สภาฯถกรายงานนิรโทษกรรม 'ชูศักดิ์' ย้ำ 112 ประเด็นอ่อนไหว ไม่บังคับ ครม.ดำเนินการ

17 ต.ค.2567 - ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานการประชุม รับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว

นายชูศักดิ์ กล่าวถึงสาระสำคัญของรายงานว่า รายงาน กมธ. เป็นการศึกษาแนวทางการตรากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาหรือยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กมธ.เสนอความเห็นในทุกมิติ เพื่อให้สภาฯ ศึกษา เรียนรู้ รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แม้รายงานเป็นการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. แต่ได้เสนอแนะแนวทางอื่นๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีของสังคมไทย เช่น ขอพระราชทานอภัยโทษ แนวทางล้างมลทิน การชะลอการฟ้อง สั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และตราพ.ร.บ.ที่มีเงื่อนไขตามกระบวนการที่เกิดขึ้น

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า สาระของรายงานคือกำหนดขอบเขตการนิรโทษกรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึง ปัจจุบัน การกระทำที่ควรได้รับนิรโทษกรรม เน้นมูลเหตุที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง โดยกมธ.แยกในคดีหลัก เช่น ฐานะเป็นกบฏ การกระทำในคดีรอง เช่น ความผิดต่อเจ้าพนักงาน และแยกคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองออกมาพิจารณาเฉพาะ โดยแสดงเหตุผลทุกมิติ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการแสวงหาแนวทางอื่นๆ เช่น การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข สำหรับรูปแบบการนิรโทษกรม กำหนดให้เป็นการนิรโทษกรรมแบบอัตโนมัติ มีคณะกรรมการพิจารณาและผสมผสาน ทั้งนี้การตั้งกรรมการเนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์ ซึ่งมีคดีที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการพิจารณาจะทำให้การนิรโทษกรรมถูกต้องเป็นธรรม

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเสนอแนะแนวทางการตรา พ.ร.บ.อาจทำเป็นหลายฉบับเฉพาะเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมของการกระทำนั้นแตกต่างกัน สำหรับข้อสังเกตของกมธ.ฯ มีหลายแนวทางเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับไปดำเนินการ เช่น การอำนวยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตามข้อสังเกตของกมธ.ไม่ได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ที่จะดำเนินการตามที่เสนอ

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สส.ได้แสดงความคิดเห็น โดยพรรคประชาชน(ปชน.) กล่าวสนับสนุนให้นิรโทษกรรม รวมถึง คดีมาตรา 112 ด้วย อาทิ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า ในประเด็นของมาตรา 112 ที่กมธ.วางแนวทางให้เป็นคดีอ่อนไหวทางการเมือง เชื่อว่าจะเป็นตีกรอบการนิรโทษกรรมที่คับแคบเกินไป ทั้งที่ควรเปิดกว้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลคือกีดกันคดีดังกล่าวออกจากการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ดีหากต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีต้องมัดรวมการนิรโทษกรรมคดี มาตรา 112 ด้วย

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา110 และมาตรา112 โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่าในฐานะเป็นสส.เพื่อไทย ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา110 และมาตรา112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ฉะนั้นเราจึงยังมีเวลาหาฉันทามติกรณีดังกล่าว และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษมาตรา 110 และ มาตรา112

ด้านนายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่ารายงานฉบับนี้ไม่ได้แยกแยะว่าอะไรนิรโทษกรรมได้หรือไม่ได้ คนภูมิใจไทยทุกคนประกาศชัดเจนว่ายอมยกโทษให้ทุกกรณี ยกเว้นกรณีการยกเลิกมาตรา112 เรายอมรับไม่ได้ การนิรโทษกรรมในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายครั้งก็จริง แต่ถามว่ามีครั้งใดบ้างที่ล่วงล้ำก้ำเกินสถาบันสูงสุดเท่าปัจจุบันนี้

“เราดึงสถาบัน ก้าวก่ายถึงพระองค์ท่าน ย้อนถามว่าท่านทำความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทำของสถาบัน ผมขอตอบว่าไม่มี พระองค์ท่านมีแต่ให้ ชาติบ้านเมืองอยู่ได้เพราะสิ่งนี้ แต่ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่พยายามจะปลูกฝังให้คนเห็นต่าง ให้คนไม่เห็นความสำคัญของสถาบัน”นายสนอง กล่าว

นายสนอง กล่าวอีกว่าหากมีการผ่านรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการตรากฎหมายออกมา โดยอ้างว่าเป็นมติของสภาฯที่ผ่านการเห็นชอบของรายงานฉบับนี้แล้ว จะออกเป็นร่างพ.ร.บ. เพื่อนิรโทษกรรมในการกระทำที่ล่วงละเมิดสถาบันพระกษัตริย์ โดยเฉพาะมาตรา110 และมาตรา112 ยืนยันว่าคนของภูมิใจไทยจะไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมในการกระทำครั้งนี้ เราจะจงรักภักดีต่อและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ถึงที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว 'อิ๊งค์' มีสิทธิ์หลุดเก้าอี้นายกฯ เซ่นตั้ง 'เลี้ยบ' นั่งรองประธานที่ปรึกษาของนายกฯ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “รัดแน่นกว่าเดิม”

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'วิสุทธิ์' วอน สว. 80-90 เสียง หนุนร่างแก้รธน. ตัดอำนาจวุฒิสภาให้ประเทศเป็นปชต.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง