'หมอวรงค์' ประกาศล่า 1 แสนชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก 'MOU 44'

‘ไทยภักดี’ ประกาศล่า 1 แสนรายชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก MOU 44 แนะรัฐคุยกัมพูชา ลงสัตยาบัน UNCLOS ก่อนเจรจาผลประโยชน์

8 พ.ย. 2567 – นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี แถลงข่าวที่เกาะกูด อ.เกาะกูด จ.ตราด เพื่อรณรงค์ ขอ 100,000 รายชื่อคนคลั่งชาติ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูดและสมบัติชาติ ผ่านช่องทาง https://nationalist.onrender.com โดยมี 3 ข้อเสนอคือ

1.ให้รัฐบาลยกเลิกMOU2544 โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องประโยชน์สูงสุดของประเทศ 2.รัฐบาลควรประกาศไม่ยอมรับเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่ประกาศในปี พ.ศ.2515 เพราะไม่มีหลักการทางกฏหมายทะเลระหว่างประเทศ และเป็นการอ้างสิทธิ์ที่เกินสิทธิ์ และใช้แผนที่แบ่งเขตทางทะเล เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ที่ UNCLOS ประกาศเป็นแนวทางเจรจา ถ้าต้องมีการเจรจา และ 3.รัฐบาลไทยต้องไม่ยอมแบ่งปันทรัพยากรใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ให้กัมพูชา แต่จะต้องเจรจาเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพราะถ้ามีการแบ่งปันผลประโยชน์ก่อนการเจรจาดินแดน จะนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในอนาคต

ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีป (เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล) ที่กัมพูชาประกาศขึ้น อย่างไม่มีหลักกฎหมายรองรับเมื่อปี พ.ศ.2515 เพราะเป็นเส้นที่ลากจากเขตแดนไทย-กัมพูชาทางบกหลักที่ 73 ตรงมายังเกาะกูด ซึ่งเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี ค.ศ.1907 ข้อ 2 แล้วอ้อมตัวเกาะเป็นรูปครึ่งวงกลม ก่อนจะลากตรงต่อไปกลางอ่าวไทย ก่อให้เกิดเป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรระหว่างเส้นเขตไหล่ทวีปตามอำเภอใจของกัมพูชาในปี พ.ศ.2515 กับเส้นเขตไหล่ทวีปที่ไทยประกาศในปี พ.ศ.2516 โดยยึดหลักการตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีป ค.ศ.1958 ที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ตรงไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชาตรงออกไปกลางอ่าวไทย

ดังนั้น การที่ MOU 44 ไปยอมรับการลากเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาผ่านเกาะกูด แม้เป็นการอ้างสิทธิของกัมพูชา แต่เป็นการอ้างสิทธิที่เกินสิทธิ และไม่ถูกต้อง การที่ MOU 44 ไปยอมรับการมีอยู่เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงและย้อนแย้งกับสิทธิของเกาะกูด ที่จะต้องมีเขตทะเลอาณาเขต เขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล

“ในฐานะรัฐบาลไทย ท่านไปยอมรับได้อย่างไรที่ MOU 44 ไปยอมให้เกาะกูดเหลือแต่ตัวเกาะ แต่พื้นที่โดยรอบของเกาะกูด โดยเฉพาะพื้นที่ด้านประชิดกับกัมพูชา กลายเป็นพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิ และเกิดเป็นทับซ้อน ซึ่งย้อนแย้งโดยสิ้นเชิง กับหลักเขตไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ200ไมล์ของเกาะกูด ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ นั่นคือ เฉพาะเกาะกูด ประเทศไทยจะมีแค่ตัวเกาะ ส่วนพื้นที่ทางทะเลรัฐบาลไปยอมรับว่าทับซ้อนกับทางกัมพูชา” ประธานพรรคไทยภักดี ระบุ

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตามหลักการใน MOU 44 ได้แยกพื้นที่ทับซ้อนเป็น 2 ส่วน โดยกำหนดพื้นที่ส่วนบนเหนือเส้น 11 องศาเหนือประมาณ 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นพื้นที่เจรจาเขตแดน ส่วนพื้นที่ส่วนล่าง ต่ำกว่าเส้นองศาเหนือประมาณ 16,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่หาผลประโยชน์พัฒนาร่วม โดยกำหนดให้ทั้งสองส่วนนี้จะต้องทำไปพร้อมกัน แยกส่วนไม่ได้ ซึ่งตามหลักการ ควรจะต้องเจรจาเขตแดนให้ชัดเจนเรียบร้อย ทั้งส่วนบนและส่วนล่างเสียก่อน จึงจะเป็นการปกป้องรักษาดินแดน และผลประโยชน์ของประเทศไทยที่ดีที่สุด ทำไมจึงไม่เจรจาเขตแดนให้เรียบร้อยทั้งสองส่วน การที่ MOU 44 ไปยินยอมให้มีการเจรจาผลประโยชน์พัฒนาร่วม โดยไม่สนใจเจรจาเขตแดนก่อน ย่อมมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจต้องเสียประโยชน์ด้านพลังงาน ทั้งๆ ที่ส่วนนี้น่าจะเป็นของประเทศไทยมากกว่า และนำไปสู่การเสียดินแดนทางทะเลได้ในอนาคต

“หากรัฐบาลไทยยินยอมให้มีการนำทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนมาแบ่งกับกัมพูชา ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของMOU 44 เท่ากับว่าไทยเรายอมรับการมีอยู่จริง ของเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูด ซึ่งจะสร้างความชอบธรรมให้กับกัมพูชา ถ้าหากมีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลในอนาคต ให้สามารถนำมาเป็นหลักฐาน หรือพิสูจน์ในศาลระหว่างประเทศ โดยอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ ตามกฏหมายทะเล เพื่อให้เส้นไหล่ทวีปที่ลากผ่านเกาะกูดนี้ เป็นเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาที่ถูกต้อง อันอาจนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในอนาคต” นพ.วรงค์ ระบุ

ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า แม้ในMOU 44 จะยอมให้ใช้กฏหมายระหว่างประเทศ เพื่อเจรจาเขตแดน แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) ซึ่งอาจทำให้เป็นข้ออ้างของกัมพูชา และมีอุปสรรคต่อการเจรจาเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจะเจรจาด้วยหลักการอะไร ไทยควรเรียกร้องให้กัมพูชาลงสัตยาบัน UNCLOS เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการเจรจา

“การที่รัฐบาลไทยไปยอมกัมพูชาทุกอย่าง ยอมแม้การอ้างสิทธิไหล่ทวีปอ้างเกินสิทธิ ผ่านเกาะของไทยเอง โดยหลักแล้วไม่มีประเทศไหนเขายอม ยิ่งสะท้อนว่า รัฐบาลสนใจแต่ประโยชน์ด้านพลังงาน เร่งที่จะเอา โดยไม่สนใจประโยชน์ส่วนใหญ่ควรเป็นของไทย” ประธานพรรคไทยภักดี กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรงค์' มึน 'กกต.' ปล่อยผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีบทบาทเหนือหัวหน้าพรรค

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ผมรู้สึกมึนกับกกต. ที่ปล่อยให้ผู้ถูกตัดสิทธิ์ทา

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

'ครูหยุย' แนะรัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ เป็นของขวัญวันเด็ก แทนให้คำขวัญ

'ครูหยุย' แนะรัฐบาลเปลี่ยนจากให้คำขวัญวันเด็ก เป็นมอบของขวัญที่มีค่า ประกาศเจตนารมณ์ 'ไม่โกง-ซื่อสัตย์สุจริต-ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลวงเด็ก'

กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD

กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต

ข้องใจ! 'นายกฯอิ๊งค์-บิ๊กเพื่อไทย' ทำไมขยันลงพื้นที่ภูเก็ต

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต" โดยระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

'ผู้การติ๊บ' ลุยคุมเข้มสกัดภัยคุกคามทุกรูปแบบ รักษาอธิปไตยไทย

พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ หรือ “ผู้การติ๊บ” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา 5 อำเภอชายแดน จังหวัดตาก (แม่สอด-ท่าสองยาง-พบพระ-อุ้มผาง-แม่ระมาด)