'จาตุรนต์' แจงอดีตนายกฯทักษิณ ขอโทษถึง 2 ครั้งต่อเหตุการณ์ตากใบ

25 ต.ค.2567 - ที่รัฐสภา ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หารือญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง คดีตากใบจะหมดอายุความในวันนี้ เวลา 24.00 น. ซึ่งนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอ

เวลา 12.40 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเองพูดในฐานะทั้งที่เป็น สส. คนหนึ่ง และเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั้น ขอชี้แจงกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ตั้งคำถามว่า ในขณะนั้นที่มีการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งนายกรัฐมนตรี และแม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือไม่

โดย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หากไปดูย้อนหลังนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้พูดขอโทษถึง 2 ครั้ง ขอโทษถึงการสั่งการในการใช้กำลังกับฝูงชนที่อาจจะแรงเกินไป และครั้งที่สอง พูดถึงการขนคนที่ไม่ทราบเลยว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงและขอโทษต่อประชาชนไปแล้ว

ส่วนในรัฐบาลนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอโทษต่อประชาชนในเหตุการณ์ตากใบ ถือเป็นเรื่องดีต่อการเริ่มต้นในการแก้ปัญหา ถือเป็นการลดความรู้สึกผิดหวังความรู้สึกไม่สบายใจของพี่น้องประชาชนลงไปได้บ้าง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในฐานะประธาน กมธ. ได้คุยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ทำนโยบายเสนอ และ สมช. ทำเสร็จแล้ว กำลังจะเสนอ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อนัดพูดคุยกัน และเชื่อว่าเรื่องนโยบายในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมาก และที่เราจะเสนอคือการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์นโยบายในการแก้ไขปัญหาที่น่าจะเปลี่ยนแปลงจากที่เคยทำกันมา

นายจาตุรนต์ อภิปรายต่อว่า เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจประชาชนอย่างมาก การเสียชีวิตของ 78 คน ขณะขนคน ไม่อยากคิดได้เลยว่าจะทำได้อย่างไร และยังมีอีก 7 คนที่ถูกทำให้เสียชีวิตก่อน ซึ่งมีผู้ที่ถูกยิงที่ศรีษะถึง 5 คน ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ต่อมาต้องมีการขอโทษ เยียวยาอย่างจริงจัง

นายจาตุรนต์ ยืนยันว่า แน่นอนว่าการเยียวยาที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ เพราะเป็นบาดแผลที่ใจ เรื่องนี้เงียบไประยะหนึ่ง เนื่องจากว่ามีเรื่องไปสู่ศาลแล้ว ศาลวินิจฉัยว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการขาดการหายใจ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ ตนเองเคยเกี่ยวข้องกับ สถานการณ์ทางภาคใต้หลายโอกาส ก็รู้สึกสลดใจดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะจบไปโดยที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย หากถามว่าทำไมมาเป็นเรื่องตอนนี้เพราะมีการมารื้อคดีเมื่อปี 2566

นายจาตุรนต์ ระบุว่า เมื่อเกิดการฟ้องร้องอย่างนี้ ก็เป็นความหวังของประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นบาดแผลระทมขมขื่นมานาน หรือบางคนอาจโกรธแค้นมานาน หวังว่าจะได้ความยุติธรรมจากรัฐ ซึ่งปรากฏว่า คดีจะหมดอายุความในเที่ยงคืนนี้ แต่ไม่มีใครขึ้นสู่ศาลเลยแม้แต่คนเดียว ก็เป็นความผิดหวังอย่างร้ายแรง และอาจนำไปสู่ความรู้สึกโกรธแค้นอีกหลายหลายอย่าง เนื่องจากว่าไม่สามารถพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้

นายจาตุรนต์ ระบุต่อว่า ที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะหมดไป ซึ่งทาง สมช. จัดเตรียมมาตรการ เพราะเหตุการณ์ลุกลามบานปลายไปได้ มีการเฝ้าระวังพื้นที่เข้มข้นมากขึ้นกำชับห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องหา มีการเยียวยามากกว่าที่เคยทำมาก่อน และเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่แค่นั้นยังไม่พอ คงต้องมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ และยังกำชับไปยังแม่ทัพภาค 4 ว่าไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปคุกคามต่อผู้ฟ้องในเหตุการณ์ตากใบ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไปเยี่ยมไปพบผู้ที่ฟ้องเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งดูจะเป็นการคุกคามมากกว่า และยังพูดถึงการเยียวยาเพิ่มเติม และพูดถึงให้ทุกฝ่ายละเว้นเรื่องความรุนแรง

