เนื้อหาด้านล่างเป็นส่วนหนึ่งของ รายงานของคณะกรรมาธิการวิสมัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร
หลักการและเหตุผลที่ควรให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำในคดีที่มีเหตุจากแรงจูงใจ ทางการเมืองซึ่งหมายรวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
1.เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างสังคมที่ปรองดอง การนิรโทษกรรมคดีตามมาตรา 112 สามารถช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายปีได้ ทั้งในแนวระนาบ กล่าวคือระหว่างประชาชนด้วยกันเองที่คดีจำนวนไม่น้อยเกิดจากการฟ้องร้องกลั่นแกล้งผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ส่วนความขัดแย้งแนวดิ่ง ระหว่างรัฐและประชาชน ในบางคดีพบว่ามีการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินคดี มาตรา112 ต่อผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินความจริงไปมากจนสะสมอย่างยาวนานเป็นความไม่พอใจของประชาชนจำนวนไม่น้อยสะท้อนผ่านการชุมนุม ประท้วงที่ขยายตัวเป็นวงกว้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะช่วงปี 2562-2563 ที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เพราะมองว่าการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือของการกดขี่ประชาชนผู้เห็นต่าง ไม่เพียงเท่านั้น การมุ่งบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มข้นเกินความเป็นจริง แต่ขาดความรอบคอบ ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ และศาลทำให้สังคม ยิ่งเกิดความคับข้องใจไม่เพียงต่อรัฐบาลแต่ขยายวงเป็นความเกลียดชังไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ
แม้ปัจจุบันคดีทางการเมืองที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมและผู้ต้องหาที่ถูกจำคุกอาจมีจำนวนไม่มาก นักแต่เป็นคดีที่มีนัยสำคัญในแง่ของความขัดแย้งทางการเมืองการไม่ นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้จะไม่ช่วยคลี่คลายกระแสความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันได้
ในทางกลับกันหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดอื่นทั้งหมดยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สังคมหรือประชาชนจะมีความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรและอาจจะก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่พึงประสงค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นก็ได้
ความเห็นต่างในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ไม่ควรมองว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรานี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือทำลายระบอบการปกครองเพราะเมื่อ ปี 2521 เคยมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้แล้วเช่นกัน
การนิรโทษกรรมจะเป็นการแสดงความเมตตาและการให้อภัยซึ่งจะช่วยลดความตึงเครียดและความขัดแย้งในสังคมการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้รับการนิรโทษกรรมจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบ ยุติธรรมและสร้างความสมานฉันท์ให้กับประชาชนในสังคมได้มากขึ้น
2.เพื่อการลดภาระของระบบยุติธรรม การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 จะช่วยลดภาระของระบบยุติธรรมทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่นั้นสามารถนำไปใช้ในคดีที่สำคัญและส่งผลต่อความ เป็นธรรมของประชาชนได้มากขึ้นนอกจากนี้บทบาทที่รัฐควรธำรงในช่วงเวลาเช่นนี้ คือผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อ “ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้ง
ทว่าในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การใช้กฎหมายเป็นไปในทางที่กดความเห็นที่ระคายเคืองไว้ แนวทางเช่นนี้ยิ่งทำให้ประชาชนที่เห็นต่างและถูกดำเนินคดีรู้สึกคับข้องใจกับสถาบันของรัฐมากขึ้น ยังเป็นการเพิ่มภาระของรัฐในทางธุระการ ทางกำลังพล และทางงบประมาณอย่างมาก
3.เพื่อความมั่นคงของวัฒนธรรมไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงอยู่เหนือการเมือง
