'ทักษิณ' ยันพรรครัฐบาลไม่แตะ 112 เผยเคยเตือนสติ 'ธนาธร' มาแล้ว!

"ทักษิณ" เผยพรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันไม่แตะ มาตรา 112 โอดตัวเองตกเป็นเหยื่อเพราะถูกหมั่นไส้  เคยคุย "ธนาธร" ขอให้ช่วยกันทำเพื่อบ้านเมือง หากจะแก้กฎหมายควรทำทีละขั้นตอน อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดโฆษณาอันตรายกว่าสิ่งที่ตั้งใจทำ

14 พ.ย 2567 - ที่จ.อุดรธานี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้พูดบนเวทีปราศรัย ในเรื่องความเท่าเทียมและโอกาส นั้นจะเป็นการทวงคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ได้อย่างไร ว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนหลายอย่าง ที่จริงแล้วเรื่องการเมือง หลังจากการปฏิวัติ ที่ตนโดนปฏิวัติ ก็ไล่ห้ำหั่นกันในทางการเมือง และต่อมาที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดนปฏิวัติ ก็เหมือนกัน หลังจากนั้นก็ผสมโรงด้วยคนต่างๆ ซึ่งวันนี้ตนก็พูดบนเวทีและมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมที่ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย ในประเด็นมาตรา 110 และ 112 นายทักษิณ ระบุว่า คดี 112 เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัตยาบันไว้ว่าเราจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะไม่แตะเรื่อง 112 แต่จริงๆแล้วปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ตนก็เป็นเหยื่อรายหนึ่ง ในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112 คนที่รับคดีครั้งแรกบอกว่าเดี๋ยวจะหาว่าไม่จงรักภักดี ฟ้องไปก่อน ทั้งที่หลักฐานไม่มี คนที่สองไม่ฟ้องเดี๋ยวโดนอีก ก็ฟ้อง โดยที่ไม่ได้ดูความถูกต้อง ของพยานหลักฐาน จึงทำให้การจงรักภักดีและรักสถาบันไม่ถูกต้อง การจงรักภักดีที่ถูกต้อง คือการรักษากฎหมายที่เป็นธรรม นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่ก็ไม่ง่าย ในการแก้ซึ่งต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่าในสมัยหน้าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะผลักดันหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตนไม่อยากไปให้ความเห็นในเรื่องนี้ ตนไม่อยากมีบทบาท เดี๋ยวจะหาว่าเพราะคนนั้นคนนี้ ถ้าเราอยู่บนหลักการทุกอย่างมีทฤษฎี มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เนื่องจากว่าเราไปมองว่าเป็นเรื่องของพวกใครพวกมันมากกว่า มันถึงได้เป็นปัญหา ถ้าเมื่อไหร่เราจิตใจนิ่งสงบ คิดถึงหลักการเป็นหลัก ไม่คิดถึงพวกใครพวกมันก็จะดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าอะไรที่ทำให้ข้อหาไม่จงรักภักดี ใช้ได้ผลเสมอในทางการเมือง นายทักษิณ ตอบว่า “ก็การเมืองไง ดูสิ ผมนี่โดนหนักที่สุด ทั้งๆที่เป็นคนที่ถวายงานที่สุด แต่ด้วยความหมั่นไส้ เป็นเรื่องธรรมดา“

ถามว่า ในแต่ละเหตุการณ์มีบริบทเหมือนหรือต่างกัน อย่างไร ทั้งเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ,2557 จนถึงพรรคการเมืองโดนยุบเพราะมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นายทักษิณ กล่าวว่า จริงๆแล้วตนเคยคุยกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ว่าตนก็โดน 3 พรรค ต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี ดังนั้นขอให้เราช่วยทำงานให้บ้านเมือง อย่าพยายามไปรื้อโครงสร้างให้มากเกินไป ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยหลักการ และเอาบ้านเมืองให้อยู่ได้มันจะดีที่สุด อย่าไปคิดถึงสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่คนไทยเคารพนับถือ ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของสถาบัน เราต้องจรรโลงอย่างเดียว ตนไม่ได้บอกว่านายธนาธร หรือพรรคก้าวไกลไม่จงรักภักดี แต่ต้องยึดหลักให้ถูกต้อง อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดที่โฆษณามันอันตราย กว่าความตั้งใจที่จะทำ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าหากจะแก้ปัญหาโดยไม่แตะโครงสร้างจะมีวิธีการอย่างไร นายทักษิณ กล่าวว่าก็ต้องทำตามหลักการของกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่ดีก็ต้องแก้ไขกฏหมายไปที่ละขั้นตอน ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายไม่ดีต้องไม่ทำเลย เพราะกฎหมายมันมีอยู่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.อาทิตย์ หวั่นอำนาจการเมืองอยู่เหนือคำพิพากษาศาล ทำบ้านเมืองล่มสลาย!

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าระบบการเมืองปัจจุบันทำลายนิติรัฐ

อดีตบิ๊กศรภ. ชี้วันเวลาจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลง 'ระบอบทักษิณ' ได้เลย

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระบอบทักษิณไม่เคยท้อ

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

สส.รังสิมันต์ แจงเหตุกมธ.มั่นคงฯ เชิญ 'ทักษิณ' แจงปมนักโทษเทวดาชั้น 14

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึง