ดีเดย์ 13-14 ก.พ.รัฐสภาถกแก้ไขรัฐธรรมนูญ

'วิป 3 ฝ่าย' เคาะถกประชุมร่วมแก้ไข รธน. 13-14 ก.พ. เหตุขอเวลาศึกษาให้รอบคอบ รอพรรคอื่นเสนอร่างประกบ ด้าน 'วันนอร์' ปัดตอบเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่

08 ม.ค.2568 - ที่รัฐสภา มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน และนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะเลขาฯวิปวุฒิสภา วาระกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้เวลาประชุมประมาณ 1.30 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากเดิมที่มีการกำหนดว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 17 ฉบับ ในวันที่ 14-15 ม.ค. นั้น แต่เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบหลายด้านจึงขอนำไปพิจารณาก่อน รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างเข้ามาเพิ่มอีก และยังไม่ทราบว่าจะมีพรรคอื่นหรือภาคประชาชนจะเสนอเข้ามาด้วยหรือไม่ ฉะนั้น จึงขอเวลาและจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในมาตรา 256 และหมวด 15 (1) ในวันที่ 13-14 ก.พ. ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2ฉบับเสร็จแล้ว การทำประชามติก็สามารถไปใช้ร่างที่สภาฯยืนยัน หรือร่างที่วุฒิสภาแสดงความคิดเห็นไปทำประชามติได้ หากเป็นเช่นนั้นจะทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และในวันที่ 14 ม.ค. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วม

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่มีการเลื่อนออกไป 1 เดือนนั้น เนื่องจากในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย พิจารณาร่วมกันว่าถ้าเราพิจารณาเสร็จเร็วหรืออย่างไรก็ตามก็ต้องรอกฎหมายประชามติที่ต้องรอ 180 วัน แต่ขณะนี้เหลือ 100 กว่าวัน ฉะนั้น จึงคิดว่าต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งก็ไม่ช้าเกินไป ย้ำว่าอย่างไรก็ต้องรอ เพราะอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า หวังว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะขั้นตอนขึ้นอยู่กับการประชุมร่วมรัฐสภา ทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือรับหลักการและครั้งที่ 2 คือร่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปร่างอีกครั้ง รวมถึงประชาชนจะต้องออกเสียงประชามติอีก 2 ครั้ง ฉะนั้น จึงเป็นความหวังว่าน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาเป็นอย่างไรยังพูดไม่ได้

ด้านนายวิสุทธิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเลื่อนเวลาออกไป 1 เดือน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ​ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทางสว.ก็ยืนยันว่าต้องมีการนำไปพิจารณา แต่การที่จะไปกำหนดระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะหลายคนก็มีภารกิจหลายอย่าง ฉะนั้น เรื่องนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ดีของทั้ง 3 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าให้แต่ละพรรคร่วมที่คิดจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไปเตรียมการ แต่เราไม่สามารถตอบได้ว่าพรรคอื่นจะยื่นหรือไม่ ซึ่งเราต้องให้โอกาสเขาด้วย ส่วนที่มีการมองว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลแต่รัฐบาลไม่ยื่นร่างแก้ไขเข้ามานั้น รัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค แต่ที่คุยกันมาหลายพรรคยังไม่พร้อม แต่หากพรรคไหนที่จะเสนอเราก็ยินดี เพราะเป็นการทำงานร่วมกัน

ขณะที่นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ฝ่ายค้านมองว่าการเลื่อนออกไป 1 เดือนอาจจะช้าเกินไป ตอนแรกเราขอให้เลื่อนออกไปเพียง 2 สัปดาห์เพราะอยากให้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการให้มากที่สุด ซึ่งเป็นชั้นที่สำคัญจึงอยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่เมื่อทางวุฒิสภาอยากมีเวลาพิจารณาเพิ่มเติม เราจึงหาตรงกลาง ฉะนั้น จึงคิดว่าการเลื่อนออกไปก็ไม่ได้กระทบกับกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ มากนักแม้จะเห็นไม่ตรงกัน แต่อยากให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบลื่น

ด้านนายวุฒิชาติ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศและจากการที่ได้คุยนอกรอบกับพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าจะมีการยื่นร่างประกบเข้ามา ตนจึงบอกว่าวุฒิสภาต้องใช้เวลาในการศึกษาและทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการที่จะพูด รวมถึงมุมมองแตกต่างกัน จึงได้ขอความกรุณาจากฝ่ายค้านและรัฐบาล และเราก็สามารถหากรอบระยะเวลาที่ลงตัวกันได้ ส่วนประเด็นที่จะมีการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีสสร.ขึ้นมายกร่าง หากจะถามว่าส่วนใหญ่สว.เห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะค่อนข้างสุ่มเสี่ยงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จึงขอระยะเวลาในการศึกษา

เมื่อถามว่า หากไม่มีความชัดเจนก็จะไม่โหวตให้ใช่หรือไม่ นายวุฒิชาติ กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของสว.เพราะมีทั้งบางกลุ่มที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันนอร์' ยันรับปากกันแล้ว 'วิปรัฐบาล' แจ้ง 'นายกฯ' เข้าตอบกระทู้บ่อยขึ้น

'วันนอร์’ เผย รับปากกันแล้ว 'วิปรัฐบาล' แจ้ง 'นายกฯ' เข้าตอบกระทู้บ่อยขึ้น ชี้ ต่างคนต่างทำหน้าที่ เลือกตั้งมาเหมือนกัน แนะ สมาชิกควรถามกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรง หวั่นเสียเวลา เสี่ยงถูกซัดทอดไปเรื่อยๆ

'วันนอร์' คาดการเมืองปีมะเส็งร้อนแรงแน่!

'วันนอร์' คาดการเมืองปี 2568 ร้อนแรงกว่าที่ผ่านมา ชี้หากรัฐบาลแก้ปากท้องได้ก็อาจอยู่ครบเทอม ปลื้มสภาปีที่แล้วไม่เคยล่ม หวังประชาชนเห็นสภาเป็นที่ถกเถียงแก้ปัญหาบ้านเมืองมากกว่าแก้ด้วยวิธีอื่น

'วิสุทธิ์' บอกถ้าเป็นฝ่ายค้านก็ทำ ตั้งกระทู้ถามนายกฯ หากไม่มาตอบก็จะได้ตำหนิ

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงปัญหาที่นายกรัฐมนตรี

'วิสุทธิ์' เหน็บฝ่ายค้านอย่าเอาแต่ใจ ต้องดูข้อบังคับการประชุมด้วย หากนายกฯว่างก็มาตอบกระทู้

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาตอบกระทู้ในวันที่ 12 ธันวาคม