กล่าวคือประเด็นความขัดแย้ง ณ ปัจจุบันถลำลึกยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปี 2548-2551 กลุ่มคู่ขัดแย้งก็เปลี่ยนหรือขยายกลุ่มกว้างขึ้น และจากสถิติพบว่า การดำเนินคดีในมาตรานี้ มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากเกิดการรัฐประหาร ที่ทั้งเรื่องสถิติและเนื้อหาแห่งคดีเพิ่มมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น และมีการตีความที่กว้างขวางกว่าข้อกฎหมายมากขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับความผิดในมาตรานี้ โดยมากล้วนเกิดจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่ความผิดร้ายแรงดั่งเช่นกระทำต่อร่างกายและชีวิต จึงควรเข้าข่ายที่จะพิจารณา
การรวมเอาความผิดเมาตรา 112 เข้าสู่การนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดความปรองดองทางการเมือง รวมถึงการนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะข้อถกเถียงประเด็นความสัมพันธ์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สร้างความร้าวฉานระหว่างสังคมไทยให้แบ่งสังคมออกเป็นสองฝ่าย โดยที่เส้นแบ่งนั้น คือความเห็นต่างเกี่ยวกับการจัดวางพระราชสถานะและพระราชอำนาจของสถาบัน พระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองไทย อันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองของตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ มักผูกโยงตนเข้ากับสถาบันกษัตริย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อแข่งกันใช้พระบารมีสร้างความได้เปรียบทางการเมืองแก่พวกตนเอง นำมาซึ่งความเข้มข้นในการใช้กฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งแน่นอนว่าแลกมาด้วยการนำความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรม เอามาจ่ายเป็นต้นทุนทางการเมือง
ดังนั้นผู้คนที่เห็นต่างจึงไม่ได้รู้สึกว่ากฎหมายเป็นที่พึ่ง แต่เป็นเครื่องมือกดความเห็นตนไว้มากกว่า ความมั่นใจต่อระบบยุติธรรมยิ่งถูกกัดกร่อน ยิ่งไปกว่านั้น จะกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อกฎหมายที่มักถูกใช้เพื่อกันมิให้คนเห็นต่างได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ความรู้สึกต่อสถาบันของกลุ่มคน เหล่านี้ก็ยิ่งเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสถาบัน
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเนื้อหาในหลายคดีที่ความเห็น ที่นำไปสู่การดำเนินคดีมาตรา 112 แม้จะตรงไปตรงมา แต่หลายครั้งยังอยู่ในกรอบความสุภาพ เคารพที่ต่ำที่สูง และความมีเหตุผล โดยมุ่งหวังให้สถาบันอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสง่างาม
การนิรโทษกรรมฐานความผิดมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข จะช่วยปรับความรู้สึกและทัศนคคติของผู้เห็นต่างในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญคือจะชี้ให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่าสถาบันฯ มีความรัก เมตตาต่อพสกนิกรมากเพียงใด
4.เพื่อเป็นรากฐานของวัฒนธรรมความเห็นต่างที่อยู่ร่วมกันได้ระหว่างประชาชน
สังคมไทยในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไปอย่างมาก เราไม่เพียงแต่เห็นความขัดแย้งระหว่าง “สีเสื้อ” แต่ยังเห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ หนึ่งในหลายๆประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยเห็นต่างอย่างมากคือหน้าตาและรูปลักษณ์ของวิธีการปกครองและระบอบการเมืองไทย ในแง่นี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่กลุ่มคนที่เห็นต่างกันถกเถียงกันประเด็นนี้จะละเลยเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์
กระนั้นก็ดีการถกเถียงกันเรื่องนี้ไม่เหมือนการเถียงกันว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดในช่วงเลือกตั้ง เพราะมีกรอบกฎหมายอย่างมาตรา 112 ที่กะเกณฑ์ไว้ว่าเรื่องใดคุยกันได้ และคุยกันแบบใดในพื้นที่สาธารณะ ในช่วงหลังปี 2549 มาตรา 112 ถูกใช้เพื่อก ากับบทสนทนาทางการเมืองอย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมกับการที่ประชาชนใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสนทนาเรื่องนี้มากขึ้นด้วย ฐานข้อมูลของศูนย์ทนายฯ หรือไอลอว์ก็ดีชี้ว่าประชาชนฟ้องประชาชนด้วยกันเองเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ฟ้องเสียอีก บริบทการฟ้องร้องนี้มีทั้งเรื่องการเมือง (เช่น กลุ่มประชาชนผู้รักสถาบันเก็บข้อมูลและไล่ฟ้องผู้เห็นต่าง) และเรื่องส่วนตัว (เช่น ใช้กฎหมายเพื่อแก้แค้นคนในครอบครัว หรือขัดขาเพื่อนร่วมงาน) ผู้ที่ถูกฟ้องร้องมีทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจละเมิดมาตรา 112 เช่นในกรณีเยาวชน หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต
หากมีกระบวนการสืบเนื่องจากการนิรโทษกรรม โดยให้มีการออกแบบเวทีสานเสวนาที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนอย่างเคารพซึ่งกันและกันระหว่างผู้เห็นต่างในแต่ละชุดความคิด การเปิดเผยความจริงจาก ความรู้สึกของแต่ละฝ่าย โดยมีผู้ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบพื้นที่สนทนาคอยเป็นกระบวนการ จะช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ที่พึงเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ลดความเข้าใจผิด และอาจนำไปสู่การสร้างความเห็นพ้องเป็นฉันทามติใหม่ของสังคม ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทุกประเทศใช้ในการก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง
5.ช่วงเวลาของความขัดแย้งมีความเหมาะสม กล่าวคือ คดีที่เกิดขึ้นจากเหตุจูงใจทางการเมืองบางคดีที่อาจเป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ ส่วนสำคัญเป็นผลจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้กระทำความผิดในช่วงเวลานั้นๆ ที่สังคมยังมีความขัดแย้ง แต่จากการเข้าให้ความเห็นของภาคประชาชนฝ่ายต่างๆ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ พบว่า เมื่อเวลาผ่านไปผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากเปิดใจพร้อมให้อภัยกับความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเราตั้งต้นกันที่ปี 2548 เวลากว่า 20 ปีที่ผ่านไป ประชาชนจำนวนมากพร้อมที่จะให้อภัย หากกรณีที่ความขัดแย้งของสังคมยังไม่เบาบางลงไป ก็ยังไม่ควรปิดช่องการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ไปอย่างสิ้นเชิง
แต่อาจกำหนดเงื่อนเวลาที่การนิรโทษกรรมจะมีผลบังคับใช้ หรือชะลอไว้ก่อนเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมยาวออกไปกว่าการนิรโทษกรรมในคดีอื่นๆ กำหนดกรอบเวลาที่ประเมินแล้วเห็นว่าทุกฝ่ายจะไม่ขัดแย้งในเรื่องนี้แล้ว
นอกจากนี้ ในปี 2567 นี้ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระชนมายุ 72 พรรษา ยิ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการนิรโทษกรรม สังคมจะเกิดความปิติต่อการออกกฎหมายอันเป็นเสมือนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงสลายความขัดแย้งของสังคมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ที่สิ้นสุดไปแล้วโดยทันที หรือนำคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการ จะช่วยนำพาสังคมออกจากอดีตไปสู่อนาคตของสังคมไทยที่ก้าวพ้นความขัดแย้ง
6.การนิรโทษกรรมคดีตามมาตรา 112 ไม่เกี่ยวข้อง และไม่มีผลให้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกยกเลิกแต่อย่างใด
การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกฐานความผิดมาตรา 112 ไม่กระทบต่อการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งคดีความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นความผิดจากการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งนับรวมเฉพาะคดีความตามมาตรา 112 ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ในกรณีนี้คือจะนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นับแต่ปี 2548 จนถึงวันที่มีการประการใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่านั้น
ข้อเสนอเชิงกระบวนการ(Amnesty Program) ต่อการนิรโทษกรรมการกระทำในคดีที่มี เหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองซึ่งหมายรวมถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
การนิรโทษกรรมในบริบทการเมืองไทยปัจจุบัน กรรมาธิการศึกษาฯ เห็นว่าควรให้น้ำหนัก และใช้คำว่า “กระบวนการนิรโทษกรรม” เพราะการบรรลุเป้าหมายของการนิรโทษกรรม มิอาจเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน เพียงการออกกฎหมายล้างความผิดเท่านั้น หากที่ยังมีองค์ประกอบและขั้นตอนอันหลากหลายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความปรองดองในสังคม กระบวนการสืบเนื่องในการนิรโทษกรรมจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
ในการพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ที่จะเปิดพื้นที่ให้สังคมได้พูดคุย กันในประเด็นที่มีความขัดแย้งกันมากที่สุด นั้นคือคดีความจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สะท้อน ภาวะนี้ออกมาอย่างชัดเจน แม้กระทั้งในการทำงานของคณะกรรมาธิการ ที่ให้น้ำหนักกับการถกเถียงเห็นต่างในประเด็น 112 นี้มากที่สุด ชี้ชัดว่าสังคมไทยเผชิญกับความขัดแย้งในประเด็นนี้อย่างฝังรากลึก หากไม่มีกระบวนการในการพูดคุยร่วมกันว่าจะดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 อย่างไร ความขัดแย้งเหล่านี้จะยังคงอยู่กับสังคมไทยและคนรุ่นถัดไป จึงควรมีกระบวนการเปิดพื้นที่ให้ผู้กระทำความผิดในมาตรานี้ได้เข้ามาพูดคุยร่วมกัน
อีกทั้งจากการศึกษาความขัดแย้งทั่วโลกทำให้ทราบว่ายิ่งปิดกั้นผู้ที่ต้องการแสดงความคับข้องใจก็จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น จึงควรแยกกระบวนการนิรโทษกรรมออกจากคำว่า “การนิรโทษกรรม” และหา แนวทางที่จะทำให้กระบวนการนี้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะกับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกรรมาธิการบางท่าน เสนอให้หมายรวมถึงคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 289 จากการประชุมของกรรมาธิการจึงสรุปข้อเสนอเกี่ยวกับ กระบวนการของการนิรโทษ กรรมไว้ดังนี้
1.กำหนดให้การนิรโทษกรรมต่อคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นแบบมีเงื่อนไข
กรรมาธิการบางท่าน เห็นว่าการนิรโทษกรรมในความผิดมาตรา 112 ควรมีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ที่อาจไม่สบายใจที่เห็นฝ่ายที่ครั้งหนึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองหรือฝ่ายที่ตนมองว่าเป็นผู้กระทำความผิด เกิดความกังวลว่าหากนิรโทษกรรมแล้ว การกระทำเหล่านั้นจะกลับมาอีกครั้ง จึงควรออกแบบกระบวนการที่สร้างความรู้สึกมั่นใจแก่ทุกฝ่าย โดยเสนอให้มีกระบวนการที่ผู้เข้ารับการนิรโทษกรรมได้พูดข้อเท็จจริง อธิบายการกระทำของตน หรือยอมรับความผิดโดยเงื่อนไขที่จะออกแบบขึ้นมานี้มีความมุ่งหวังเพื่อจะไม่ให้ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมกลับมากระทำผิดซ้ำ เช่นกระบวนการสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบจากการกระทำของตน หรือการทำข้อตกลงว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำในระยะเวลาที่กำหนด
2.การมีคณะกรรมการนิรโทษกรรม
กำหนดให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรม ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับ และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ คือ
1.กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกดำเนินคดียินยอมเข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรมและ 2. กำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
เพราะโดยหลักการแล้วผู้กระทำความผิดควรยอมรับเงื่อนไขบางอย่างก่อนที่ได้รับการนิรโทษกรรม อาทิ การเข้าสู่กระบวนการสานเสวนา โดยให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดต้องมาแถลงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้กระทำการตามที่ถูก กล่าวหา เพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีหรือผู้กล่าวหาได้สนทนาร่วมกัน หรือให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งแก่ผู้ที่กระทำความผิด หรือเข้าสู่กระบวนการยอมรับว่าได้กระทำการที่ไม่เหมาะสมด้วยเหตุแรงจูงใจทางการเมือง จากนั้นให้มีการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำต่อไป
3.การจำแนกการกระทำความผิดเป็นกลุ่มคดีต่างๆ และแยกการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพื่อออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมตามรูปการณ์ของแต่ละคดี
เพื่อให้การออกแบบกระบวนการนิรโทษกรรมมีความกระชับและสอดคล้องกับกลุ่มประเภทและสถานภาพตามขั้นตอนปัจจุบันของคดี ตลอดจนระบุหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบคดีในขั้นตอนนั้น ให้สามารถพิจารณาว่าผู้กระทำมีเหตุจูงใจทางการเมือง ตามนิยามที่ให้ไว้ในกฎหมายใช่หรือไม่ หากใช่ ให้ดำเนินการให้ผู้กระทำที่อยู่ในขั้นตอนความรับผิดชอบของตนนั้น พ้นจากความผิด แล้วแจ้งต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อทราบ
สำหรับการจำแนกการกระทำในคดีความผิดบางกรณีอาจจะกระทำได้ยาก แม้ในการพิจารณาคดีของศาลก็ไม่ได้จำแนกอย่างชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการอาฆาตมาดร้าย การกระทำใด เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท แต่สามารถนำกรณีตัวอย่างการกระทำที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเขียนไว้ในรายงานคณะกรรมาธิการได้ ดังนั้นอาจจะแบ่งความรุนแรงออกมาเป็นสามระดับกล่าวคือ
ระดับที่หนึ่ง เป็นระดับที่ครบองค์ประกอบครบถ้วนที่สุดตามกฏหมายทั้งองค์ประกอบภายในและภายนอกที่ชัดเจน กรณีเช่นนี้คณะกรรมการสามารถที่จะกำหนดเงื่อนไขบางประการ อันสมควรแก่เหตุและความรุนแรงเพื่อไม่ให้เกิดการ กระทำซ้ำ เช่นว่าห้ามมีพฤติกรรมดังกล่าวในทำนองเดียวกันเป็นเวลาห้าปี หากมีพฤติกรรมดังเดิม สามารถให้การนิรโทษกรรมนั้นสิ้นผลไปได้ เป็นต้น
ระดับที่สอง เป็นระดับที่ครบองค์ประกอบตามกฏหมาย แต่ไม่ชัดเจนว่าจุดประสงค์ ของการกระท าความผิดนั้นมีสาเหตุอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเผลอเรอ ไม่ปรากฏจุดประสงค์ที่รุนแรง เหล่านี้ก็สามารถนิรโทษกรรมและกฎหนดเงื่อนไขที่ลดลงมาเช่นว่าห้ามมีพฤติกรรม ดังกล่าวในทำนองเดียวกันเป็นเวลาหนึ่งถึงสามปีแล้วแต่ความรุนแรง
ระดับที่สาม เป็นระดับที่รุนแรงน้อยที่สุดกล่าวคือไม่ชัดเจนว่าครบครบองค์ประกอบตามกฏหมาย หรือเป็นกรณีที่มีการดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้อง คณะกรรมการอาจจะใช้อำนาจในการนิรโทษกรรม โดยที่อาจไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขใดเลยก็ได้ เมื่อมีการแยกหัวข้อคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้แล้ว จึงสามารถนำความเห็นในประเด็นนี้ต่อท้ายความเห็นของกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับ การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขได้
4.การตั้งคณะกรรมการพิจารณาการให้นิรโทษคดีมาตรา 112 เป็นรายคดี
ควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาฐานความผิดมาตรา 112 เป็นรายคดี เพื่อดฎเนินกระบวนการพิสูจน์ความจริงในแต่ละคดีอย่างยุติธรรม โดยคณะกรรมการจะต้องพิจารณาเหตุและแรงจูงใจของการกระทำ ให้เข้าหลักเกณฑ์นิยามเรื่องมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และคัดกรองคดีต่าง ๆ กรรมาธิการบางท่านเสนอให้จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. จำแนกว่ากรณีใดที่ผู้ต้องคดีความมีการจงใจละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรงเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายอย่างชัดเจน 2. แยกว่าคดีใดเกิดขึ้น จากการฟ้องร้องที่ไร้น้ำหนักทางกฎหมาย หรือไร้ซึ่งข้อพิสูจน์เป็นเพียงการกลั่นแกล้งกันเท่านั้น 3.ผู้ต้องคดีที่มีการสำนึกผิดในการกระทำและพร้อมเข้าสู่กระบวนการสืบเนื่องจากการนิรโทษกรรม เพื่อให้การนิรโทษกรรมเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส
การพิจารณานิรโทษกรรมผู้กระทำผิดความผิดในมาตรา 112 กรรมาธิการบางท่าน เห็นว่าต้องอยู่บนหลักการที่ว่า มิใช่การกระทำที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันวิญญูชนคนธรรมดาพึ่ง รู้การกระทำเช่นว่านั้น อาทิการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ธง ตราสัญญาลักษณ์ การเอ่ยพระนามโดยมิบังควร หรือการใช้วาจา ข้อความ เชิงเสียดสีในเชิงลบอันอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คน ในสังคมด้วยการแสดงออก เผยแพร่ โฆษณา หรือส่งต่อ นำเข้าสู่ระบบที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ที่ปรากฏเป็นข้อเท็จจริง หรือที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางใดทางหนึ่ง โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ซึ่งเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามพยานหลักฐาน เหตุปัจจัย แรงขับและแรงจูงใจในการกระทำ ตลอดจนพิจารณาจากสภาพแวดล้อมบริบทของผู้กระทำในขณะที่ได้กระทำนำมาประกอบการพิจารณา
แต่ถ้าผู้กระทำมิได้มีเจตนาชัดเจน ที่จะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการหรืออาจจะสำนึกผิดถึงเหตุที่ได้กระทำลงไปในภายหลัง สำนึกผิดที่ได้กระทำกลับใจยอมรับผิด เขาเหล่านั้นก็ควรที่จะได้รับการอภัย ตามเหตุแห่งการยอมรับผิดนั้น ตามรูปแบบการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีๆไป
5.ให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมในการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกดำเนินคดียอมรับเงื่อนไข
กรรมการควรกำหนดเงื่อนไขที่ผู้เข้ารับกระบวนการต้องยอมรับ ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรมและกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หากไม่ยอมรับเงื่อนไขก็ถือ ว่าเสียสิทธิในการพิจารณานิรโทษกรรม
เริ่มต้นกระบวนการ โดยให้หน่วยงานรัฐพร้อมสำนวนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า กำลังสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาอยู่ก็ดี หรือจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่ากำลังพิจารณาการส่งฟ้องหรือไม่ก็ดี หรือได้ส่งฟ้องไปแล้วและคดีอยู่ในชั้นศาลก็ดี หรือจากกรมราชทัณฑ์ว่ามีนักโทษผู้ต้องคดีอยู่ในเรือนจำก็ดี ให้คณะกรรมการฯพิจารณาเรื่องที่ได้รับโดยไม่ชักช้า หากพิจารณาว่าเป็นกรณีที่พึงผ่อนผันตามหลักการของการุณยธรรม ให้คณะกรรมการฯมีมติว่าเป็นกรณีที่พึงเริ่มกระบวนการรอวินิจฉัยใช่หรือไม่ หากใช่ให้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุดหรือกรมราชทัณฑ์ เพื่อยุติคดีหรือปล่อยตัวผู้กระทำความผิดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัยสุดท้าย แล้วแต่กรณี
อนึ่ง หากคณะกรรมการฯเห็นว่าการกระทำความผิดอยู่ในข่ายการแสดงความอาฆาตมาดร้าย มติต้อง เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด มิฉะนั้นใช้เสียงข้างมากธรรมดา ทั้งนี้ให้คณะกรรมการฯกำหนดระยะเวลา การรอการวินิจฉัยพร้อมด้วย
ข้อดี ของการกำหนดเงื่อนไขในการนิรโทษกรรม และกำหนดมาตรการลักษณะเช่นนี้ 1. แม้การนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอาจมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่กระบวนการ เช่นนี้จะทำให้เกิดการยอมรับและรับฟังได้มากขึ้น 2. การมีกระบวนการรูปแบบนี้จะเป็นโอกาสของสังคมไทยที่จะสร้างพื้นที่กลางให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทบทวน สนทนา สร้างความเข้าใจซึ่งกันและ กันและลดช่องว่างระหว่างกันผ่านกระบวนการนี้ และ 3. เมื่อผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมีโอกาสได้สนทนา แถลงและแลกเปลี่ยนความเห็นแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการสร้างกุศโลบายหรือนโยบายทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ในอนาคต
6.ให้มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัย หรือกิจกรรมเพื่อการพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูล
ควรมีการเปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐและคู่กรณี การสนทนาในลักษณะนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือผู้ที่กระทำความผิดได้แถลงข้อเท็จจริงว่าเรื่องใดที่เป็นเหตุหรือเป็นแรงจูงใจให้กระทำการเช่นนั้น โดยในการเสวนาอาจประกอบด้วยผู้เข้ารับการนิรโทษกรรม ตัวแทนของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานความมั่นคง ตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้ถูกคดี ทั้งสิ่งที่แสดงออก เหตุผล บริบท ความมุ่งหมาย ผลที่ได้รับผลกระทบและข้อเสนอเพื่อการปรองดองและสมานฉันท์
กระบวนการสานเสวนา (dialogue) ระหว่างรอวินิจฉัย ให้คู่กรณีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสสนทนาและให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ซึ่งรูปแบบนี้เป็นกระบวนการที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้วในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีนโยบายไม่ใช้บังคับประมวกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างเข้มงวด โดยมีหลายกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรานี้ ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาสนทนา พูดคุยแลกเปลี่ยนให้ข้อมูล ตักเตือนและปล่อยตัวไป
ให้มีกระบวนการต่อเนื่อง หรือเงื่อนไขอื่น ที่เป็นไปตามความเห็นของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เช่น การเข้าสู่กระบวนการรับทราบ รับฟังข้อเท็จจริงหรือเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น
การเข้าสู่กระบวนการการรอวินิจฉัยเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องโทษ อย่างไรก็ดี บุคคลดังกล่าวและตัวแทนคณะกรรมการฯควรลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่าด้วยการสานเสวนา หรือกระบวนการต่อเนื่องอื่นๆ ในความถี่ที่เห็นสมควร และโดยการอำนวยความสะดวกของคณะกรรมการฯ2
7.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
โดยหลักการแล้ว มาตรการทั้งหลายอาจไม่สามารถกำหนดมาตรการให้กับผู้กระทำความผิดเหมือนกันทั้งหมดได้ แต่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี เช่น หากเป็นการกระทำความผิดโดยการแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การพ่นสีกำแพงหรือพฤติการณ์อื่น อาจกำหนดห้ามกระทำการเช่นนั้นในช่วงระยะเวลา ที่กำหนดหรือในช่วงระยะเวลาสามปี หรือห้าปี จึงถือว่าการนิรโทษกรรมสมบูรณ์ เพื่อให้มีเวลาในการคลี่คลายความขัดแย้งให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่ควรห้ามกระทำการตลอดชีวิต เพราะเป็นการกระทำความผิดที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากการห้ามการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงตลอดชีวิตที่เกิดขึ้นใน ต่างประเทศ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำให้สูญหาย
อาจจะมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอื่น อาทิ กระบวนการตามคำสั่งสำนัก นายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ที่ให้ผู้กระทำความผิดมารายงานตัวหรือเข้าร่วมกระบวนการบางอย่าง
กรณีมีการชะลอการนิรโทษกรรม หากครบระยะเวลาของเงื่อนไขช่วงป้องกันการทำผิดซ้ำเป็นต้นว่า 3 ปี หรือ 5 ปี ให้ผู้ที่เป็นกรรมการนิรโทษกรรมโดยตำแหน่งประชุมร่วมกัน และมีคำสั่งให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ครบกำหนดชะลอหรือพักโทษ ที่ไม่มีการกระทำผิดซำในช่วงเวลาที่ผ่านมา
สำหรับกรณีผู้ต้องคดีที่หลบหนีหรือลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศประกาศให้รับรู้เป็นวงกว้าง หรือแจ้งผู้ลี้ภัย ผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในประเทศต่างๆ ทราบถึงกระบวนการสานเสวนา การชะลอและการพักโทษ โดยให้กรรมการนิรโทษกรรมออกระเบียบเพื่อให้ผู้ลี้ภัยและผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในต่างประเทศ สามารถเข้าสู่กระบวนการก่อนการนิรโทษกรรมข้างต้น
สุดท้ายควรมีการถ่ายทอดสดพิธีการให้นริโทษกรรมในฐานความผิดนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นพระมหากรุณาธิคุณ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชูศักดิ์' ไม่รู้ 'ยิ่งลักษณ์' จะกลับไทยอย่างไร รับกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เสร็จง่ายๆ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ปีหน้า
'ทักษิณ' ยันพรรครัฐบาลไม่แตะ 112 เผยเคยเตือนสติ 'ธนาธร' มาแล้ว!
"ทักษิณ" เผยพรรคร่วมรัฐบาล ลงสัตยาบันไม่แตะ มาตรา 112 โอดตัวเองตกเป็นเหยื่อเพราะถูกหมั่นไส้ เคยคุย "ธนาธร" ขอให้ช่วยกันทำเพื่อบ้านเมือง หากจะแก้กฎหมายควรทำทีละขั้นตอน อย่าไปมุ่งหาเสียง บางทีจุดโฆษณาอันตรายกว่าสิ่งที่ตั้งใจทำ
'กล้าธรรม' ย้ำจุดยืนแก้ รธน.ห้ามแตะหมวด1,2 นิรโทษกรรมไม่รวมคดี112
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวถึงจุดยืนของพรรค ในการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ว่า ได้มีการหารื
'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.
'พระเอกพิธา' บอกยื้อ 'นิรโทษฯ-แก้ รธน.' กระทบประชาชนที่โดนลิดรอนสิทธิ!
'พิธา' มองกระบวนการ 'แก้ รธน.-นิรโทษกรรม' ถูกประวิงเวลา' เหตุมัวแต่ศึกษาแล้วศึกษาอีกโดยไม่จำเป็น บอก เป็นห่วงสัญญาที่ 'รัฐบาล' เคยให้ไว้กับ ปชช.
ชทพ.หนุนนิรโทษกรรมแต่ต้องไร้ ม.110-ม.112
'ชาติไทยพัฒนา' หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องเว้น ม.110 และ 112 เชื่อก้าวข้ามความขัดแย้งได้