พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ
22 ธ.ค.2567 – เวลา 17.27 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “ รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์ : มหาดุริยางค์ไทย-สากล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ศาสตราจารย์พิเศษสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น เสด็จขึ้นบนลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จเข้าห้องประทับรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก แล้วเสด็จเข้าภายในหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร รองศาสตราจารย์ศิริเดช สุชีวะ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์เภสัชกรหญิง พรอนงค์ อร่ามวิทย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
จากนั้น นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กราบบังคมทูลถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ เสร็จแล้ว ขบวนธงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัญเชิญฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เข้าภายในหอประชุม นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ
จากนั้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ความเป็นมาของ การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทอดพระเนตรการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติ “รวมใจภักดิ์ เฉลิมทศมจักรีนฤบดินทร์ : มหาดุริยางค์ไทย-สากล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ประกอบด้วย องก์ที่ 1 โหมโรงวชิรราช องก์ที่ 2 เดี่ยวระนาดเอก เพลงเชิดนอก องก์ที่ 3 เพลงชุดเจ้าพระยา : สายน้ำแห่งกาลเวลาและอารยธรรม และการแสดงนาฏยศิลป์
องก์ที่ 4 บทเพลง มาร์ชแห่งชัยชนะจากอุปรากรเรื่องไอดา (Triumphal March from Aida) ประพันธ์โดย จูเซปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi) องก์ที่ 5 บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วย มาร์ชราชวัลลภ มาร์ชธงไชยเฉลิมพล มาร์ชราชนาวิกโยธิน และกินรี สวีท (Kinari Suite) ประกอบการแสดงบัลเลต์ และองก์ที่ 6 พระเกียรติยศยิ่งฟ้า มหาวชิราลงกรณ ภายหลังจบการแสดง พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้แทนนักดนตรี นักแสดง และผู้ควบคุมวงดนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานช่อดอกไม้ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชบุรพการี พระราชทานพระเมตตา และพระบรมราชูปถัมภ์นานัปการ แก่การศึกษาของไทยมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสถาบันพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภก ต่อมาทรงสถาปนาโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตราบจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสร้างฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกขึ้นเป็นครุยชั้นพิเศษ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระองค์แรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระองค์ที่สอง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2533
และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข รวมทั้งทรงส่งเสริมและพระราชทานโอกาสทางการศึกษาแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่ามาโดยตลอด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ เปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
ในหลวง พระราชินี ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีออร์เคสตราเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรีออร์เคสตราเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดประชุมนานาชาติ และงานโครงการหลวง 2567
ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดประชุมนานาชาติ และเปิดงานโครงการหลวง 2567 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
ในหลวงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ
วันที่ 28 พ.ย.2567 เวลา 17.03 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้
ในหลวง พระราชินี ทรงเปิดอาคาร 'จักรีทศมรามาธิบดินทร์' โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในหลวง พระราชินี ทอดพระเนตรโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน 'พระจักราวตาร'
ในหลวง พระราชินี ทอดพระเนตรโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”