อดีตสว.คำนูญ ออกบทความโฉมหน้าเจ้าตัวร้าย ‘กฤษฎีกากัมพูชา1972’ รุกล้ำอธิปไตยเกาะ/น่านน้ำไทย

4 พ.ย.2567-นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสว. ออกบทความโฉมหน้าเจ้าตัวร้าย “กฤษฎีกากัมพูชา 1972” รุกล้ำอธิปไตยเกาะ/น่านน้ำไทย ! เนื้อหาระบุ

ใครที่บอกว่ากัมพูชาไม่เคย ”พูด“ อ้างกรรมสิทธิเหนือเกาะกูด และบรรดาคนไทยที่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นคือพวกคลั่งชาติ ลองพิจารณาอ่านเรื่องนี้สักนิด…

กัมพูชาอาจจะไม่เคย ”พูด“ อย่างเป็นทางการในนามรัฐบาล ไม่ว่าในยุคไหนระบอบอะไร แต่กัมพูชาลงมือ “ทำ” เลยอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเมื่อ 52 ปีก่อนในช่วงสั้น ๆ ของรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐ

และ “ผลแห่งการกระทำ” นั้นยังคงอยู่ !

“กฤษฎีกาที่ 439/72/PRK กำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย ค.ศ. 1972”

วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1972

จอมพลลอนนอลลงนามในฐานะประธานาธิบดีสาธารณรัฐกัมพูชา หลังรัฐประหารโค่นล้มระบอบกษัตริย์ 2 ปี และก่อนพนมเปญแตกพ่ายแพ้ต่อคอมมิวนิสต์เขมรแดง 3 ปี

สารัตถะสำคัญอยู่ในมาตราแรก (Article Premier) ผมสรุปมาจากที่ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์เขียนไว้ในบทความของท่านเมื่อปี 2554 รวมทั้งการเสวนาที่สยามสมาคมในปีเดียวกันนั้น

วรรคแรกเป็นการอ้างฐานทางกฎหมาย 

(1) อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยไหล่ทวีปลงวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1958

(2) สนธิสัญญาสยามฝรั่งเศสลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 และ…

(3) บันทึกการปักปันเขตแดนสยามฝรั่งเศสลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1908 รวมทั้ง…

(4) แผนที่เดินเรือของฝรั่งเศส 1972 มาตราส่วน 1:1,096,000

กฤษฎีกา 1972 ระบุพิกัดของเขตไหล่ทวีปตามจุดอ้างอิงที่เกี่ยวกับ “เกาะกูด” รวมทั้ง “ทะเลอาณาเขต(ของไทย)“ โดยตรง โดยในวรรคสอง (ย่อหน้าล่างสุดของกฤษฎีกาหน้าแรก) กล่าวว่าได้มีการปักปันเขตไหล่ทวีประหว่างไทยกับฝรั่งเศสแล้ว โดยทางทิศเหนือ ใช้เส้นตรงเชื่อมจุดชายแดนแผ่นดินที่จุด “A” (ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นที่ตั้งหลักเขตที่ 73) มายังจุดสูงสุดบนเกาะกูดที่เรียกว่าจุด “S” (ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการอ้างอิงจากหนังสือแนบท้ายสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 1) และลากต่อออกทะเลไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยที่เรียกว่าจุด “P”

โดยในตารางท้ายมาตราแรก (อยู่ตอนต้นของกฤษฎีกาหน้า 2) ได้กำหนดรายละเอียดของจุด “A“ และ “P” ไว้ จุด ”A” คือจุดใต้สุดของการแบ่งเขตแดนทางบกตามสนธิสัญญาค.ศ. 1907 ก็คือหลักเขตที่ 73 นั่นเอง จุด “P” กึ่งกลางอ่าวไทยนั้น กฤษฎีการะบุว่าเป็นจุดมัธยะ (หรือกึ่งกลาง) ระหว่างไหล่ทวีปของกัมพูชากับไทย

