31 ม.ค.2568 - ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2568 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพบก ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก เข้าร่วมประชุม
นายมาริษ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนของไทย การค้าขาย และการข้ามแดน โดยตนได้ย้ำทุกหน่วยงานให้ทำอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมาย 2 ข้อ คือ 1.การทำให้พื้นที่ชายแดนมีความสงบเรียบร้อย มีความมั่นคง รวมถึงแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางออนไลน์
2.อยากเห็นเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนพื้นที่ชายแดนกลับมาทำการค้าขายได้ตามปกติ ที่สำคัญจะต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยต่างๆ ทั้งคน สิ่งของ สินค้า ทรัพยากรต่างๆที่จะนำไปสู่การสนับสนุนกิจกรรมไม่พึงประสงค์หรือการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงต้องการติดตามตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยไม่ให้เข้าใช้พื้นที่ชายแดนเพื่อการก่ออาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ ที่เราต้องคอยมอนิเตอร์ ควบคุม และมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น
นายมาริษ กล่าวว่า ส่วนสิ่งของและทรัพยากรต่างๆ เราจะมีตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งด่านชายแดนต่างๆ และจุดข้ามแดนในช่องทางธรรมชาติด้วย อีกทั้งจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งจีนที่เป็นต้นน้ำ ประเทศในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย อาทิ เมียนมา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามเป้าหมายและสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
รมว.การต่างประเทศ กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการขับเคลื่อนในส่วนกลาง จะให้เลขาธิการสมช. เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่บูรณาการระดับนโยบาย ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่แล้ว ให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันในระดับพื้นที่ ที่ประชุมมอบหมายให้ศูนย์สั่งการชายแดนกับเมียนมา บริเวณ จ.ตาก
ทั้งนี้ ช่วงท้ายการประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดน ทั้งกองทัพ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ไปดูบทบาทและหน้าที่ของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาพูดคุยจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน อีกทั้งได้เน้นย้ำว่าห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไปเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ตามนโยบายต่อต้านทุจริต นอกจากนี้เห็นชอบกรอบการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม 2 เรื่อง คือ 1.ด้านสาธารณสุข และ 2.ด้านการศึกษา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเรียกร้องให้ทางการไทยตัดไฟพื้นที่ชายแดนฝั่งเมียนมาซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอรหรือ นายมาริษ บอกว่า ที่ประชุมได้พูดคุยเรื่องนี้เช่นกัน โดยอยากให้มีการบูรณาการหน้าที่ของหน่วยงานและกฎระเบียบที่มีอยู่ก่อน
“อีกทั้งมอบหมายให้เลขาธิการสมช. ไปพูดคุยในรายละเอียดกับหน่วยงาน โดยที่ประชุมให้กรอบการทำงานเรื่องนี้ว่าควรทำให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน” รมว.การต่างประเทศ ระบุ
ซักว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระบุว่าเคยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เพื่อขอให้ประสานหน่วยงานของเมียนมาในการกำหนดมาตรการควบคุมกำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้า นายมาริษได้เห็นหนังสือนี้แล้วหรือไม่ นายมาริษ ชี้แจงว่า ที่ประชุมได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่อยากเห็นเรื่องต่างๆถูกนำเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ก่อน เพื่อให้บูรณาการและเกิดความชัดเจน ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร รวมถึงขอให้ฟังเลขาธิการสมช.ก่อน
ทางด้าน นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าจะให้ สมช. เป็นเจ้าภาพในการพิจารณาตัดไฟ พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โดย เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะนำเรื่องนี้ไปดำเนินการหารือกับคู่สัญญา ซึ่งทุกอย่างต้องยึดตามหลักกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวว่า ผู้ที่ตัดสินใจตัดไฟได้จริงๆคือหน่วยงานใด เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้ กฟภ. และทาง กฟภ.จะนำเรื่องต่างๆมาพิจารณา และหารือกับคู่สัญญา พร้อมย้ำว่าทุกอย่างต้องยึดตามหลักตามกฎหมาย
ซักว่าตกลงใครมีอำนาจสั่งตัดไป เลขาธิการ สมช. อ้างว่า ต้องไปดูข้อกฎหมายระหว่าง กฟภ.กับคู่สัญญาที่ร่วมกันลงนามไว้แต่เดิมเป็นอย่างไร ซึ่ง สมช. ไม่มีอำนาจไปบอกว่าจุดไหนเป็นอันตรายกับประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่า จะนำประเด็นการตัดไฟฟ้าเสนอต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เลยหรือไม่ นายฉัตรชัย กล่าวว่า ต้องดูข้อกฎหมาย และรายละเอียดต่างๆ รวมถึงจะต้องหารือกับทาง กฟภ.อีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พ่อนายกฯ' ชี้ต้องคุยกับ 'เมียนมา' มากขึ้น ร่วมแก้ยาเสพติด-แก๊งคอลฯ-ฝุ่นPM2.5-สารหนู
'ทักษิณ' ชี้ต้องคุยกับเมียนมามากขึ้น ร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งปมยาเสพติด-คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นPM2.5-สารหนู พร้อมปลอบคนเชียงใหม่และเชียงราย รัฐบาลเร่งจัดการ
สทร. ยอมรับได้คุย ‘มินอองไลง์’ หวังเห็นเมียนมาเปิดเจรจาปูทางสันติสุข
"ทักษิณ" รับได้คุย "มินอองไลง์" ปัดเข้าข้าง - หวังเห็นเมียนมาเปิดเจรจาปูทางสันติสุข - แนะคุยชนกลุ่มน้อย-ปล่อยนักโทษการเมืองก่อนเลือกตั้ง
ส่งกำลังพลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว 'เมียนมา' ตามยุทธการมัณฑะเลย์ 82
พลเอก อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมส่งกำลังพลของ
วิเคราะห์เจาะลึก ‘เลือกตั้งเมียนมา’ ชำแหละ ‘เบื้องหลัง-ความหวัง’ รบ.ทหาร ปูทางสู่ ‘รัฐบาลผสม’ ที่กองทัพยังคุมเกม
รัฐบาลทหารเมียนมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 โดยการประกาศจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นใ
แผ่นดินไหวขนาด 3.8 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจาก อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 254 กม.
เมื่อเวลา12.38 น.ได้แผ่นดินไหว ประเทศเมียนมา (Myanmar) ขนาด 3.8 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ตระบัดสัตย์ในโลกสวย! เมื่อ 'แพทองธาร' ต้อนรับ 'มิน อ่อง หล่าย'
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงว่า “จะไม่จับมือกับเผด็จการคนทำรัฐประหาร” ซึ่งในขณะนั้น คำพูดนี้มุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่ถูกเรียกกันว่า “สองลุง”