12 ธ.ค.2567 - เวลา 17.11 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทย เป็นการชั่วคราว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายหาญ จื้อเถียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประจำประเทศไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการดำเนินการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำสำนักนายกรัฐมนตรี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการจัดงาน ฯ และประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ
เมื่อเสด็จเข้าพลับพลาพิธีทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัยทรงกราบ ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน วัตถุประสงค์ของการจัดงาน ฯ
จากนั้น ทรงจุดไฟจากโคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานเจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปตั้งที่มณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) แล้วเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ฯ เสด็จขึ้นมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ หน้าห้องกระจก ชั้น 3 ทรงวางพุ่มดอกไม้ แล้วเสด็จลงจากห้องกระจก ชั้น 3 มายังมาณฑป ฯ ชั้น 2 ทรงวางพวงมาลัยทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสักการะพระบรมทรงกราบ
ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จลงจากมณฑปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก(พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก) เสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำารุง ศาสนาทั้งปวง โดยทรงเกื้อกูลค้ำจุนพระพุทธศาสนาภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการอุปถัมภ์กิจการของศาสนา ด้วยพระราชหฤทัยอันเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความสำคัญของศาสนา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านศาสนานานัปการ ด้วยความเลื่อมใสและพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา กับทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวรสืบไป
“พระเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระธาตุเขี้ยวแก้ว” หรือ “พระทาฐธาตุ” คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็น “เขี้ยว” ของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามตำนานพระเขี้ยวแก้ว จากพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์” ปัจจุบันมีพระเขี้ยวแก้วเพียง 2 องค์บนโลกมนุษย์เท่านั้น คือ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา” ประเทศศรีลังกา และ “พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย” ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เคยอนุญาตให้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้ายไปประดิษฐานยังประเทศต่าง ๆ รวม 6 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2545 พระเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวครั้งแรกในประเทศไทย ที่ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 5 ธันวาคม 2545
ทั้งนี้ เนื่องเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 รัฐบาลจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งองค์พระเขี้ยวแก้วมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ประดิษฐานในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าตามลักษณะศิลปกรรมแบบจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล ณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 07.00 – 20.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ในหลวง' พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2568
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติปี 2568 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2568
'ในหลวง' พระราชทานปฏิทินหลวง 2568 แก่พสกนิกรลงนามถวายพระพรในโอกาสปีใหม่
สำนักพระราชวัง เปิดให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะบุคคล องค์กร และประชาชน ลงนามถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2568 โดยที่อาคารหน่วยราชการในพระองค์
มีสติรู้คิดไม่ประมาท ‘ในหลวง’พระราชทานพรปีใหม่คนไทย
"ในหลวง" พระราชทานพรปีใหม่ ให้คนไทยตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ในหลวง ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย กรณีเครื่องบินเซจูแอร์ประสบอุบัติเหตุ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพ
'ในหลวง' พระราชทานปฏิทิน ธรรมนาวาวัง พ.ศ.๒๕๖๘
เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานปฏิทิน ธรรมนาวาวัง พ.ศ.๒๕๖๘