'ฝ่ายค้าน' ขวางรัฐบาลเร่งเจรจาเชิงพาณิชย์ โดยไม่พิจารณาการทับซ้อนเขตแดนทางทะเล

30 ต.ค.2567- นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาแสดงความเห็น ระบุ ไทยสามารถเจรจาหาประโยชน์ร่วมกันในทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อน อ่าวไทยกับกัมพูชา โดยไม่ต้องพิจารณาถึงการทับซ้อนของเขตแดนทางทะเล ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนายภูมิธรรม เพราะ เอ็มโอยูระหว่างไทยและกับพูชา ที่ลงนามในปีพศ. 2544 ได้มีข้อตกลงไว้ชัดเจนว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลทับซ้อนและการเจรจาร่วมพัฒนาทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว ไม่สามารถแบ่งการเจรจาทีละเรื่องได้ อีกทั้งปัญหาเรื่องเขตแดน ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ก็เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง

นายจุลพงศ์ ชี้ว่า เอ็มโอยูปี 2544 ได้มีการแบ่งพื้นที่ข้อพิพาทในอ่าวไทยออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนพื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้น 11 ละติจูดองศาเหนือขึ้นไปให้แบ่งเขตทางทะเลชัดเจน ส่วนพื้นที่ทับซ้อนใต้เส้น 11 ละติจูดองศาเหนือลงมา ให้มีการพัฒนาร่วมกัน เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต

แต่หลังจากที่มีการลงนามในเอ็มโอยูปี 2544 แล้ว การเจรจาเพื่อการพัฒนาร่วมกันไม่คืบหน้า อีกทั้งมีกระแสคัดค้านจากประชาชนหลายส่วนในประเทศไทย เนื่องจากมีการอ้างถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า การกระทำของรัฐหนึ่งไม่มีผลผูกพันอีกรัฐหนึ่ง ซึ่งในกรณีเขตแดนทางทะเลของไทยและกัมพูชา การประกาศเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชาที่พาดผ่านกลางเกาะกูด ถือว่าไม่ผูกพันประเทศไทย

นายจุลพงศ์ จึงขอเสนอแนวทางออก 2 ทางให้แก่รัฐบาล โดยรัฐบาลสามารถทำไปพร้อมๆ กัน ดังนี้ ทางแรกคือ การที่รัฐบาลไทยเปิดเผยแนวทางของการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยให้ประชาชนไทยได้ทราบ อย่าไปแอบเจรจากับกัมพูชาเงียบๆ การเปิดเผยแนวทางก็เช่น รูปแบบที่จะทำความตกลงการพัฒนากับฝ่ายกัมพูชา สัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ องค์กรที่จะแสวงหาประโยชน์ร่วมกับข้อตกลงเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ ข้อตกลงเกี่ยวกับการเงินและภาษี กฎหมายที่จะใช้บังคับในพื้นที่พัฒนาร่วม และระยะเวลาของข้อตกลง และเมื่อมีการเจรจาทำข้อตกลงแล้ว จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และมีการออกกฎหมายภายในที่จะต้องดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ลำพังการเจรจาพัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ทับซ้อนอย่างเดียวจะเกิดกระแสต่อต้านในประเทศในเรื่องเขตแดนทางทะเลได้ และการเจรจาเขตแดนก็ทำได้ยาก ดังนั้น แนวทางที่สองคือการให้ศาลหรือตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ตัดสินเขตไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันอยู่

โดยศาลหรือตุลาการระหว่างประเทศที่ควรมีบทบาทในการตัดสินมีถึง 3 องค์กรคือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศและคณะตุลาการตามภาคผนวกของอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล คศ. 1982

ในกรณีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่ได้รับรองเขตอำนาจศาลนี้ กรณีของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ประเทศไทยเป็นภาคี แต่กัมพูชาไม่ได้เป็นภาคีจึงไม่ยอมรับอำนาจของศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ องค์กรที่สามที่น่าจะเป็นทางออกให้ทั้งไทยและกัมพูชา คือคณะตุลาการตามภาคผนวกของอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล โดยไทยและกัมพูชาอาจร่วมกันเสนอข้อพิพาทระหว่างกันในเขตแดนทางทะเลให้คณะตุลาการนี้เป็นผู้พิจารณา และหากคณะตุลาการพิจารณาออกมาว่ามีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณใด ก็ใช้ข้อตกลงการพัฒนาร่วมกันตามแนวทางแรกมาใช้

"ผมขอแสดงความไม่เห็นด้วยอีกครั้ง ต่อการที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาการพัฒนาแต่เชิงพาณิชย์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชาอย่างเดียว โดยไม่นำเรื่องเขตแดนทางทะเลมาพิจารณาพร้อมกันไปด้วย ไม่ใช่เพราะคลั่งชาติ แต่เป็นเพราะความหวาดระแวงของประชาชนในเรื่องผลประโยชน์ซ้ำซ้อนที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านภายในประเทศจนถึงขนาดทำให้รัฐบาลต้องล้มได้แล้ว และอาจจะนำไปสู่ความเพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้เรื่องเขตแดนทางทะเลหากมีข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลเกิดขึ้นในอนาคตดังถ้าไม่แก้ปัญหาเสียตั้งแต่ต้น ดังเช่นกรณีที่ไทยเคยแพ้คดีแก่กัมพูชาเมื่อหกสิบกว่าปีก่อนโดยเหตุผลหนึ่งที่ศาลโลกยกขึ้นมาคือการยืนเคารพธงชาติกัมพูชาบนพื้นที่พิพาทบนเขาพระวิหาร" นายจุลพงศ์ ทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบเทอม 4 ปีแน่!

'ภูมิธรรม' มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี เชื่อปี 68 ไม่มีเหตุวุ่นวายนำสู่รัฐประหาร ชี้ ปชต.ไม่ควรสะดุดขาดตอน ย้ำสัมพันธ์ทหารดีมาก มอง 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทยธรรมดาของคนอยู่ ตปท.

'นพดล' ฟังทางนี้! 'หมอวรงค์' จับโป๊ะ คำชี้แจง 'MOU 44'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ถึงนพดล ปัทมะ" โดยระบุว่า คำพูดของนายนพดล ปัทมะ ที่ชี้แจงพันธมิตรฯ เรื่อง MOU 44

จี้รัฐบาลประท้วงกัมพูชา

"สนธิรัตน์" นำทีมพลังประชารัฐลงพื้นที่ตราด "ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชี้อันตรายมาก แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ก

พปชร. ลงตราด ชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมคัดค้าน MOU 44

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบาย และวิชาการ และ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด โดยได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่

‘ภูมิธรรม’ ชี้ 3 เดือนน้อยไป ประเมินปชช.ไม่เชื่อมั่นผลงานรัฐบาล ลั่นรอดูปีหน้ามาแน่

ปีหน้า ขอให้ประชาชนรอดูผลงาน ซึ่งจะมีผลงานดีๆออกมาอีกมาก เชื่อว่า ปีหน้าจะเป็นปีในการเริ่มต้นสร้างโอกาสตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้