ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จึงเป็นพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอนที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา และต้องพึ่งพาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานซึ่งยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้หลายประเทศชะลอการลงทุนเพื่อรอให้เทคโนโลยีมีราคาถูกลง ส่งผลให้ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) ถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมของการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) คาดว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของโลกจะขยายตัวถึง 2.5 เท่า ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจาก SMR มากถึง 140 กิกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากยานยนต์ไฟฟ้า การสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) และเทคโนโลยี AI
โรงไฟฟ้าไร้คาร์บอนแบบมั่นคงและแข่งขันได้
โรงไฟฟ้า SMR เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ (MWe) โดยออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันให้มีขนาดเล็กลงบรรจุไว้ในโมดูลสำเร็จรูปที่ประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต และสามารถขนย้ายโมดูลโดยรถบรรทุกหรือรถไฟเพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าได้อย่างสะดวก จึงช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหลือเพียงประมาณ 3 - 4 ปี และใช้พื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไปถึง 10 เท่า
โรงไฟฟ้า SMR ออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ให้มีขนาดเล็กลงและผลิตเบ็ดเสร็จจากโรงงาน
SMR เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งผลิตพลังงานความร้อนมหาศาลจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่กลับใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 50,000 – 100,000 เท่า เพื่อผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการผลิตไฟฟ้า 235,000 หน่วย โรงไฟฟ้า SMR จะใช้แร่ยูเรเนียมประมาณ 1 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติต้องใช้มากถึง 50,000 กิโลกรัม และถ่านหินใช้มากถึง 100,000 กิโลกรัม
แท่งเชื้อเพลิงจากยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นต่ำ 4-5%
อีกทั้งแร่ยูเรเนียมยังเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มีราคาต่ำใช้ในปริมาณน้อย ไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้
ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง
เทคโนโลยีโรงไฟฟ้า SMR ได้รับการออกแบบให้มีระบบป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบหล่อเย็นภายในตัว สามารถระบายความร้อนได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ควบคุมเช่นในอดีต เพราะระบบระบายความร้อนใช้หลักการธรรมชาติ เช่น การถ่ายเทความร้อน การปล่อยน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินโรงไฟฟ้าจะไม่เกิดความเสียหายแม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบเลยก็ตาม แตกต่างจากกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ระบบหล่อเย็นต้องใช้กระแสไฟฟ้า นอกจากนี้บางเทคโนโลยียังออกแบบให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ใต้ดินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว อีกทั้งการลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ทำให้การควบคุมตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุและรังสีรั่วไหลจึงน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ขนาดของโรงไฟฟ้าที่เล็กลงและการออกแบบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่สำหรับการวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉินมีรัศมีที่ลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่มีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น
ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SMR ที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้า SMR แบบลอยน้ำ ขนาด 70 MWe ตั้งอยู่ที่เมืองชูคอตกา ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ขนาด 210 MWe เริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือน นอกจากนี้จีนยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR ขนาด 125 MWe ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569
โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov (ที่มา: https://fnpp.info/)
โรงไฟฟ้า SMR ทางเลือกความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าไทย
โรงไฟฟ้า SMR นับเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาของหลายประเทศ อาทิ ประเทศนอร์เวย์วางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ Data Center ประเทศแคนาดาตั้งเป้าก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกภายในปี 2577 และเกาหลีใต้ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ให้พร้อมใช้งานด้วย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้บรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ในช่วงปลายแผนของร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024)
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR (ACP-100) ของจีน อยู่ระหว่างก่อสร้าง
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นับตั้งแต่มีการบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2550-2564 (PDP2007) โดยในขณะนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้น เพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์และประเมินความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน 19 ด้าน อีกทั้งมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA ของสหประชาชาติมาทำการประเมินความพร้อมของประเทศไทยซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการตัดสินใจสำหรับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
กฟผ. - วิศวะ จุฬาฯ ลงนาม MOU ศึกษาและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้ยกร่างกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ สำหรับ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ได้พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามศึกษาเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแท้จริง
โรงไฟฟ้า SMR จึงถือเป็นเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมแข่งขันได้ และช่วยให้ประเทศมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality อย่างยั่งยืน
----------------------------------
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ 'BBB+'
บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประกาศผลการทบทวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ “BBB+” ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และให้มุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของ กฟผ. อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable)
'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ' แบตเตอรี่ยักษ์กักเก็บพลังงานสะอาด
ความท้าทายในการก้าวข้ามขีดจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบไฟฟ้าเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ คือ การบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“สวนผักทางไฟ” พลิกพื้นที่แห้งแล้งใต้แนวสายส่งไฟฟ้าสู่แหล่งอาหารบ้านโนนยาง
“เคล” ราชินีแห่งผักใบเขียว หรือคะน้าใบหยิก ที่กำลังเตรียมตัดขายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นภาพที่เกษตรกรบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
กฟผ. ร่วมส่งความสุขล้นใจแบบรักษ์โลก เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยฉลองแบบแฮปปี้
กฟผ. เตรียมของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยในรูปแบบ 3 ส่วนลดพิเศษ ส่วนลดผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 30,000 สิทธิ์ ส่วนลดค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
กฟผ.หนุน'ยกน้ำหนัก–เรือพาย'ต่อ สร้างพลังใจดันนักกีฬาไทย สู่ระดับโลก
กฟผ. สนับสนุนงบประมาณ สมาคมยกน้ำหนักฯ สมาคมเรือพายฯ ต่อเนื่องอีก 4 ปี มุ่งพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยสู้ศึกทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างรอยยิ้ม และความสุขให้คนไทย
อดีตบิ๊กข่าวกรองชง 'พีระพันธุ์' ปลดโซ่ตรวน กฟผ.เชื่อค่าไฟลดมากกว่านี้แน่!
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