'อดีตรมว.คลัง' ร่อนจม.ถึง 'รมว.คลัง' จี้ตรวจคุณสมบัติ 'โต้งไวท์ไล'

19 พ.ย.2567- นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีคลังเรื่องแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงค์ชาติ

ด่วนที่สุด

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

เรียน นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่าคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนองด้วยคะแนนเสียงข้างมาก นั้น

เนื่องจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ฯ เพื่อทำให้การทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์เป็นไปอย่างรอบคอบที่สุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑. คุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา ๑๘ (๔) และระเบียบการคัดเลือกที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ (๔) กำหนดว่าบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

นายกิตติรัตน์ฯ เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ และเพิ่งพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๗ พร้อมกับนายเศรษฐาฯ

ถึงแม้ระยะเวลายังไม่ครบหนึ่งปี แต่ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่าคณะกรรมการสรรหาฯ พิจารณาว่ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเพราะตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นข้าราชการการเมือง

๒. ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ถึงแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่เข้าข่ายเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่ทำให้ขัดด้วยคุณสมบัติ ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

๒.๑ นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งส่วนตัว แต่เป็นคำสั่งโดยอ้างอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และกำหนดให้นายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะประธานฯ ให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

และยังเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจดังระบุไว้ในคำสั่งว่า ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

๒.๒ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ยังได้แต่งตั้งนายกิตติรัตน์ฯ ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๑๖/๒๕๖๖ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยอีกด้วย เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นระบบ และเป็นธรรม

โดยคณะกรรมการนี้มีอำนาจในการเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสารให้ข้อมูล หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ การแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ฯ เป็นประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น มิใช่นายกิตติรัตน์ฯ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทั่วไปอย่างส่วนตัว แต่ในฐานะตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

๒.๓ คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องฐานะและการดำรงตำแหน่งของผู้ช่วยรัฐมนตรี เรื่องเสร็จที่ ๑๓๙/๒๕๔๗ ไว้ โดยอ้างถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) เรื่องเสร็จที่ ๔๘๑/๒๕๓๕ ในการพิจารณาตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่า

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด อันเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายให้ฝ่ายปกครอง มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบาย จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้าราชการการเมือง” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕

ดังนั้น คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” นี้ จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

และเมื่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยรัฐมนตรีในการช่วยเหลือ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่าง ๆ ของกระทรวงตามที่ได้รับมอบหมาย ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย

ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ เข้าข่าย“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วยเช่นกัน

๒.๔ เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา ๑๘ (๔) และระเบียบการคัดเลือกที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๖ (๔) ย่อมประสงค์จะให้เกิดความมั่นใจแก่สาธารณะและแก่สังคมเศรษฐกิจตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระจากการเมือง และรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงเพื่อเบี่ยงเบนนโยบายการเงินให้เป็นประโยชน์แก่พรรคการเมือง

จึงต้องตีความลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบกว้าง

ข้าพเจ้าจึงทำหนังสือฉบับนี้ให้ปรากฏเป็นหลักฐานและขอให้ท่านโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้ 'พิชัย' พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ความผิดสำเร็จ เสนอชื่อ 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัติเป็นปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ระบุว่า ไม่รอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ เพราะนั่งที่ปรึกษาของนายกฯ

'วังบางขุนพรหม' ฝุ่นตลบ! อีกหนึ่งตัวเต็งส่อวืดเสียบแทน 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดธปท.กล่าวถึงกรระแสข่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ มีความเห็นเบื้องต้นว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

เลขาฯกฤษฎีกา ยันยังไม่มีข้อสรุป ปม 'กิตติรัตน์' ประชุมพรุ่งนี้อีกรอบ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา

เลขาฯกฤษฎีกา ชิ่งตอบสื่อ ปม 'กิตติรัตน์' ไม่ผ่านคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีให้ความเห็นเรื่องนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

'กิตติรัตน์' เคลื่อนไหว! หลังไม่ผ่านคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โพสต์เฟซบุ๊กกรณีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์การดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดบระบุว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมไม่มีอะไรค้างคาใจ