28 พ.ย.2567 - นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ศาลโลก ICJ ไม่เกี่ยว! ไทยไม่รับอำนาจมา 64 ปีแล้ว รัฐบาลอย่าพลิกกลับมติอีก!” ระบุว่า หลังนายกรัฐมนตรีหล่นคำพูดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาว่ายกเลิก MOU 2544 ไม่ได้เพราะ “จะถูกฟ้องร้อง” ก็เลยมีคำถามตามว่าในที่สุดแล้วกรณีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาจะไปจบที่ศาลโลกให้เราช้ำใจอีกครั้งซ้ำรอยกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อกว่า 60 ปีก่อนหรือไม่ ?
คำตอบ ณ วันนี้คือไม่ !
เพราะประเทศไทยไม่รับอำนาจศาล ICJ มา 64 ปีแล้ว
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ : Information Court of Justice) หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ศาลโลก” ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 (ค.ศ. 1945) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นองค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) ไม่เหมือนศาลภายในแต่ละประเทศที่บังคับใช้กับประชาชนในประเทศนั้น ๆ ทุกคนโดยอัตโนมัติ เพราะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ แม้จะเป็นสมาชิกสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ก็หาอยู่ภายใต้บังคับโดยอัตโนมัติไม่ ต้องพิจารณาแสดงเจตนายอมรับอำนาจศาลอย่างเป็นทางการเสียก่อน ถ้าไม่รับไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ก็ไม่มีข้อผูกพันใด ๆ
การรับอำนาจศาล ICJ นั้นก็กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ แสดงเจตนารับคราวละ 10 ปี
ประเทศไทยไม่เคยรับอำนาจศาล ICJ อย่างเป็นทางการ
เคยแต่รับอำนาจศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (PCIJ) หรืออาจจะเรียกว่า “ศาลโลกเก่า” เป็นองค์กรในสังกัดองค์การสันนิบาตชาติที่ตั้งขึ้นในปี 2463 (ค.ศ. 1920) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมแล้ว 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ปี 2472 (ค.ศ. 1929)
- ครั้งที่ 2 ปี 2483 (ค.ศ. 1940)
- ครั้งที่ 3 ปี 2493 (ค.ศ. 1950)
แต่มีปัญหาไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ตรงการต่ออายุการรับรองอำนาจศาลครั้งที่ 3 เพราะขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 จบไปแล้วหลายปี ไม่มีสันนิบาตชาติแล้ว ไม่มีศาล PCIJ อยู่แล้ว มีแต่องค์การสหประชาขาติและศาล ICJ การส่งหนังสือประกาศยืนยันจากรัฐบาลไทยถึงเลขาธิการสหประชาชาติต่ออายุการรับอำนาจศาล PCIJ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2493 จึงถูกวินิจฉัยในเวลาต่อมาว่าคือการยอมรับอำนาจศาล ICJ นั่นเอง
กัมพูชาฟ้องไทยในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 (ค.ศ. 1959) เหลืออีก 7 เดือนจึงจะครบอายุ 10 ปี เพราะแม้ประเทศไทยจะต่อสู้คดีเบื้องต้นโดยการตัดฟ้องว่าเรายอมรับอำนาจศาล ICJ ศาล ICJ จึงไม่มีอำนาจพิจารณา แต่ก็ไม่เป็นผล
ศาล ICJ พิพากษาข้อโต้แย้งเบื้องต้นในปี 2504 ว่าประเทศไทยยอมรับอำนาจศาล ICJ แล้ว ประเทศไทยจึงเดินหน้าต่อสู้คดีต่อไป และแพ้คดีปราสาทพระวิหารในปี 2505 (ค.ศ. 1962) อย่างที่ทราบกันดี
ไทยต้องขึ้นสู้คดีในศาล ICJ อีกครั้งในปี 2556 แต่เป็นคดีเก่า เป็นคดีที่รัฐคู่ความยื่นขอตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505
จากข้อเท็จจริงที่ประเทศไทยต้องขึ้นต่อสู้คดีในศาล ICJ ทั้ง 2 ครั้งในปี 2505 และ 2556 โดยกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อนทั้งสิ้นนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีคนไทยจำนวนหนึ่งเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง !
แต่ครานี้สถานการณ์ต่างออกไป ประเทศไทยไม่ได้รับอำนาจศาล ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 คดีปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาเริ่มฟ้องในปี 2502 เป็นคดีแรกและคดีสุดท้ายที่เราอยู่ภายใต้อำนาจศาล เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีถึง 2 ภาคภายในระยะเวลากว่า 60 ปี
มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มีนาคม 2567 ยืนยันจุดยืนของประเทศไทยได้ชัดเจน คณะรัฐมนตรีลงมติเป็นหลักการให้แจ้งไปยังทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งมีข้อบทให้อำนาจศาล ICJ มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทตามหนังสือสัญญานั้น ให้จัดทำข้อสงวนไม่รับอำนาจของศาล ICJ ไว้ทุกเรื่อง เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ
ย้ำ - เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ !
วันที่ 15 และ 19 มีนาคม 2567 มีการแจ้งมติคณะรัฐมนตรีไปยังทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เป็นไปตามข้อสังเกตเชิงข้อเสนอมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566
ประเด็นนี้ต้องขอชื่นชมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและรัฐบาลชุดนายเศรษฐา ทวีสิน
เพื่อบันทึกไว้ในเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง ผมได้นำประเด็นนี้มาเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาในที่ประชุมวุฒิสภา ตั้งถามนายกรัฐมนตรีด้วยวาจาในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้มาตอบแทน ในวันนั้นผมได้ใช้เป็นโอกาสกล่าวเทิดเกียรติท่านอาจารย์สมปอง สุจริตกุลที่ยืนหยัดปฏิเสธอำนาจศาล ICJ มาตลอดด้วย
สบายใจได้ในระดับสำคัญ ขอแต่เพียงรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนในอนาคต อย่าได้ยกเลิกหลักการสำคัญยิ่งอันเป็นมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มีนาคม 2567 นี้
อย่าให้ซ้ำรอย MOU 2544 ก็แล้วกัน ที่เคยมีมติคณะรัฐมนตรีปลายปี 2552 ให้ยกเลิก ให้กระทรวงการต่างประเทศไปศึกษาวิธีการยกเลิก แต่ศึกษากันยาวนาน 5 ปี จนถึงปลายปี 2557 กลับมีมติคณะรัฐมนตรีอีกชุดหนึ่งให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีชุดปี 2552 ให้กลับมาใช้ MOU 2544 เป็นกรอบการเจรจากับกัมพูชาอีก
อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพมนตรี' เชื่อMOU44ได้ไปศาลโลกแน่เพราะเป็นพ่อบังเกิดเกล้า!
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา
'สมชาย' เห็นด้วยอดีตขุนคลังแจกเงินหมื่นเฟสสองเสี่ยงคุก!
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก
'สมชาย' ชื่นชม กกต.สมุทรสาครแต่ข้องใจ กกต.กลางเรื่องตรวจสอบ สว.
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
'ดร.อาทิตย์' ข้องใจทำไม พระบรมราชโองการ-คำพิพากษาศาลฎีกา ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า
'พปชร.' ลั่น ยกเลิก MOU44 ฝ่ายเดียวได้ หวั่นเอกสารแนบท้าย ทำไทยเสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล
พปชร. ย้ำจุดยืน ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำฉบับใหม่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายสากล ระบุ เลิกฝ่ายเดียวได้ ชี้ เอกสารแนบท้ายมีข้อบกพร่องเยอะ ทำไทยเสียเปรียบ เสี่ยงเสียพื้นที่ทางทะเล จี้ กต.แจง ปมทำผิดกติกาสากล ปัด เคลื่อนไหวหวังผลทางการเมือง
'อิ๊งค์-อ้วน' ยัน MOU44 สำคัญ ไทยต้องคุยกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดนภายใต้ JTC แล้วนำเข้ารัฐสภา
นายกฯ ยัน MOU44 สำคัญ ย้ำไม่ยกเลิกฝ่ายเดียวจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ไทยต้องคุยกับกัมพูชาชัดเรื่องเขตแดน ภายใต้คกก. JTC เพื่อเป็นหลักฐานการคุย คาดตั้งเสร็จกลาง พ.ย.นี้ ลั่นผลประโยชน์ใต้ทะเลยังไม่คุยจนกว่าจะชัดเจนและนำเข้ารัฐสภา ยอมรับกัมพูชาถามคืบหน้า