ด่วน! 'วันนอร์' ยกเครื่อง ออกระเบียบตั้งที่ปรึกษา กมธ.ฯ สภา หลังอื้อฉาว ใช้ตำแหน่ง ตบทรัพย์-หากิน-รีดไถ ย้ำต้องไม่เคยมีประวัติถูกลงโทษไล่ออกมาก่อน กำหนดสเปกสูงขึ้น
11 พ.ย.2567 - เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2567 มีเนื้อหาระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีค่าตอบแทน เพื่อให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีในการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนการประชุม อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และข้อ 95 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ
ประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2567”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีค่าตอบแทน พ.ศ. 2562
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ที่ปรึกษา” หมายความว่า ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมาธิการ “คณะกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร “ประธานคณะกรรมาธิการ” หมายความว่า ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ 5 คณะกรรมาธิการแต่ละคณะอาจตั้งที่ปรึกษาได้ไม่เกินยี่สิบเอ็ดคน การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในคณะกรรมาธิการในแต่ละคณะตามวรรคหนึ่ง ให้ระบุชื่อของคณะกรรมาธิการนั้นไว้ในแต่ละตำแหน่งด้วย และบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวจะดำรงตำแหน่งได้เพียงตำแหน่งเดียวและจะดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งคณะมิได้
ข้อ 6 ที่ปรึกษาต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(4) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(5) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(6) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ไม่เป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา
(8) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา หรือกฎหมายอื่น
ข้อ 7 ที่ปรึกษาจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก และเคยศึกษาหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการนั้นพอสมควร หรือ
(2) มีคุณสมบัติพิเศษ ตามที่คณะกรรมาธิการประสงค์ตามลักษณะของคณะกรรมาธิการ
แต่ละคณะ และเคยศึกษาหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการนั้นเป็นอย่างดี
ข้อ 8 ที่ปรึกษามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษา แนะนำ แสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ
ข้อ 9 ให้ประธานคณะกรรมาธิการแต่ละคณะเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 7 ตามมติคณะกรรมาธิการเป็นที่ปรึกษา โดยประธานคณะกรรมาธิการต้องให้คำรับรองว่าผู้นั้น มีประสบการณ์หรือมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานที่อยู่ในหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ทั้งนี้ ตามแบบที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนด
ข้อ 10 ให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษายื่นใบรายงานตัวตามแบบที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนด พร้อมหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(1) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลมาแสดงด้วย
(1) หลักฐานแสดงคุณวุฒิตามข้อ 7
(3) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกหรือแว่นตาสีดำ ขนาด 3 x 4 เซนติเมตร ซึ่งถ่ายมาแล้ว ไม่เกินหกเดือน จำนวน 4 รูป
(4) ใบรับรองแพทย์ซึ่งมีอายุไม่เกินหกเดือน ในกรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาเป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องมีหนังสือยินยอมจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นสังกัด แล้วแต่กรณี
ข้อ 11 ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จากหลักฐานตามข้อ 10 เมื่อเห็นว่าถูกต้องสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้มีคำสั่งตั้งผู้นั้น เป็นที่ปรึกษาตามที่เสนอและประกาศคำสั่งให้ทราบทั่วกัน การออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่ง จะให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงวันก่อนวันที่คณะกรรมาธิการมีมติไม่ได้
ข้อ 12 ที่ปรึกษาพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6 หรือข้อ 7 แล้วแต่กรณี
(5) คณะกรรมาธิการมีมติให้ออก
(6) มีการตั้งคณะกรรมาธิการใหม่แทนคณะเดิม
(7) อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ 13 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ถือเป็นเด็ดขาด
ข้อ 14 ให้ที่ปรึกษาที่ดำรงตำแหน่งตามระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีค่าตอบแทน พ.ศ. 2562 เป็นที่ปรึกษาตามระเบียบนี้
ข้อ 15 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการตามระเบียบนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในหลวง โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ 2 รูป
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์
ในหลวงโปรดสถาปนา 'พระเทพวชิรญาณ' ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
โปรดเกล้าฯ สถาปนาหน่วยทหารรักษาพระองค์และหน่วยทหารในพระองค์
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหน่วยทหารรักษาพระองค์และหน่วยทหารในพระองค์
โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ '2 จ่าสิบเอก' เป็น 'ร้อยตรี'
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร
โปรดเกล้าฯพระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร 27 นาย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระราชทานยศข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตร
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขรก.ในพระองค์ และพระราชทานยศชั้นนายพล 2 พันเอกหญิง เป็น 'พลตรีหญิง'
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารให้ดำรงตำแหน่ง และพระราชทานยศทหารชั้นนายพล