9 พ.ย.2567 - นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่บทความเรื่อง "ทางตันของ ปปช.ในคดีชั้น 14 ???" ในรูปแบบถาม-ตอบ มีเนื้อหาดังนี้
เวชระเบียนในคดี
ถาม คดีชั้น ๑๔ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือไม่ให้ทักษิณติดคุก ลำพังปากคำพยานที่ไปเยี่ยมพบ แล้วยืนยันต่อ ปปช.ว่า เขาไม่มีสภาพเจ็บป่วยเลย เพียงเท่านี้ยังไม่พอที่จะกล่าวหาหรือครับ
ตอบ ยังไม่พอครับ เขาอาจเถียงได้ว่าว่าคนเราสุขภาพเป็นอย่างไรนั้นดูด้วยสายตาไม่ได้ และโดยสภาพทางคดีแล้ว แม้ ปปช.มั่นใจว่าทักษิณไม่ป่วย ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปอีกว่าใครช่วย หมอคนไหน ราชทัณฑ์ระดับใด โยงถึงรัฐมนตรีหรือไม่ ทั้งหมดนี้ถ้าเรียกมาชี้แจงแล้วไม่มา หรือไม่บอก หรือไม่ยอมให้ข้อมูลสุขภาพจริง คดีก็จะยังสรุปถึงขั้นตั้งข้อกล่าวหาไม่ได้
ถาม บรรดาเวชระเบียนในคดี คือบันทึกการตรวจต่างๆ ทั้งในชั้นส่งตัว รับตัว และบันทึกการรักษาพยาบาลว่ามีพัฒนาการอย่างไรใน ๖ เดือน ใช้ยาอะไร รักษาอย่างไร ประเมินระดับความเจ็บป่วยจากข้อมูลใด ทั้งหมดนี้สำคัญในทางคดีไหมครับ
ตอบ สำคัญมากที่สุด มีผลชี้ขาดพฤติการณ์ช่วยเหลือได้เลยทีเดียว ได้มาเมื่อใด หมอที่แพทยสภาส่งมาร่วมไต่สวน จะอาศัยชี้ขาดได้ทันทีว่า ป่วยทิพย์หรือไม่ หนักหนาเรื้อรังถึงขั้นกลับเรือนจำไม่ได้เลยเชียวหรือ ถ้าชี้ขาดตรงนี้ได้เมื่อใด ทางจะโล่ง จนผู้เกี่ยวข้องซัดทอดกันนัวเนียแน่นอน
ถาม เห็นข่าวระบุว่า ปปช.ขอเวชระเบียนจากโรงพยาบาลตำรวจไปสามครั้งแล้ว ก็ยังไม่ได้ จนถึงวันนี้ ปปช.ก็แจ้ง ผบ.ตร.และนายกรัฐมนตรีไปแล้วด้วยว่าโรงพยาบาลขัดคำสั่งของตน แต่ทุกอย่างก็ยังหยุดนิ่งอยู่ นี่แสดงว่า ปปช.ถึงทางตันแล้วหรือครับ
ตอบ หน่วยงานเหล่านี้กำลังพยายามกอดกฎหมายสุขภาพแห่งชาติว่า เวชระเบียนจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้ป่วยคือทักษิณยินยอมเท่านั้น ข้างลูกสาวทักษิณที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับแจ้งจาก ปปช.แล้ว ก็ให้สัมภาษณ์อึกๆอักๆกอดกฎหมายเหมือนกันว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เรื่องก็เลยชะงักงันเพราะถูกทำเป็นปัญหากฎหมายอยู่จนทุกวันนี้
ปัญหากฎหมายที่ปรากฏ
ถาม สิทธิข้อมูลสุขภาพของบุคคลนี่ เป็นสิทธิพื้นฐานที่เด็ดขาดถึงขั้นที่อำนาจรัฐก้าวล่วงไม่ได้เลยเชียวหรือ
ตอบ ผมว่าหน่วยงานของรัฐเขาตีความไม่ถูกต้อง เพราะ พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล ก็ระบุชัดเจนเป็นหลักไว้แล้ว ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นความลับสำหรับอำนาจเรียกข้อมูลที่มีตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ
ครั้นจำเพาะลงมาในคดีชั้น ๑๔ นี้ ปปช.ก็มีอำนาจ ตามมาตรา ๓๐(๔) ของ พรบ.ปปช. เรียกเวชระเบียนจาก รพ.ตำรวจได้ ตัว พรบ.สุขภาพแห่งชาติเอง ในมาตรา ๗ ก็บัญญัติรับรองขึ้นต้นไว้แล้วว่า อำนาจที่มีชัดแจ้งตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ ย่อมใช้สั่งการให้เปิดเผยข้อมูลสุขภาพได้
“มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของ บุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย...”
ถาม แล้วทำไมผู้รับผิดชอบในหน่วยงานของรัฐ ถึงไม่ยอมส่งให้ ปปช.ครับ คราวรัฐมนตรียุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็เคยอ้าง พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ปฏิเสธไม่ตอบกระทู้ในสภามาครั้งหนึ่งแล้ว
ตอบ คือความในมาตรา ๗ มันมีบทบัญญัติยกเว้นไว้ตอนท้ายต่อไปด้วยครับว่า อำนาจตามกฎหมายบางอย่าง จะใช้ขอข้อมูลสุขภาพไม่ได้ ดังปรากฏความต่อท้ายที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ให้เห็นแล้วดังนี้
“ มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประกำรที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของ บุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลของส่วนราชการหรือ กฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตน ไม่ได้ ”
บทบัญญัติในส่วนข้อยกเว้น ตรงคำว่า “กฎหมายอื่น” นี่แหละครับ ที่ทางกระทรวงยุติธรรมและ รพ.ตำรวจ ยืนยันว่าหมายถึงกฎหมายทุกฉบับ สิทธิในข้อมูลสุขภาพของทักษิณจึงกลายเป็นสิทธิเด็ดขาดไปเลย ซึ่งเป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง
ถาม ไม่ถูกอย่างไร
ตอบ ก็กฎหมายขึ้นต้นเป็นหลักทั่วไปไว้ก่อนแล้วว่า ข้อมูลสุขภาพย่อมเปิดเผยได้ เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องเปิดเผย จากนั้นจึงมาบัญญัติยกเว้นอีกชั้นหนึ่งว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ใช้เรียกข้อมูลไม่ได้ ซึ่งก็คือกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการกับกฎหมายอื่น คำว่า “กฏหมายอื่น” นี้ มันไม่ใช่กฎหมายทุกฉบับนะครับ แต่ต้องหมายถึง “กฎหมายในทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ”เท่านั้น คุณจะไปตีความขยายข้อยกเว้นอย่างกว้างขวาง จนหลักทั่วไปหายไปเลยนั้นไม่ได้
ถาม แล้วกฎหมาย “ทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร” คือ ทำนองอะไรครับ
ตอบ กฎหมายรับรองให้เข้าถึงข้อมูลนั้น มันมีสองจำพวก พวกแรกมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆรองรับอยู่ เริ่มตั้งแต่ ภาระกิจของศาลต่างๆ ลงไปจนถึง ปปช.เลย ภาระกิจพวกนี้ต้องให้อำนาจไว้เพื่อให้ทำงานได้
พวกที่สองไม่มีอำนาจหน้าที่อะไร แต่เป็นความอยากรู้ของคนทั่วไป ทั้งนักร้องเรียน นักข่าว หรือนักวิจัย พวกนี้เรามี พรบ.ข้อมูลของส่วนราชการรับรองว่า มีสิทธิขอทราบข้อมูลได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายห้ามไว้
“สิทธิขอรู้เพราะอยากรู้เท่านั้น” เช่นนี้นี่เอง ที่มาตรา ๗ พรบ.สุขภาพ เห็นว่าเอามาขอรู้ข้อมูลสุขภาพไม่ได้จึงบัญญัติห้ามไว้ แต่ในภายหน้ามันอาจมีกฎหมายทำนองขอรู้โดยไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก เขาถึงบัญญัติเผื่อไว้ให้รวมถึง “กฎหมายอื่น”ด้วย ซึ่งในทางนิติวิธีก็รู้กันทั้งวงการนักกฎหมายว่าเขียนแถมท้ายอย่างนี้ มันต้องเป็นกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารเท่านั้น
ปปช.ถึงทางตัน?
ถาม เมื่อแกล้งไม่เข้าใจกันอย่างนี้ ปปช.จะมีหนทางทำอะไรต่อไปได้บ้าง ?
ตอบ ปปช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เมื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย ปปช. เรียกพยานหลักฐานและปากคำแล้ว ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ปฏิบัติตาม ถ้าฝ่ายบริหารยังสงสัยว่าทำไปแล้วตนจะผิดกฎหมาย ก็มีหน้าที่ทำความจริงให้กระจ่าง หากใช้สมองถึงระดับสูงสุดแล้วยังไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ยุติ จะกบดานกบไต๋ทำหน้าตาไม่รู้เรื่องอย่างทุกวันนี้ไม่ได้
ถาม ปปช. จะขอหมายศาลส่งเจ้าหน้าที่เข้าค้นเวชระเบียนโรงพยาบาลตำรวจ พร้อมทั้งแจ้งข้อหา ผอ.โรงพยาบาลว่าขัดขืนคำสั่ง และกล่าวหา ผบ.ตร.กับ นายกรัฐมนตรี ว่าละเว้นหน้าที่ไม่สั่งการให้หน่วยงานทำตามกฎหมาย ลุยอย่างนี้ไปเลยได้ไหมครับ ส่วนใครตีความถูกผิดอย่างไรก็ให้ไปว่ากันที่ศาล
ตอบ ต่างก็เป็นหน่วยงานตามกฎหมายเหมือนกัน ปปช.ใช้ช่องทางแจ้งผู้บังคับบัญชาให้สั่งการก่อนอย่างนี้ก็ถูกต้องแล้ว ถ้ายังนิ่งไม่ทำอะไรเหมือนทุกวันนี้ ทางการเมืองฝ่ายค้านก็ต้องยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกฯ ทางกฎหมาย ปปช.ก็ลงมือลุยได้เลย
ถาม “อนาคตใหม่” เขาเหยียบตีนกับเพื่อไทย กินน้ำข้าวยิ้มพุงปลิ้นเกาเห็บนอนใต้ถุนสภาอยู่เช่นทุกวันนี้ แล้วเราจะไปหวังอะไรได้ ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้น ใจคอเราจะให้ลูกใช้อำนาจสั่งให้หน่วยงานส่งหลักฐานสำคัญให้ ปปช.เพื่อเอาโทษพ่อ จนพ่อต้องกลับเข้าคุกเลยอย่างนั้นหรือครับ
ตอบ ตำแหน่ง“นายกรัฐมนตรี” นั้นเหมือนหัวโขน ใครเป็นนายกฯก็ต้องทำตามบทตามอำนาจหน้าที่ ไม่ใช่ทำตามสายสัมพันธ์พ่อลูก ถ้าทำไม่ได้เพราะทำไม่ลงก็ต้องลาออกไป ถ้ายังไม่ทำและไม่ลาออก ท้ายที่สุดก็จะต้องติดคุกตามพ่อไปด้วย เรื่องนี้โพยช่วยอะไรไม่ได้ มาดามจะเอายังไงก็ว่ามา เสียเวลาบ้านเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจี๊ยบ อมรัตน์ บอกเห็นภาพนี้แล้วจะอ้วก!
จากกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล จับมือกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
นายกฯ ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูน ตรวจอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ผลงานยุคทักษิณ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แวะจังหวัดพังงา ติดตามศูนย์เฝ้าระวังพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ที่หาดบางขวัญ ตำบลโคกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งในพื้นที่นี้ยังมีพะยูนอยู่โดยมีชื่อว่า
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'พิชิต' ชวนพี่น้อง 11 ม.ค.ไปแพทยสภาส่งเสียงดังๆ ถึงเวลาฉีดยาความจริง!
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)