มาตราแรกโดยเฉพาะวรรคสองนี่แหละ “เท็จ” โดยสิ้นเชิง เพราะไม่เคยมีการปักปันเขตแดนทางทะเลระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสกันมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงค.ศ. 1907 หรือ 1908 ไม่เคยมีสนธิสัญญาเกี่ยวกับการนี้ ประวัติศาสตร์ฉบับไหนก็ไม่เคยระบุ กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลที่นานาชาติยึดถือกันเมื่อ 127 ปีก่อนก็ต่างกับปัจจุบัน ยุคนั้นยังไม่มีสิ่งที่นานาชาติกำหนดอาณาเขตทางทะเลขึ้นมาให้รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือแล้วเรียกว่า “ไหล่ทวีป” เสียด้วยซ้ำ ไม่มีเขตต่อเนื่อง ไม่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ มีแค่ทะเลอาณาเขตระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง พ้นออกมาเป็นเขตทะเลหลวงที่เป็นเขตทะเลเสรีไม่มีประเทศใดมีสิทธิถือครองเป็นเจ้าของได้

แต่สมมติแม้จะยึดกฎเกณฑ์ในยุคสมัยค.ศ. 1907 หากจะปักปันเขตแดนทางทะเลกัน การขีดเส้นแนว “A-S-P” เป็นอาณาเขตทางทะเลของอินโดจีนฝรั่งเศสก็ไม่ถูกและไม่มีกฎเกณฑ์ใดรองรับอยู่ดี เพราะระยะทางจากชายฝั่งถึงเกาะกูดประมาณ 19 ไมล์ทะเล เกิน 3 ไมล์ทะเลตั้งเยอะ อินโดจีนฝรั่งเศสจะไปถือสิทธิครอบครองเขตทะเลหลวงได้อย่างไร  การจงใจระบุพิกัดเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเมื่อค.ศ. 1972 เช่นนี้คือการกระทำที่ละเมิดอธิปไตยไทยเหนือเกาะกูด ทั้งตัวเกาะ และทะเลอาณาเขต

ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ กล่าวไว้ในงานเขียนของท่านว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการแบ่งเขตไหล่ทวีปโดยเส้นผ่าเกาะกูดซึ่งเป็นดินแดนทางบก เพราะไหล่ทวีปหมายถึงพื้นดินใต้ทะเลและใต้พื้นดินใต้ทะเล ดังนั้น โอกาสที่แนว “A-S-P” จะถูกต้องมีอยู่เงื่อนไขเดียวเท่านั้น…คือตัวเกาะกูดต้องเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่ง !

ขอย้ำอีกครั้งว่า แนว “A-S-P” อันเป็นเส้นเขตไหล่ทวีปด้านเหนือของกัมพูชาตามกฤษฎีกา 1972 จะถูกต้องก็ต่อเมื่อตัวเกาะกูดเป็นของกัมพูชาครึ่งหนึ่งเท่านั้น !!

แล้วประเทศไทยผู้ถูกรุกล้ำอธิปไตยจะ “ยอมรับ” ได้อย่างไร ?

แม้จะไม่ใช่การยอมรับใน “ความถูกต้อง” แค่ยอมรับ “การมีอยู่”, “การคงอยู่” เพื่อเป็นเพียง “กรอบ” ในการ “เจรจาเรื่องอื่น” ก็เถอะ !!

ตรงนี้จำเป็นต้องมีการพูดถึงแผนที่หรือแผนผัง 2 (+1) ฉบับที่นำมาลงเป็นภาพประกอบไว้

ฉบับที่ 1 คือแผนที่เดินเรือฝรั่งเศสที่ใช้แนบท้ายกฤษฎีกา 1972 ไม่ได้มีการเขียนลากเส้นบนแผนที่พาดผ่านตัวเกาะกูดโดยตรง หากแต่ลากเป็นเส้นตรงออกมาจากชายฝั่งทะเลจังหวัดตราดสุดเขตแดนทางบกของไทยกับกัมพูชามาหยุดที่ตัวเกาะกูดด้านทิศตะวันออก แล้วลากเส้นตรงใหม่จากตัวเกาะกูดด้านทิศตะวันตกตรงไปกลางอ่าวไทย แผนที่ทำนองนี้โดยทั่วไปเป็นแผนที่ใช้สำหรับกิจการในกองทัพเรือรวมถึงการเดินเรือไม่ใช่แผนที่แสดงเขตแดนใด ๆ ทั้งสิ้น เส้นตรงที่ลากผ่านเกาะกูดไปยังกลางอ่าวไทยในแผนที่นี้ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นเส้นอะไร แต่กระนั้นตรงชื่อเกาะกูด (Koh Kut) ก็ยังมีวงเล็บต่อท้ายว่า “(Siam)” อย่างที่พอเห็นได้ จึงแสดงให้เห็นว่าในปีค.ศ. 1907 จนกระทั่งถึงวันคืนเอกราชให้ 3 ประเทศอินโดจีน ฝรั่งเศสไม่ได้มีความพยายาม “เคลม” กรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูดแต่ประการใด เพราะในสนธิสัญญา 1907 ข้อ 2 อันเป็นสัญญาหลัก ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเขายกให้เรา แลกกับ 3 มณฑลใหญ่ของกัมพูชาดังที่ทราบกันดี

ฉบับที่ 2 เป็นแผนที่ที่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาจัดทำขึ้นแจกแก่ผู้สื่อข่าวเพื่อชี้แจงกฤษฎีกา 1972 ให้ชัดเจนขึ้น คราวนี้นอกจากตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อขับเน้นเฉพาะเส้นที่เสกสรรค์ปั้นแต่งว่าเป็นเขตไหล่ทวีปของตนแล้ว ยังเขียนเส้นพาดผ่านผ่ากลางแบ่งครึ่งเกาะกูดโดยตรง

แผนที่ฉบับหลังนี้เข้าใจว่าเมื่อกระทรวงการต่างประเทศไทยได้รับ ก็นำมาทำใหม่เพื่อประกอบการศึกษาภายใน มีภาษาไทยกำกับ ยังคงแสดงเส้นพาดผ่านผ่ากลางแบ่งครึ่งเกาะกูดโดยตรงตามเจตนาของต้นฉบับที่ฝ่ายกันพูชาจัดทำ

เช่นนี้แล้ว ใครที่ออกตัวรับรองว่ากัมพูชาไม่เคย “พูด” ไม่เคยอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดน่ะจะว่าอย่างไร ? เพราะการที่กัมพูชาลงมือ “ทำ” โดยกฤษฎีกา 1972 ตามที่เล่ามานี้มันยิ่งกว่า “พูด” เสียอีก ! ไม่เคยได้ยินภาษิตที่ว่า “การกระทำดังกว่าคำพูด” หรือ ?!!

ณ ปีค.ศ. 1907 มีแต่การปักปันเขตแดนทางบกระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส แต่แน่ละ มีการกล่าวถึงเกาะกูดไว้ในหนังสือติดท้ายสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ข้อ 1 จริง แต่ก็เพียงเพื่อใช้เป็นจุดเล็งไปยังจุดใดจุดหนึ่งบนแผ่นดินชายหาดที่จะกำหนดให้ป็นหลักเขตที่ 73 เพราะบนแผ่นดินชายหาดบริเวณนั้นไม่มีภูมิประเทศใดที่ยั่งยืนพอให้เป็นที่สังเกตได้

“เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามกับยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวาน….“

แค่ข้อความที่ระบุว่า “ตั้งแต่ชายทะเล…” วิญญูชนย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงแผ่นดิน-ไม่ใช่ทะเล แต่กัมพูชาในยุคจอมพลลอนนอลในปีค.ศ. 1972 ไปตีขลุมว่ามีการปักปันเขตแดนทางทะเลแล้วในอดีต แล้วก็ตีเส้นตามอำเภอใจ เพื่อตีกินพื้นที่ทรัพยากรในอ่าวไทย

โดยในอีกทางหนึ่งก็ไปหยิบเอา ”เส้นประ“ (- - - - - - -) ระหว่างเกาะกูดกับแผ่นดินชายหาดจังหวัดตราดในแผนที่ประกอบหนังสือติดท้ายสนธิสัญญาค.ศ. 1907 มาเป็นประเด็นอธิบายการแถระดับโลกของตัวเอง

หากดูภาพสุดท้ายจะพบมีเส้น ++++++ อันเป็นสัญลักษณ์สากลของเส้นแบ่งเขตแดน (boundary line) ตลอดแนวเขตแดนทางบกไทยกัมพูชา ขณะที่เส้นประ (dotted line) - - - - - - มีอยู่เพียงสั้น ๆ ระหว่างเกาะกูดกับแผ่นดินชายทะเลจังหวัดตราดเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูในบริบทของสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 วิญญูชนก็ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่าเป็นการแสดงจุดเล็งไปยังแผ่นดินเพื่อหาจุดที่ตั้งหลักเขตที่ 73

การแถดังกล่าวกลายเป็นกรณีศึกษาทางวิชาการกันพอสมควรหลังปีค.ศ. 1972 และก็มีการยืนยันในข้อเท็จจริงแล้วอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากบุคคลระดับชนชั้นนำของกัมพูชาเอง

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่ากฤษฎีกา 1972 ของกัมพูชานี้ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นประกาศของประมุขแห่งรัฐ

การที่แผนผังแนบท้าย MOU 2544 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือเส้นแนว “A-S-P” กำหนดเขตไหล่ทวีปด้านบนของกัมพูชาไม่ได้เขียนแบบลากพาดผ่าน หรือเขียนแบบหยุดเว้นตัวเกาะ แต่เขียนประชิดติดตัวเกาะเว้าเป็นรูปตัว ”U” ทางทิศใต้แล้วก็ตาม นั่นหาเป็นผลแปรเปลี่ยนใด ๆ ไม่ เพราะด้านหนึ่งตัวกฤษฎีกา 1972 ยังคงอยู่ อีกด้านหนึ่งแนวเส้น “A-S-P” ยังคงอยู่ การละเมิดอธิปไตยเหนือตัวเกาะกูดและทะเลอาณาเขตของไทยยังคงอยู่

มิหนำซ้ำเนื้อหาใน MOU 2544 ข้อ 5 ก็ระบุไว้ว่าการตกลงใด ๆ หากจะมีขึ้นไม่กระทบกระเทือนการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่าย

พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยจังหวัดจันทบุรีและตราดในองค์พระปิยมหาราชเจ้าช่วงวิกฤตกับฝรั่งเศสระหว่าง ร.ศ. 112 - 125 ทำให้ประเทศไทย ณ วันนี้มีฝั่งทะเลตะวันออกด้านอ่าวไทยยาวเหยียดจนแทบจะโอบล้อมแหล่งทรัพยากรไว้ได้ทั้งหมด - คนไทยต้องรักษาไว้

ประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 ของล้นเกล้าฯในหลวงรัชกาลที่ 9 สืบทอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระอัยกา - คนไทยต้องรักษาไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘คำนูณ’ ยันแก้ รธน. มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ ต้องมีประชามติ สอบถาม ปชช.ก่อน

จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่าทำได้ แต่จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน

หลักฐานชัด มั่นใจ 'ป.ป.ช.' ชี้มูลตั้งไต่สวนฟัน ‘รมต.-ราชทัณฑ์-รพ.ตร.’ เอื้อป่วยทิพย์ชั้น14

อดีตสว.เชื่อมั่น มติป.ป.ช.ชี้คดีมีมูลตั้งไต่สวนดำเนินคดีเอาผิด รมต.ขรก.ราชทัณฑ์ รพ.ตร.เอื้อ คดีป่วยทิพย์ชั้น14

อดีต สว. เผยความจริง 4 ข้อเรื่อง MOU 44 ได้พิสูจน์ให้คนไทยเห็นความจริงที่น่าเศร้า

ดร.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (อดีต สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า MOU 2544 ได้พิสูจน์ให้คนไทยเห็นความจริงที่น่าเศร้า”

อดีตสส.-สว. เฮ! เพิ่มเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพ จากเดิม 5 พัน เป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ว่าด้วยการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน การอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน การจ่ายเงิน การจัดหา

เป็นเรื่อง! เพจอาเซียน โชว์หราแผนที่ดินแดนทางทะเล เหมือนของกัมพูชาใน MOU44 เป๊ะ

เพจ ASEAN Megacity ซึ่งมีผู้ติดตามในอาเซียนประมาณ 2 พันคน ได้แชร์ภาพแผนที่ประเทศย่านอาเซียน พร้อมระบุข้อความว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