อดีตนายกฯอภิสิทธิ์  ชำแหละข้อดีข้อเสีย ยกเลิก-ไม่ยกเลิก ‘MOU44’ แนะทางออกรบ.อิ๊งค์

อภิสิทธิ์ ชี้ข้อดี-ข้อเสีย ยกเลิก-ไม่ยกเลิก MOU2544 เสนอทางออกแก้ MOU มัดรัฐบาล ห้ามไปตกลงอะไรที่มีผลกระทบกับเขตแดน ชี้เปรี้ยง เป็นปมร้อนเพราะ คนหวาดระแวงรัฐบาลมีผลประโยชน์อื่นเหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติหรือไม่

15 ธ.ค.2567-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหาทางออกกรณี MOU2544 ที่มีทั้งฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิก และฝ่ายที่เห็นว่า ไม่ควรยกเลิก โดยได้กล่าวถึงกรณี ที่สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมครม. ว่าเรื่องนี้มีประเด็นเยอะ อันแรกเลย ตอนเข้ามา เรารับรู้เรื่องปมปัญหาMOU2544 มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นเรื่องเกาะกูด แต่แน่นอนว่าการมี MOU2544 แล้ววันดีคืนดีจะบอกยกเลิกมันก็แปลกอยู่ เพราะแม้จะเป็นคนละรัฐบาลกันแต่ก็เป็นรัฐบาลไทย บังเอิญ ยุครัฐบาลผม มันมีเหตุคือ นายกฯฮุน เซน ตั้งคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา นั่นเป็นจุดที่ เราก็มองว่าถ้าเป็นแบบนี้เป็นเหตุ ว่าถ้า MOU2544 แบบนี้ ไม่เอาดีกว่า แต่ขณะนั้นก็มีการตีความว่าถ้าจะยกเลิกต้องเอาเข้าที่ประชุมรัฐสภา ถึงจะสมบูรณ์ เราก็มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศไปดู

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในที่สุด ก็ยังไม่ได้มีการเสนอต่อรัฐสภา ที่ตอนนั้นใช้รธน.ปี 2550 ตอนนั้น คุณคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสว.  เอาเรื่องนี้ไปตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมวุฒิสภา คุณกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ก็ไปตอบ ที่ก็ตอบแบบที่ผมพูดแบบนี้ แต่ก็แปลก คือหลังจากนั้น ประมาณหนึ่งสัปดาห์ คุณทักษิณลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาของนายกฯฮุน เซน นั่นคืออดีต แต่ปัญหาปัจจุบัน ก็มีคนบอกยกเลิกไปเลย ถามว่ายกเลิกได้หรือไม่ ก็ยกเลิกได้ แต่สำหรับคนที่อยากยกเลิก ผมก็อยากเตือนไว้

ประเด็นแรก การยกเลิกไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลชุดนี้จะไปเจรจาไม่ได้ ตอนที่รัฐบาลไทย ทำเรื่องนี้ กับมาเลเซียหรือเวียดนาม ก็ไม่มีMOU เพราะเป็นอำนาจรัฐบาลในการไปเจรจาอยู่แล้ว ข้อดีของ MOU2544 ที่ผูกเอาไว้ ที่ผมไปตรวจสอบหลังมีปฏิกิริยากันพอสมควรว่าไม่น่าจะมีการไปขีดเส้นอะไรต่างๆ ก็คือมีการไปใส่เอาไว้ว่า ห้ามเจรจาเฉพาะเรื่องทรัพยากร โดยที่ยังไม่ได้มีข้อยุติที่ชัดเจนที่เป็นที่ยอมรับได้ในเรื่องเขตแดน ประเด็นก็คือ ถ้ายกเลิกMOU2544 ไม่ได้แปลว่าการเจรจาจะหยุด กับสอง อาจมีการไปเจรจาเรื่องน้ำมัน แล้วส่งผลกระทบทีหลังต่อเขตแดนก็ได้ เพราะไม่มีMOU2544ที่บอกว่าต้องทำพร้อมกันและเสร็จกัน ตรงนี้ต้องระมัดระวัง ผมก็เข้าใจเหตุผลคนที่เสนอให้ยกเลิกMOU2544เพราะเราก็ไม่พอใจเส้นที่ขีดเข้ามา ว่าไปรับรู้หรือให้เป็นเอกสารทางการทำไม แต่ก็มีข้อระมัดระวังตรงนี้

“ในความเห็นผม ปัญหาทั้งหมด พูดกันตรงๆ เรื่องนี้ MOU2544 ที่มันกลับมาเป็นประเด็น ก็เพราะคนหวาดระแวงว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์อื่นหรือไม่ ที่เหนือกว่าผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น ถ้าอยากจะเดินหน้าเรื่องนี้เราต้อง ทำอย่างไรให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องจุดยืน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยที่สุด ยังมีหลังพิงก็คือ หลักสากลในเรื่องการขีดเส้นไหล่ทวีป ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้ถกเถียงกันมาเป็นเดือน แต่ผมยังไม่เคยได้ยินรัฐบาลพูดอะไรแบบนี้เลย รัฐบาลพูดอย่างเดียว่า ไม่ได้เป็นปัญหา ยังไม่เสียดินแดน แต่มันไม่ได้ทำให้คนมีความมั่นใจว่าสิ่งที่จะทำต่อไป จะไม่มีผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศ”

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ไปยื่นต่อนายกฯ เช่น  ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่งMOU 2544 และJC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตราหนึ่งและมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ก็เป็นข้อเสนอที่ไล่ทีละสเต็ป ดูแล้วก็ค่อนข้างประนีประนอม นายอภิสิทธิ์มองว่า เป็นเรื่องของช่องทางในการยกเลิกหรือนำไปสู่การยกเลิก แต่ที่ผมเตือนไว้ก็คือ ผมรู้ว่าเรื่องที่ผู้เรียกร้องกลัวที่สุด เสียดินแดน เสียทรัพยากรที่ความจริงเป็นของเราแล้วต้องไปแบ่ง     ผมกำลังเตือนว่า ยกเลิกไปแล้ว มันไม่ได้มีหลักประกันว่า ที่จะป้องกันไม่ให้มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ถามย้ำว่า แต่ก็ดีกว่าไม่ยกเลิก นายอภิสิทธิ์ตอบว่า อันนี้ตอบยาก คือดีที่สุด เรามีรัฐบาลที่คนมั่นใจได้ว่ารักษาผลประโยชน์ของประเทศ เพราะมีหรือไม่มี (MOU2544) ถ้าไม่มี อย่างที่ผมบอก เขาไปตกลงอะไรกันเลยก็ได้ แต่ถ้ามี ก็มีการบังคับให้ทำเรื่องเขตแดนพร้อมกันไปด้วย ซึ่งข้อดีของมันก็คือ หากไปทำอะไรที่มันไม่เข้าท่าเข้าทาง ยังไง ข้อตกลงนั้นเข้าสภาฯ มันต้องโปร่งใส แต่ถ้าหากไม่มี แล้วไปตกลงกันเรื่อง ทรัพยากรอย่างเดียว อาจจะมีอะไรซ่อนเร้นได้ง่ายกว่า

“จริงๆถ้าถามผมดีที่สุด มันเหมือนกับต้องไปแก้ MOU มากกว่า คือไปมัดรัฐบาลไว้ว่า ห้ามไปตกลงอะไรแล้วมีผลกระทบกับเขตแดน แต่แก้ให้มันเป็นที่ยอมรับได้ ไม่เอาเส้นที่ขีดกันมาลักษณะแบบนี้ คือ MOU2544 ที่คนกังวลมากก็คือเส้นที่กัมพูชาไปขีด ซึ่งเป็นเส้นที่แปลกประหลาดมาก มีการอ้อมเกาะ ที่ดูแล้วมันไม่ใช่ แต่คนก็อาจบอกว่าเขาก็ไม่ยอมรับเส้นของเราเหมือนกัน ก็ไม่เป็นไร ทำไม ไม่มาทำ MOUในลักษณะที่ว่าเริ่มต้นจากการใช้หลักสากล แม้กัมพูชาจะไม่ได้เป็นภาคีก็ตาม แต่หลักสากลหรือกฎหมายระหว่างประเทศ มันก็ยังเป็นหลักที่ควรนำมาใช้ หรือมาอ้างอิงกันในการตกลงกันเรื่องนี้  ผมฟังดูแล้วตอนนี้สับสน อย่างนายกฯพูด นายกฯบอกว่า หากตกลงเรื่องเขตแดนไม่ได้ ก็ตกลงเฉพาะเรื่องน้ำมัน ถ้าแบบนี้ ก็ต้องยกเลิก MOU มันก็เลยพันกันไปหมด ผมถึงบอกว่า ตั้งหลักกันให้ดี และทำอย่างไรรัฐบาล จะแสดงออกให้คนมั่นใจ ว่าสิ่งที่เขากลัว จะไม่เกิด เพราะรัฐบาลมีจุดยืนแบบนี้ เพราะผ่านมาสองเดือน แปลกใจว่าไม่มีคนในรัฐบาล พูดในอารมณ์แบบนี้เลย มีแต่ออกมาบอกว่า พื้นที่ยังไม่ได้เสีย เขาเว้นเกาะให้ หรือบอกพวกนี้จะหาเรื่องมาล้มรัฐบาลหรือไม่”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตผู้พิพากษาฯ ผวา! ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’ รอบใหม่ หลังเงินสำรองปท.ยุครบ.อิ๊งค์ลดลง

ถ้ารัฐบาลนี้ที่มีนายทักษิณเป็นผู้ควบคุมเอาเงินสำรองระหว่างประเทศไปแจกประชาชนเพื่อหาเสียงดังที่นายพิชัยกล่าว

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44

งูไฟกับรัฐบาลอิ๊งค์ ‘วันชัย’ สวมบทหมอดู ชี้เปรี้ยง 6 เดือนนับจากนี้ชี้ชะตาสองพ่อลูก!

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “งูไฟ...กับรัฐบาลอุ๊งอิ๊ง” ระบุว่าจะไม่พูดถึงตัวเลขและดวงดาวต่างๆเพราะหมอดูหลายคนออกมาพูดกันมากแล้ว