นอกจากนี้ คดีตากใบเป็นคดีที่ร้ายแรง และใหญ่มาก แต่ปัญหาในชายแดนใต้ยังมีมากกว่านั้น ตนเองเห็นด้วยกับสมาชิกหลายท่าน ที่จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ทั้งที่เป็นพื้นฐานความขัดแย้งทั้งหลาย ลดเงื่อนไขความขัดแย้งมากที่สุด และหาทางแก้ปัญหาหลักให้ได้ ซึ่งองค์กรที่ดูแล มี 3 องค์กรหลัก โดยมีกฎหมาย 3 ฉบับ ที่มีไว้ใช้ในภาวะศึกสงคราม และเป็นกฎหมายที่ใช้เมื่อไหร่ จะไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป ก็ไม่มีทางที่จะเกิดสันติสุขสันติภาพในชายแดนใต้

ดังนั้น ต้องให้พื้นที่แสดงออกทางการเมือง ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุข ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การเคารพอัตลักษณ์อย่างจริงจัง มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในการรับมือกับสถานการณ์ชายแดนใต้ ให้ประชาชนทุกพื้นที่จากทุกภาคส่วน ทุกเชื้อชาติ ศาสนาวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมกันเป็นเจ้าของพื้นที่ และร่วมกันเป็นเจ้าของประเทศไทย กำหนดความปลอดภัยของบ้านเมืองของเขาเอง และกำหนดความเป็นไปของประเทศไทยร่วมกัน หากเราทำได้ถึงขั้นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา จะร่วมกันช่วยกันพัฒนาจังหวัด เพื่อที่ประโยชน์ประโยชน์ของเขาเอง และลูกหลาน ประชาชนเหล่านี้ จะช่วยกันป้องกันความไม่สงบ สร้างสันติสุขสันติภาพให้เกิดขึ้น เราควรมาร่วมกันทำในยุคนี้ และสมัยนี้และหวังว่าอีกไม่นาน จะเกิดสันติภาพและสันติสุขในชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

ต่อมา นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองรับฟังการชี้แจงของท่าน แต่ยืนยันว่ามีคนอีกจำนวนมากที่สงสัยเหมือนที่ตนเองสงสัยว่าระยะเวลา ในการขนคนที่ใช้เวลานานขนาดนั้นว่าไม่รู้จริง ๆ ได้อย่างไร แต่ถ้าไม่รู้จริง ๆ ก็เป็นความผิดพลาดของระบบบางอย่างที่เกิดขึ้น และควรคิดอย่างจริงจังว่าจะป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้อย่างไร เพราะสุดท้ายเชื่อว่า ไม่ว่ารัฐบาล หรือฝ่ายค้าน เราไม่อยากสร้างความรู้สึกให้พี่น้องประชาชนรู้สึกว่า ไม่ใช่ไม่รู้ แต่คือความไม่สนใจ

นายรังสิมันต์ ยังเสนอถึงทางออกของปัญหา คือการร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ เราใช้กฎหมายพิเศษมาเป็นเวลานานแล้ว และสุดท้ายไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เชื้อไฟยังคงอยู่ การช่วยกันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้สภาได้รู้ว่าการใช้กฎหมายพิเศษ ต้องมีแผน และวิธีการ และจะทำให้ สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน สามารถนำเสนอความคิดความรู้สึกของประชาชนไปสู่แผนความมั่นคงได้นี่คือทางออก ดังนั้น ถ้าร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา อยากขอร้องให้นายจาตุรนต์ พูดคุยกันภายในพรรค ว่าช่วยกันผ่านกฎหมายฉบับนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับตนเอง แล้วจะเสนอมาก็จะเป็นทางออกได้ แล้วค่อยทยอยยกเลิกกฎหมายพิเศษต่อไป เชื่อว่าสถานการณ์ชายแดนใต้จะดีขึ้น

จากนั้น นายจาตุรนต์ ชี้แจงอีกว่า เหตุการณ์วันนั้น ข้อต่อสำคัญคือแม่ทัพภาค 4 ที่มีการรายงานนายกรัฐมนตรี หากไปดูคำชี้แจงแถลงข่าวของแม่ทัพภาค 4 ในช่วงเหตุการณ์ ท่านไม่อยู่ในเหตุการณ์เพราะถูกเรียกตัวไปที่ไหนสักที่ ด้วยเหตุจำเป็นจริง ๆ ดังนั้น ในเมื่อแม่ทัพภาค 4 ไม่รู้ ก็เป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรี จะไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้วท่านก็ตกใจมาก และได้ขอโทษในเวลาต่อมา ดังนั้น เรื่องเหตุการณ์ในชายแดนใต้ อาจจะไม่มีประโยชน์มากนัก ที่จะมาไล่ดูว่ารัฐบาลใดทำอย่างไร ปัญหานี้เป็นปัญหาของรัฐไทย ที่ว่ามีความรู้พอหรือไม่ มีความรู้อย่างเหมาะสมหรือไม่ว่าจะดูแลพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ไหนในประเทศไทยเลย จึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ส่วนเรื่องกฎหมายที่นายรังสิมันต์ จะเสนอ และฝากให้ตนเองช่วยประสานพูดคุยนั้น ทาง สมช. เตรียมร่างกฎหมายเฉพาะขึ้นมา หวังจะมาใช้แทนกฎหมายด้านความมั่นคงที่ใช้อยู่ และคณะกรรมธิการฯ ก็มีการพิจารณาว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับที่ใช้กันอยู่ ต้องมีการวางแผนอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อลด ละ เลิก ใช้ไปในที่สุดเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเมืองมีสันติสุข มีสันติภาพ หากสันติสุขใช้กฎอัยการศึกอยู่ จะใช้กฎหมายความมั่นคง และใช้กองทัพอยู่ และเที่ยวไปบอกว่าอย่าใช้คำว่าเจรจา เพราะเดี๋ยวจะเหมือนสงครามระหว่างประเทศ แต่จริง ๆ แล้ว ใช้กำลังทหารกับกฎอัยการอยู่ มันไม่เข้ากันอยู่แล้ว เรามีการเตรียมเสนออยู่ และถ้านายรังสิมันต์ จะเสนอ ตนเองก็ยินดีที่จะพิจารณา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดีตากใบ หมดอายุความ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด กับผลการเมืองระหว่างประเทศ

ชื่อ "จักรภพ เพ็ญแข" คงไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากว่าเป็นใคร มาจากไหน มีบทบาททางการเมืองอย่างไรในช่วงที่ผ่านมา เพราะชื่อนี้ถือเป็นคนดังในแวดวงการเมืองอยู่แล้ว

เตือน! นราธิวาส ‘ไชยยงค์’ อ้างข่าวความมั่นคง ‘กองกำลังติดอาวุธ’ เตรียมก่อเหตุ

"ภูมิธรรม" ลั่นคดีตากใบจบแล้ว อย่าพุ่งเป้ามาที่ "แพทองธาร" เพราะขณะเกิดเหตุอายุ 10 ขวบ ยันไม่มีเยียวยาเรื่องเงินอีก อย่าต่อความยาวสาวความยืดไม่มีข้อยุติ

เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล

หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส

'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ชำแหละทุกแง่มุม ผลกระทบคดีตากใบขาดอายุความ

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงคดีตากใบที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ภายในอายุความ 20 ปี ทำ

'ภูมิธรรม' ลั่น 'คดีตากใบ' จบแล้ว อย่าต่อความยาวสาวความยืด

ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีคดีตากใบที่หมดอายุความไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ว่า ท่าทีที่ฝ่ายรัฐมีความพยายามจะจบคดีนี้ตั้งแต่แรก ใช้

ผบ.ตร. เผยพื้นที่กทม.ยังไม่มีอะไรน่ากังวล หลังคดีตากใบหมดอายุความ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม วันเดียวกันนี้จะมีเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่