'ศิริกัญญา' ชี้อดีตไล่ล่า 'กิตติรัตน์' สังคมกังวลนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

4 พ.ย.2567 - ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ที่วันนี้มีการเลื่อนออกไป ว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอชื่อคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนั้น จะบอกว่าการเมืองห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยว คงเป็นไปไม่ได้ ขออย่าเพิ่งตั้งแง่

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ เป็นตัวบุคคลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำในอดีตที่ผ่านมา ที่มีพฤติกรรมส่อเค้าว่าจะกระทำการแทรกแซงแบงก์ชาติ เนื่องจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพูดว่าจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติในช่วง 2554-2555 จึงกลายเป็นข้อกังวล แต่ตามกฎหมาย ผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีอำนาจที่จะแต่งตั้งกรรมการนโยบายการเงินฝั่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ซึ่งตามกระบวนการก็จะมีการเปลี่ยนหมุนเวียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่าส่วนจะมีจุดร่วมของแต่ละฝ่ายจะเลือกประธานสำเร็จหรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ท้ายที่สุดก็คงมีการตกลงกัน เมื่อเช้ามีข่าวว่าเลื่อน และจะเสนอชื่อคนอื่นขึ้นมาแทนด้วย ตนคิดว่า ท้ายที่สุดคงจะมีการทำความเข้าใจกัน และได้ตัวเลือกที่เหมาะสม

ทั้งนี้ หากคนที่อยู่ในการเมืองเข้าไปมีตำแหน่ง จะสามารถทำให้การขับเคลื่อนแบงก์ชาติเดินหน้าสอดรับกับรัฐบาลได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นคนที่มีวาระเข้าไปเพื่อนโยบายให้สอดคล้องกับรัฐบาล ก็น่าจะมีส่วนสำคัญ แต่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ได้มีอำนาจเข้าไปกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย หน้าที่ตรงนี้ยังเป็นของกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่ดี แต่ในฐานะประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีสิทธิจะกำหนดว่าใครจะเข้ามาเป็น กนง.ในรุ่นต่อๆไปด้วย

รวมไปถึงการเสนอชื่อผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป ต้องดูว่ายังสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ และคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่ และฝ่ายการเมืองเอง ก็มีแรงกดดันที่จะทำงานตอบสนองกับเป้าหมายในระยะสั้นมากกว่า ซึ่งตนคิดว่ามีส่วนสำคัญมาก ตามกฎหมายดูเหมือนจะไม่มีอำนาจอะไร แต่ถ้ากำหนด กนง.อีก 2 คนได้ ก็อาจจะเปลี่ยนเสียงข้างมากใน กนง.ได้ หรือเปลี่ยนตัวผู้ว่าแบงก์ชาติ ตรงนี้เป็นส่วนที่เราต้องจับตา

"หากคนของฝ่ายการเมืองเข้าไปจะเป็นการควบรวมและลดการตรวจสอบลงหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า แบงก์ชาติไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่มีเป้าหมายการดำเนินนโยบายที่ต่างกันกับรัฐบาล อย่างไรรัฐบาลก็ต้องดูที่ระยะสั้นอยู่แล้ว เพราะอยู่ได้เพียง 4 ปี และยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขให้กับประชาชน เขาก็มีสิทธิมองในระยะสั้นอยู่แล้ว"

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่าแต่โดยกลไกเราออกแบบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมองยาวกว่า ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครมอง นักการเมืองหรือรัฐบาลไม่สามารถที่จะมองยาวได้ เพราะก็ต้องมีการเลือกตั้งอีก ดังนั้นการที่มีหน่วยงานหรือองค์กรหนึ่งที่รักษาความอิสระ และมองไปในระยะยาวมากกว่า น่าจะทำให้เกิดสมดุลให้กับประเทศมากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเลื่อนการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาตินาทีสุดท้าย จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา มองว่าเป็นการซื้อเวลามากกว่าคงจะมีการพูดคุยตกลงกันให้เสร็จเรียบร้อย ว่าจะทำหน้าที่สบายใจกันทุกฝ่าย ไม่มีการเข้ามาแทรกแซง ในการกำหนด กนง.หรือแคนดิเดตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบอะไรเพราะตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้รักษาการทำหน้าที่ได้ต่อจนกว่าจะมีการเลือกประธานบอร์ดคนใหม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง