'มาริษ' ยันเจรจาพื้นที่ทับซ้อน กต.จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด!

รมว.กต.ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน - ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน – ชี้ MOU44 เป็นกลไกทำให้การเจรจาเดินหน้าได้

06 พ.ย.2567 - นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจา หากจะสำเร็จ และยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศ จะต้องให้ความเห็นชอบ ผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า เห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม้ได้ ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง

ส่วนการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่ง MOU44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่องทั้งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ พร้อมยืนยันว่า หากการเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 เพราะถือเป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา และทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100% และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสาระสำคัญ ใน MOU44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกันเพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น โดยแผนผังแนบท้าย เป็นเพียงภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเล ตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า การคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ ทั้งสองฝ่าย มีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากัน ทั้งในเรื่องเขตทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเมื่อปี 2552 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือ และรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุป เสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2557 ว่า การคง MOU44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

"ขอให้เชื่อมั่นว่า การเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศ จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด" นายมาริษยืนยัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นพดล' ยันไทยไม่เคยยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา อัด 'วรงค์' คิดเองเออเอง

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่วันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ตรรกะพิลึก! นายกฯอิ๊งค์ ยกตัวอย่างฉันไม่ถอยเธอก็ไม่ถอย 'ไทย-กัมพูชา' ก็ต้องแบ่งประโยชน์กัน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี นำกลุ่มมวลชนคนคลั่ง

'คนคลั่งชาติ' ยื่นแสนรายชื่อ จี้นายกฯ ยกเลิกMOU44 เตือนอย่าประมาทปชช.

'หมอวรงค์' นำกลุ่มคนคลั่งชาติ ยื่นกว่าแสนรายชื่อ ร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44 เตือนรัฐบาลอย่าประมาทประชาชน หากยังเดินหน้าเตรียมบุกทำเนียบฯ สงสัยทำไมตระกูลนี้ชอบยอมกัมพูชา

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน