูปธรรมกลับมาบ้าง ก็คงม้วนหน้าหลบเร้นไปตามระเบียบ

ข้อ 3, ข้อ 7, ข้อ 8 คือความว่างเปล่าแห่งทุ่งดอกไม้ (ฮา)

ข้อ 5 เงื่อนเวลาที่ระบุไว้ว่าจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันคือ “อนาคตอันใกล้” และ “หลายเดือนข้างหน้า” ซึ่งฟังเผิน ๆ ก็ระบุได้ชัดเจนเพียงพอสำหรับงานระดับระหว่างประเทศ แต่เอาเข้าจริงก็เหมือนกับที่ผมเขียนไว้ใน ข้อ 2 นั่นคือ ถ้าจะได้อะไร ก็คงได้แค่เปลือกทางการทูต เช่น เปิดสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยกันใหม่ ส่งทูตใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วมานั่งตบยุงที่กรุงเทพฯ สักคน เป็นต้น ส่วนของที่เป็นเนื้อ ๆ ก็โปรดรอไปก่อนนะน้อง

ข้อ 6, ข้อ 9 แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวของเจ้าชายมกุฏราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งระบุไว้ในข้อนี้ว่าฝ่ายไทยไปรับหลักการมาเรียบร้อยแล้วและพร้อมจะเข้าร่วมโครงการด้วย เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ลึกซึ้ง ซึ่งผมขออนุญาตยังไม่เขียนละเอียดในตอนนี้ ขอฝากไว้ในฐานะคนไทยด้วยกันแต่เพียงว่า ทุนที่มาจากชาติต่าง ๆ นั้น บางครั้งก็มาพร้อมเงื่อนไขและกิจกรรมเสริมที่อาจไม่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยก็ได้ ในโครงการเดียวกัน บางแง่ก็ดี แต่บางมุมก็ต้องคิดกันให้นานหน่อยก่อนจะหลุดปากตกลงอะไรออกไป ไม่ควรกระดี๊กระด๊าเกินสมควรในเรื่องแบบนี้

ข้อ 10 เป็นไปตามธรรมเนียมทางการทูต

คำถามที่ 2

เขียนข้างบนมายาวมากแล้ว ก็จะตอบคำถามที่ 2 แบบรวบรัดหน่อยครับ

ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเยี่ยมเยือนในครั้งนี้ มาจากทางซาอุดีอาระเบียมากกว่าฝ่ายไทย ปัญหาของเจ้าชายมกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียมีมาก ตั้งแต่ปัญหานโยบายเข้าสู่สงครามในเยเมน การกวาดล้างญาติมิตรในประเทศเพื่อเหตุผลเชิงอำนาจ (ซึ่งทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำมากมาย) จนถึงคดีฆาตกรรมศัตรูทางการเมืองอย่าง จามัล คาช็อกจี้ ที่ตุรกีซึ่งถูกสหรัฐอเมริกากล่าวโทษอยู่ ซาอุดีอาระเบียในยุคนี้ต้องแสวงหาพันธมิตรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครที่พูดว่าไทยจะไปทำอะไรให้ซาอุดีอาระเบียได้ อาจจะลืมไปว่าทุกประเทศมี 1 เสียงในเวทีระหว่างชาติเท่ากัน ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ต่อเขาโดยตรง

อีกนัยหนึ่ง MBS เป็นคนรุ่นหลังเพชรซาอุฯ จึงไม่มีความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันอะไรในเรื่องนี้อีกแล้ว แถมญาติมิตรที่เคยคั่งแค้นในเรื่องนี้ ก็ถูกถอดจากอำนาจ ถูกจำคุก เกษียณ หรือตายไปแล้วจนเกือบหมดรุ่น ก็ทำให้ดูเสมือนว่าศักราชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เขาจึงอยากสานต่อในเรื่องนี้เพราะความจำเป็นของตัวเอง ส่วนฝ่ายไทยก็คงคอยงอนง้อขอคืนดีอยู่ที่เก่า คาดว่าจะไม่ได้ทำอะไรเพิ่มใหม่ จนกิ่งอินทผลัมมันตกใส่กบาลเอง

สรุปแล้วเรื่องนี้ไม่น่าตื่นเต้นอะไรนัก การเพิ่มสัมพันธภาพระหว่างประเทศต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องดูว่าต้องเอาอะไรไปแลก ถ้าของที่ต้องเสียไปมีค่าสูง เช่น เกียรติภูมิของชาติและประชาชน เป็นต้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการขายอวัยวะในร่างกายแล้วเอามาซื้อข้าวกิน อนาคตถ้ามีก็คงไม่สดใสนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลต่อยอดยุค'ลุงตู่'สั่งเดินหน้ากระชับสัมพันธ์ซาอุฯ

นายกฯ ติดตามการทำงาน และสั่งการเดินหน้ากระชับสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ หลังการจัดงานประชุมภาคธุรกิจ Thai-Saudi Investment Forum จับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ พร้อมเปิดสำนักงาน BOI ณ กรุงริยาด

บี้รับผิดชอบ! นายกฯ-รมต. รู้เห็นเป็นใจ 'นักโทษ' จุ้นจ้านเมียนมา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลเมียนมาตำหนิทักษิณทำสิ่งไม่เหมาะสม ระวังกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

รัฐบาลเตรียมต้อนรับ รมว.พาณิชย์ซาอุฯ ชี้โอกาสสำคัญต่อยอดจากนายกฯเศรษฐาเยือนซาอุฯ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดต้อนรับ ดร.มาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'จักรภพ' 23 พ.ค. เจ้าตัวแย้มจ่อลุยการเมือง

อัยการนัดฟังคำสั่งคดี 'จักรภพ เพ็ญแข' ครอบครองอาวุธสงคราม 23 พ.ค.นี้ เจ้าตัวเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม จ่อลุยการเมืองหลังพ้นคดี ชี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ควรได้ความเป็นธรรมเหมือนทุกคน