'แก้วสรร' แพร่บทความ คดีที่ดินเขากระโดง : กระโดงใคร?

27 พ.ย.2567 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความในรูปแบบถาม-ตอบ เรื่อง "คดี “ที่ดินเขากระโดง”: กระโดงใคร? มีเนื้อหาดังนี้

ถาม ที่ดินเขากระโดง เขาว่าเป็นของการรถไฟแต่เมื่อไหร่

ตอบ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ส่วนที่เป็นทางรถไฟ นครราชสีมา-อุบล ถูกเวนคืนหมดรวมข้างทาง ๔๐ เมตรด้วย แต่เฉพาะส่วนตรงเขากระโดง กิโลเมตรที่ ๕-๘ จากสถานีบุรีรัมย์ มีกฤษฎีกาเพิ่มเติม ขยายเขตสำรวจเป็นฝั่งละ ๑ กิโลเมตร เพื่อเป็นแหล่งรวมหินที่ระเบิดแล้ว ขนไปสร้างทางรถไฟทั้งสายด้วย แต่ในที่สุดก็ไม่มีการออกกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินส่วนขยายนี้ให้เป็นสิทธิชัดเจนของการรถไฟ โดยมีข้ออธิบายกันไว้ว่า ส่วนนี้เป็นป่ามีชาวบ้านทำกินแค่ ๑๘ รายเท่านั้น

หลังจากนั้นการรถไฟก็เข้าใช้พื้นที่นี้เป็นแหล่งรวมหินและทำทางรถไฟโคราช-อุบลจนแล้วเสร็จ จนร้อยปีให้หลัง เมื่อเกิดเป็นคดีในศาล ศาลฎีกาก็ตัดสินว่าเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติ ที่หวงกันใช้เพื่อประโยชน์แผ่นดินไปในที่สุด

ถาม การรถไฟเขาหวงกันอย่างไรครับ ทำไมปล่อยให้มีคนเข้าไปอยู่เป็น พันครอบครัว แบ่งที่ดินเป็น ๘๐๐ แปลง มีที่ได้ นส.๓ ได้โฉนด กันมากมาย แล้วกรมที่ดินไม่รู้หรือว่าเป็นที่การรถไฟ

ตอบ ผมค้นเรื่องแล้ว ยังไม่เห็นตัวประกาศหวงกันเลย หลักเขตในพื้นที่ ก็เห็นว่าพบอยู่ ๒ หลัก แผนที่อ้างอิงที่ใช้ขึ้นศาล การรถไฟก็พึ่งเขียนขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีนี้เองเขียนเมื่อคราวทะเลาะกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ มันชัดเจนครับว่าก่อนหน้านี้ ไม่มีการหวงกันที่ชัดเจนอะไรเลย การใช้ประโยชน์ก็หมดไปแล้ว พอความเจริญมันเข้าถึง จนที่ดินมีราคา ถึงได้โวยวายขึ้นมาว่าเป็นของตน ทราบว่าตอนขอออกโฉนดบางแปลงมีฝ่ายการรถไฟยืนยันรับรองเขตให้ด้วย ก็มีนะคุณ

ถาม แล้วมันเกิดคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกันได้อย่างไรครับ

ตอบ ชาวบ้าน ๓๕ ราย ในที่ดิน ๓ แปลง ที่เขาทนไม่ได้กับการที่เขาทำอะไรไม่ได้เลยในทางทะเบียนที่ดิน ที่ถูกการรถไฟยื่นคำคัดค้านอยู่ตลอดเวลา เขาเลยฟ้องการรถไฟต่อศาล เป็น ๓ คดี แล้วก็แพ้หมด มีคำตัดสินศาลฎีกาว่า ที่ดินในคดีเป็น ที่สาธารณะสมบัติที่ใช้เพื่อประโยชน์การรถไฟ

จากนั้นพอศาลตัดสินคดีใด กรมที่ดินก็ทำตามหมดทุกแปลง การรถไฟเซ็งมากว่าทำไมจะต้องให้ตนไล่ฟ้องทุกแปลงเป็นร้อยๆแปลงด้วย เลยฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองให้สั่งให้กรมที่ดินทำหน้าที่เพิกถอนทุกแปลง ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้ กรมที่ดินใช้อำนาจตาม มาตรา ๖๑ ประมวลกฎหมายที่ดินพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดในที่สุด

ถาม มาตรา ๖๑ กำหนดให้กรมที่ดิน ต้องทำอย่างไรครับ

ตอบ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วยื่นข้อมูลให้เจ้าของที่ดินโต้แย้งแล้วสรุปความเห็นเสนอ อธิบดีว่า ควรเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งคดีเขากระโดงนี้คณะกรรมการเสนอว่าไม่เห็นควรเพิกถอน เพราะหลักฐานของการรถไฟไม่เพียงพอจะชี้ให้ชัดเจนและเชื่อถือได้ว่า ที่ดินของตนครอบคลุมเพียงใดบ้าง ซึ่งหลังจากรับความเห็นนี้แล้ว อธิบดีก็เห็นด้วยแล้วสั่งไม่เพิกถอนในที่สุด

ถาม อ้าว...อย่างนี้ไม่ขัดคำสั่งศาลปกครองหรือครับ

ตอบ กรมที่ดินทำตามแล้ว ใช้อำนาจตาม มาตรา ๖๑ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว จบแล้ว แล้วเขาเห็นว่ามันไม่มีหลักฐานเพียงพอจริงๆ

ถาม แล้วอย่างนี้ไม่ขัดคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินว่าที่เขากระโดงเป็นที่การรถไฟหรือครับ มีนักกฎหมายบางคนยืนยันเลยนะครับว่า เมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้ว กรมที่ดินก็สั่งเพิกถอนทุกแปลงได้เลย ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอีก

ตอบ นี่เป็นคดีแพ่ง ที่การรถไฟชนะคดีชาวบ้าน ๓๕ คน และกรมที่ดินก็ทำตามคำสั่งศาลทุกอย่างแล้ว คำพิพากษาคดีแพ่งนั้นมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณี ๓๕ คน ๓ แปลง ไม่ใช่ชาวบ้านอื่นๆ อีกกว่าพันครอบครัว ๘๐๐ แปลง นะคุณ

ถาม นี่มันเกมส์กฎหมายชัดๆ ถ้าจะเอาอย่างนี้ ก็ต้องให้การรถไฟ ไปฟ้องขับไล่เป็น คดี ๘๐๐ คดี เลยอย่างนั้นหรือ

ตอบ กี่คดีก็ไม่สำคัญหรอกครับ กรมที่ดินเองถ้าจะเพิกถอนโฉนด ๑๐๐ แปลง ก็ต้องออกคำสั่ง ๑๐๐ คำสั่ง ตรวจสอบแต่ละโฉนดด้วยคณะกรรมการ ๑๐๐ คณะเหมือนกัน

ถาม แล้วเราจะทำอย่างไรให้คำพิพากษาศาลฎีกา มีความหมายล่ะครับ

ตอบ ข้อแรก ก็ต้องเคลียร์เรื่องตำแหน่งที่ดินให้ชัดกันเสียก่อนว่า เขตที่ดินเขากระโดงอยู่ตรงไหน ปัญหานี้ ทั้ง รมต.มหาดไทย กับ รมต.คมนาคม ต้องปรึกษากัน แล้วสั่งการ ให้ทั้งการรถไฟและกรมที่ดิน จัดการให้เป็นที่ยุติว่า เอกสารสิทธิ์แปลงใดอยู่ในเขตนี้บ้าง จากนั้นก็ต้องให้กรมที่ดินออกคำสั่งตามมาตรา ๖๑ ตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบที่ดินแปลงเหล่านั้น สั่งให้คณะกรรมการนี้แจ้งเหตุผลว่าที่ดินนี้เป็นที่ดินการรถไฟด้วยเหตุผลและหลักฐานใด แล้วเปิดให้ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ คัดค้านได้ ๒ประการ คือ

๑. ท่านมีข้อโต้แย้งใดว่า ที่ดินนี้ไม่ใช่ที่ดินการรถไฟ

๒. ท่านมีข้อพิสูจน์ใดว่าตนได้ที่ดินและได้เอกสารสิทธิ์มาโดยสุจริต ไม่รู้เห็นว่าเป็นที่การรถไฟ หากถูกพิกถอนสิทธิ์แล้วจะเกิดความเสียหายรวมเป็นเท่าใด

ถาม อ้าว... อาจารย์เอาเรื่องความสุจริตเข้ามาเกี่ยวได้อย่างไรครับ

ตอบ นี่เป็นข้อพิจารณาสำคัญที่ ทั้งการรถไฟ และกรมที่ดิน และบรรดาส่วนราชการอื่น เอาแต่เถียงกันว่าที่ดินเป็นของใคร โดยไม่เคยเห็นหัว คำนึงถึงชาวบ้านที่สุจริต และเสียหายเลยทั้งๆที่ มีหลักประกันตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา ๕๑ และ ๕๒ บัญญัติไว้แล้วว่า การเพิกถอนนั้นจะต้องคำนึงถึงความสุจริตของผู้มีชื่อและประโยชน์สาธารณะประกอบกัน หากจำเป็นต้องเพิกถอนก็ต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้มีชื่อที่สุจริตนั้นด้วย

“มาตรา ๕๑ การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงิน หรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน

มาตรา ๕๒ คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๕๑ อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ แต่ผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากความเชื่อ โดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่ง ทางปกครองได้ และให้นำความในมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดย อนุโลม ”

ถาม ในที่ ๕๐๐๐ ไร่ ที่เป็นปัญหานี้ ถ้าโฉนด ๒๐๐ ไร่ ของบ้าน“ชิดชอบ”ถูกไต่สวน เขาก็ต่อสู้ว่าตนได้มาโดยสุจริตได้เช่นนั้นหรือ

ตอบ ยกขึ้นสู้ได้ทุกบ้านแหละครับ งานนี้การรถไฟทอดทิ้งไม่หวงกันอ้างสิทธิ์ใดเลยมาแต่โบราณแล้ว พึ่งมาอ้างเมื่อยี่สิบกว่าปีนี้เอง วันนี้ถ้าถามการรถไฟว่าจะเอาที่ดินไปทำอะไร มีประโยชน์ในโครงการสำคัญอะไรต่อสาธารณะ ก็ตอบไม่ได้ บอกแต่ว่า “มันเป็นของฉัน”(คิดว่าจะเอาไปให้เอกชนเช่าทำห้างสรรพสินค้าต่อไป) เท่านั้น

ผมว่าชาวบ้านที่สุจริตอ้างสิทธิตามกฎหมายข้างต้นนี้ได้แน่นอน

ถาม อ้างได้ถึงขั้นให้อธิบดีที่ดินสั่งไม่เพิกถอนได้ไหมครับ

ตอบ กรมที่ดินยังไม่เคยยอมรับคุ้มครองผู้สุจริตถึงขั้นนั้นนะครับ ที่เคยเพิกถอนมา ก็ได้แต่ใช้ค่าเสียหายกระปริบกระปรอยอยู่ทุกปี ตามงบที่เหลือจ่ายปีละไม่กี่ล้านเท่านั้น

ดังนั้น ..ใครที่จะช่วยชาวบ้านเขากระโดงจริงๆ ก็ต้องดันตรงนี้ให้ได้ว่า “ถ้าชาวบ้านสุจริตและการรถไฟไม่มีเหตุจำเป็นแล้ว กรมที่ดินจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไม่ได้ ” นี่คือช่องทางเดียวเท่านั้นที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรม และไม่มีใครติดคุก และจะยังผลให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินในกฎหมายไทย ยกระดับความน่าเชื่อถือจนมีค่ามากกว่ากระดาษชำระได้...คดีนี้แท้จริงแล้ว...คือกระโดงของระบบกฎหมายไทยครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ขอทุกฝ่ายหยุดตอบโต้ปม 'เขากระโดง' รอศาลฯตัดสินชี้ขาด 

นายอนุทิน​ ชาญ​วี​ร​กูล​ รอง​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ กล่าวถึงข้อพิพาทเรื่องพื้นที่​เขากระโดง หลัง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐ

'กรมที่ดิน' โต้ยิบการรถไฟฯ ชี้คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน 35 ราย ไม่ได้เหมารวม 5,083 ไร่

กรมที่ดินออกแถลงการณ์ว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ การรถไฟฯ เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง

'วัชระ' ไล่บี้ ป.ป.ช. เร่งสอบ 2 กรณี ทุจริตรัฐสภาใหม่-กรมที่ดินขัดคำสั่งศาลปมเขากระโดง

นายวัชระ เพชรทอง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเรื่องอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ

เปิดข้อมูลใหม่ปม 'ปมกระโดง' พิรุธแผนที่การรถไฟฯรุกสิทธิชาวบ้าน

ปมพิพาทพื้นที่บริเวณเขากระโดง กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย (มท.2) และ “กรมที่ดิน” ลงพื้นรับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และหน่วยราชการ ในพื้นที่เขากระโดงใน จังหวัดบุรีรัมย์

'อนุทิน' วอนให้ทุกฝ่ายเงียบ! รอคำสั่งศาลปกครองปมเขากระโดง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1 ) กล่าวถึงข้อพิพาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ระหว่างก

เล่น 'ภูมิใจขวาง' ซะแล้ว! 'สุริยะ' ยันมีหลักฐาน เขากระโดง 5 พันไร่เป็นที่รถไฟ

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเขากระโดง​ จังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนายทรง