'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

1 พ.ย. 2567 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีความขัดแย้งกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อย่างชัดแจ้ง เริ่มตั้งแต่ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบาย digital wallet อย่างเปิดเผย และเนื่องจากนายเศรษฐาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งผู้ว่าฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม นายเศรษฐาพยายามกดดันด้วยวิธีการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในการแสดงปาฐกถาในการประชุมใญ่ของพรรคเพื่อไทย ยังได้กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร การกดดันผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังตำหนิว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ดูแลค่าเงินบาทให้ดี เพราะค่าเงินบาทแข็ง ทำให้เป็นผลเสียต่อผู้ส่งออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ถึงกับพูดถึงผู้ว่าฯออกสื่อมวลชนว่า “ผมไม่รู้ว่าท่านจบจากที่ไหนนะฮะ …….. ท่านพูดเหมือนกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง”

ต่อมาเมื่อจะต้องมีการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนคนเดิมที่หมดวาระ ก็มีข่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธาน คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มีคุณสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน มีข้อสังเกตว่า ในคณะกรรมการสรรหา ไม่มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการด้วยเช่นในอดีต

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเช่นกันว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในขณะที่เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เคยโพสต์ข้อความโจมตี ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายครั้ง และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เคยขัดแย้งกับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น ซึ่งไม่ยอมทำตามความต้องการของรัฐบาล ถึงกับเคยปรารภว่า ถ้าปลดผู้ว่าฯได้ก็คงปลดไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงคัดค้านอย่างมาก ศิษย์ของหลวงตามหาบัว ได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลเพื่อคัดค้านการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่ไว้วางใจ เพราะหลวงตาได้นำทองคำที่ได้จากการจัดทอดผ้าป่าช่วยชาติ มามอบให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนมากกว่า 1 ตัน ในการประชุมครั้งแรก กรรมการสรรหาจึงเลื่อนการลงมติเลือกประธานออกไปก่อน

ในขณะเดียวกัน ก่อนหน้านั้นยังมีข่าวว่า นายกิตติรัตน์ มีคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล คือกรณีเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยปล่อยปละละเลยให้มีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทสยามอินดิก้า เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายข้าวกับองค์การคลังสินค้า เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าวและส่งมอบให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซียหรือ BULOG โดยไม่จัดให้มีการแข่งขันกับผู้เสนอราคารายอื่น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้อุทธรณ์ จึงมีหนังสือไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดว่ามีความประสงค์จะขออุทธรณ์ แต่ขณะนี้อัยการสูงสุดยังไม่ได้ตัดสินว่าจะอุทธรณ์ตามความประสงค์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ แน่นอนว่าการตัดสินใจของอัยการสูงสุดย่อมมีผลต่อความชอบธรรมที่จะเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดวันประชุมครั้งต่อไปเป็นวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อมี 3 ราย คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายกุลิศ สมบัติศิริ และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์

วันที่ 30 ต.ค. 67 ได้มีกลุ่มนักวิชาการที่มีชื่อว่า “กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม” ได้รวบรวมรายชื่อนักวิชาการหลายสาขา แต่ส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์รวม 227 คน ร่วมลงชื่อในหนังสือเพื่อคัดค้านไม่ให้การเมืองแทรกแซงหรือครอบงำการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ที่ร่วมลงชื่อมีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน คือ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส และดร.วิรไท สันติประภพ และยังมีอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 4 คนอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นห่วงว่า การแทรกแซงของฝ่ายการเมือง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจนไม่สามารถแก้ไขได้

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้โดยเลขาธิการพรรค แทนที่จะให้ความมั่นใจกับกลุ่มนักวิชาการว่า จะไม่มีการแทรกแซงหรือครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่กลับให้ความเห็นว่า นายกิตติรัตน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค และไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อันเป็นการบอกว่า ฉันยังคงจะเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ดี ไม่ได้ฟังคำเตือนของนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และนักวิชาการชั้นนำในสาขาอื่นๆ ของประเทศถึง 227 คนเลยแม้แต่น้อย นักการเมืองเหล่านี้ทำงานเพื่อใครกันแน่

ไม่ทราบว่า คนไทยลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมืองแบบนี้มาให้ปกครองประเทศได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้

เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ

เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน

'ชูศักดิ์' บอกรู้ตั้งแต่เห็นคำร้อง 'ธีรยุทธ' ไปไม่ได้ เหตุไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างปกครอง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา