รัฐบาลอย่าเสี่ยง! แจงยิบทำไม 'MOU 44' เข้าข่าย รธน. มาตรา 178

25 พ.ย. 2567 – นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 178

MOU 2544 แม้จะมีอายุ 23 ปีเต็มแล้ว กำเนิดในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านยุครัฐธรรมนูญ 2550 แต่เมื่อมาถึงยุครัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อพิจารณาแล้วเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายมาตรา 178 ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่อย่างนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญ

MOU 2544 เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสองและวรรคสาม!

ก่อนอื่น MOU 2544 ไม่ใช่แค่ “กรอบการเจรจา” เท่านั้น แม้จะใช้ชื่อว่า ”บันทึกความเข้าใจ“ แต่ก็มีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ผมไม่ได้พูดเองเออเอง แต่เป็นการยืนยันหนักแน่นในบทความทางวิชาการเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ“ โดยดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่ลงนามใน MOU 2544 ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ 92 พฤษภาคม 2554 สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

เมื่อเป็นสนธิสัญญาแล้ว ต่อไปก็ต้องดูว่าเข้าข่าย “หนังสือสัญญา” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 หรือไม่ จึงจะตอบได้ว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

ไม่ยาก เปิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 อ่านแล้วเทียบเคียง

ผมขอนำมาแจกแจงเขียนใหม่เป็นข้อๆ ให้ได้พิจารณากันชัดๆ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสอง กำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

3.หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศ อย่างกว้างขวาง

ขอให้พิจารณาหนังสือสัญญาประเภทที่ 3 เป็นหลัก

กรุณาสังเกตคำว่า “อาจ” ที่ตามหลังคำ “หนังสือสัญญาอื่นที่…” ให้ดี แล้วค่อยๆ คิดตาม

ตรงนี้แหละ Keyword ของเรื่อง!

ไม่เพียงเท่านั้น มาตรา 178 วรรคสาม ยังได้บัญญัติขยายความเพิ่มเติม “หนังสือสัญญาอื่นที่อาจ…” ในมาตรา 178 วรรคสองให้มีความชัดเจนขึ้น โดยระบุไปเลยว่าให้หมายถึงหนังสือสัญญาดังต่อไปนี้

1.การค้าเสรี

2.เขตศุลกากรร่วม

3.การให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

4.ทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน

5.อื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

บทบัญญัติที่ระบุไว้ชัดเจนอย่างนี้ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190

MOU 2544 เข้าข่ายข้อ 3 ข้อ 4 ของมาตรา 178 วรรคสามเต็มๆ ตรงๆ

ท่านที่เห็นต่างอาจจะบอกว่า MOU 2544 แม้จะเป็นสนธิสัญญา แต่ก็เป็นเพียงสนธิสัญญาว่าด้วยกรอบการเจรจาเท่านั้น ยังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย และไม่รู้ว่าจะตกลงกันได้หรือเปล่า ถ้าตกลงกันได้ก็จะต้องทำเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอีกฉบับ และต้องนำมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะมีผลใช้บังคับ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น

ก็ขอให้ท่านกลับไปอ่าน 178 วรรคสองประกอบวรรคสามใหม่อีกที แล้วถามตัวเองง่าย ๆ ดังนี้…

ถึงขั้นตอนปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่เจรจา ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่การเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 ก็ “อาจ” ทำให้ไทยต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ “บางส่วน” – ใช่หรือไม่ ?

ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติ – ใช่หรือไม่ ?

ขอบเขตสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยเดิมอยู่ที่เส้นเขตไหล่ทวีปตามประกาศพระบรมราขโองการ 2516 การที่ MOU 2544 ข้อ 2 (ก) ไปรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปตามกฤษฎีกา 2515 ของกัมพูชาเฉพาะส่วนใต้ละติจูด 11° N มาเป็นเส้นขอบเขตด้านทิศตะวันตก (ด้านซ้ายมือของเอกสารแนบท้าย) ของพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) จำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรเพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน ยังไง ๆ ท้ายที่สุดถ้าตกลงกันได้ก็แน่นอนว่าประเทศไทยเราต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติไป “บางส่วน” – ใช่หรือไม่ ??

แต่เดิมเมื่อ 51 ปีมาแล้วไทยอ้างสิทธิว่าสิทธิอธิปไตยตามประกาศพระบรมราขโองการกำหนดเขตไหล่ทวีป 2516 เป็นของไทยทั้งหมด พอ 27 ปีต่อมาไทยทำสนธิสัญญากับกัมพูชาเพื่อตกลงแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม แม้จะไม่ได้แบ่งเขตแดนทางทะเลอันจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ส่วนนี้ก็เถอะ แต่การตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ก็มีค่าเสมือนไทยเราสละสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรใต้ผืนดินใต้ทะเลอ่าวไทยในเขตที่ตกลงกันกำหนดเป็นเขตพัฒนารวมไปบางส่วน เหตุผลจะเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรืออะไรอื่นอีกก็ว่ากันไป แต่เมื่อเข้าลักษณะหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกมาบังคับใช้ภายหลัง ก็ต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วน – ใช่หรือไม่ ???

ผมไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่ว่า MOU 2544 เป็นโมฆะหรือไม่ หรือการที่รัฐบาลในอดีตเมื่อปี 2544 ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 หรือไม่

วันนี้ผมเพียงแต่กำลังบอกว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 ซึ่งออกมาบังคับใช้ภายหลัง ด้เพิ่มเงื่อนไขอื่นเข้ามาแตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้รัดกุมขึ้น รัฐบาลปัจจุบันก็ต้องปฏิบัติตาม

โดยนำ MOU 2544 มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งก็ไม่ได้ช้าหรือเสียเวลาอะไรมากมาย

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าไม่เสร็จ ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

เมื่อรัฐบาลมั่นใจว่ากรอบการเจรจาตาม MOU 2544 ถูกต้องเและหมาะสมที่สุด และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอะไรต้องเกรงเลย!

ดีเสียอีกที่รัฐบาลจะได้อาศัยเวทีรัฐสภาชี้แจงอย่างละเอียดและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก สส. และ สว. ในฐานะ “ผู้แทนปวงชนขาวไทย” ไปพร้อมกัน

ถ้ายังไม่เห็นด้วยกับมุมมองตรงไปตรงมาเหล่านี้ ก็ไม่ว่ากัน

แต่รัฐบาลอย่าทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน หากควรยื่นคำร้องในนามคณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงเลยว่า MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 หรือไม่ ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 178 วรรคห้า กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ไม่เสียเวลาเท่าไรเลย

การยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีนี้เป็นสิทธิของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น สส. , สว. หรือประชาชนทั่วไป ไม่มีสิทธิ

ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ยังมิอาจคาดการณ์ได้

แต่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา MOU 2544 ก็ยังไม่เป็นโมฆะ รัฐบาลในนามคณะรัฐมนตรีก็เพียงนำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณา และก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาจะไม่ให้ความเห็นชอบ

เราเสียเวลามาแล้วนับแต่เจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2513 ก็ 54 ปี หรือนับจากที่มี MOU 2544 ก็ 23 ปี

จะเสียอีกสัก 60 หรือ 90 วันไม่ได้หรือ ?

ปิโตรเลียมไม่หนีไปไหนหรอก !

ถ้าผ่านทั้ง 2 ด่านก็จะได้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ถ้าไม่ผ่านก็จะได้หาหนทางใหม่

นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรต้องทำเป็นลำดับแรกก่อนการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทยชุดใหม่เสียด้วยซ้ำ

ถ้ารัฐบาลยืนยัน ”2 ไม่“ กล่าวคือ

-ไม่นำ MOU 2544 ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

-ไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องนำ MOU 2544 ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่

เสี่ยงมากนะ ! เพราะอาจต้องเจอ “ไม่ที่ 3” คือไม่ได้อยู่บริหารประเทศต่อไปกันทั้งคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีโอกาสจะถูกกล่าวหาว่าจงใจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา

‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน

‘แพทองธาร’ ยันพรรคร่วมไร้ปัญหา หลังภาพ 'ทักษิณ-อนุทิน' ออกรอบตีกอล์ฟด้วยกัน

ความจริงแล้วตนและนายอนุทิน ก็คุยกันอยู่แล้ว ถึงจะมีปัญหาอะไรก็คุยกันเคลียร์กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆถึงเวลาถ้ามีอะไรก็คุย

อย่างหล่อ! ‘อนุทิน’ ปัดตีกอล์ฟเคลียร์ขัดแย้ง ‘ทักษิณ’ ยันการกระทำสำคัญกว่าคำพูด

‘อนุทิน’  ปัดตีกอล์ฟ ‘ทักษิณ’ เคลียร์ปมขัดแย้ง ยัน ‘การกระทำสำคัญ กว่าคำพูด’  ย้ำอีแอบ ไม่ได้หมายถึงตัวเอง - ภูมิใจไทยชัดเจน เพราะข้อเท็จจริงเข้าประชุมครม. 

การเมืองมกรา’68 พรรคร่วมร้อนรุ่มแตกหัก ‘ทักษิณ’ หนาวสะท้านชั้น 14

ทักษิณขยี้หนัก โชว์ภาพตีกอล์ฟขนาบข้างทุนผูกขาด ส่อสื่อสัญญาณรุก “พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ” คาดชะตากรรมไม่แตกต่าง “ประวิตร-พปชร.” ประเมินปี 68 ปมชั้น 14 ทำการเมืองร้อนแรง

สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

นักเขียนค่ายผู้จัดการ มองทางเลือก ‘ทักษิณ’ ยุบสภาล้างไพ่ใหม่ เหตุมั่นใจกระแส ’อิ๊งค์-ตัวเอง’

ทักษิณโชว์ร่วมก๊วนกอล์ฟอนุทิน โดยมีเจ้าสัวพลังงานร่วมด้วย โดยสื่อบอกว่าสยบรอยร้าว2พรรค ซึ่งจริงๆแม้ 2 พรรคจะขบเหลี่ยมทิ่มแทงกันบ้าง ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ทักษิณขู่ฟอด