‘แก้วสรร’ ออกบทความสุดกินใจ ‘คุณค่า‘ ในชีวิตของคนชื่อ ’ภูมิพล‘

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ชีวิตในหลวงของเรา..ได้จากโลกนี้ไปแล้ว พวกเราคนไทยเศร้าโศกยิ่งและแสดงความรักอาลัยออกมามากมายหลายลักษณาการ จนมีผู้คนเป็นอันมากแปลกใจและไต่ถามขอคำตอบจากพวกเราอย่างจริงจังว่า “คุณค่า” ในชีวิตของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงไหน ต่างจากชีวิตอื่นๆที่จากไปในทุกๆวันอย่างไร?

ผมเป็นชีวิตหนึ่งที่เกิดใต้ร่มพระบารมีมา กว่า ๖๕ ปี ใช้ชีวิตผ่านโลกความคิดมาพอควร ก็เห็นว่าน่าจะมีคำตอบให้เขาได้บ้าง ดังนี้

๑) ผมจะตอบเขาว่า เราไม่ได้รักนับถือพระองค์ท่านเพราะฐานันดร มันช่วยไม่ได้ที่พระองค์ทรงเกิดมาเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อคนคนนี้เกิดเป็นกษัตริย์แล้ว เขาเป็นกษัตริย์ที่น่านับถือหรือไม่ ถ้าท่านผู้ตั้งคำถามได้เกิดเป็นกษัตริย์บ้าง ท่านจะเป็นได้ดีเหมือนพ่อหลวงของเราหรือเปล่า หัวใจของคำถามคำตอบมันน่าจะอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าคนคนนี้ได้ให้อะไร สร้างอะไรไว้แก่โลกบ้าง ไม่ใช่มีฐานะมีตำแหน่งอะไร คำตอบเช่นนี้คุณว่าถูกต้องไหม?

๒) ท่านผู้สงสัยหลายคน สรุปว่าเรานับถือในหลวงเพราะท่านเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งศิลปะ เรือใบ วิศวชลประทาน การเกษตร การปกครอง ฯลฯ ผมขอตอบว่าไม่จริง โลกนี้มีคนเก่งกว่าพระองค์อีกมากมายหลายด้านนัก แต่จะหkคนที่มี Character เป็น “บารมี”ให้เคารพรักกันโดยทั่วไปได้โดยสนิทใจนั้นยากยิ่ง จริงหรือไม่?

๓) “บารมี”คืออะไร..หลายคนถามผมว่าในหลวงเรียนจบสูงนักหรือ? ผมว่าเราคนไทยตอบได้ง่ายมาก ว่าคุณค่าของชีวิตนั้นไม่น่าจะวัดจากเขารู้อะไร มีจำนวนความรู้ในสมอง มากหรือไม่ แต่ต้องอยู่ที่ว่าคนผู้นั้นเขาได้สอนอะไร ออกมาจากตัวตน จากความคิดความอ่านและการปฏิบัติจริงของตนเองบ้าง เขาได้สอนให้คนรู้จักคิดอ่านใฝ่รู้ รู้จักมานะอดทน รู้จักเมตตากรุณา รู้จักเสียสละ เพื่อโลกที่ดีกว่าหรือไม่ ตรงนี้ต่างหากคือคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ที่ในหลวงของเราท่านทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมไว้ สอนไว้กว่า ๗๐ ปี จนจากและจบการสอนไปตามวาระแห่งสังขาร ท่านผู้ถามเห็นต่างจากผมไหม?

๔)เพื่อนต่างชาติบางคนอาจจะชี้บ่งว่า คุณค่าในชีวิตนั้นน่าจะอยู่ตรงที่มีคนรู้จัก มาร่วมงานศพครบถ้วนพร้อมหน้าเพียงใด แล้วเลยถามว่าในงานพระบรมศพมีใครมาร่วมบ้าง ผมก็ขอตอบว่าคุณคิดผิดโดยสิ้นเชิง ความยิ่งใหญ่ในคุณค่าของชีวิตที่จากไปนั้นไม่ได้อยู่ที่มีคนรู้จักมาร่วมอาลัยกันพร้อมหน้าพร้อมตาหรือไม่ แต่อยู่ตรงที่มีคนที่ไม่รู้จักมาร่วมอาลัยเพราะคุณงามความดีของท่านผู้จากไปหรือเปล่า ๑ เดือนมานี้คุณเห็นอะไรบ้างที่พระบรมมหาราชวังและทุ่งพระเมรุ บ้านเมืองคุณมีให้เห็นอย่างนี้บ้างไหม?

๕) ท้ายที่สุดยังคงมีหลายท่านสรุปว่า ทางเดินในชีวิตที่มีค่าที่ว่ากันมานี้ น่าจะเป็นเรื่องพรหมลิขิต หรือเรื่องบังเอิญก็ได้ คำตอบก็คือไม่ใช่เลย ตลอดทางเดินในชีวิตของพระองค์ท่าน คือ”การเลือก” เลือกทั้งทิศและทาง เลือกด้วยสติปัญญา ด้วยคุณธรรมความอดทนเช่นพระมหาชนก พระองค์ทรงเป็นเช่นนักแล่นเรือใบ รู้จักทั้งเป้าหมายที่มุ่งมั่น และทิศทางลมที่ผันผวน รู้จักทั้งกิเลสตัณหาที่รบกวน แล้วเลือกปรับใบ พาชีวิตเดินทางไปยังเป้าหมายที่ต้องการเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองให้จงได้ ทั้งหมดนี้คือ “คุณธรรม”ชัดๆ ใจคอท่านผู้ไต่ถามจะไม่ยอมให้ใครผู้ใดมีคุณค่าด้วยตนเองบ้างเลยเชียวหรือ จะให้ดาวทุกดวงบนท้องฟ้าเป็นดาวพระเคราะห์ไปหมด ไม่มีดวงใดมีแสงในตนเองบ้างเลยหรืออย่างไร ?

พวกเรา..คนเคารพรักในหลวง..ไม่ขอกะเกณฑ์บังคับให้ท่านต้องเคารพเหมือนเรา

พวกเราเพียงแต่ขอร้อง..ไม่อยากให้ท่านเห็นการกราบไหว้ หรือน้ำตาแห่งความรักอาลัยของเรานั้น ไร้สาระน่าดูถูก
พวกเราขอความเป็นธรรมให้กับพระองค์ท่าน..การที่ใครได้เป็นกษัตริย์ ก็มิได้หมายความว่าต้องเป็นคนไม่มีอะไรดี เพราะได้ดีตามชะตาฟ้าลิขิตเท่านั้นเอง

พวกเราขอความคุ้มครองให้กับพระองค์ท่าน…ไม่ใช่ถือว่าทรงเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว จะคิดจะวิจารณ์ใส่ร้ายอะไรไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ก็ทำได้ฟรีๆตามชอบ โดยอ้างหน้าด้านๆด้วยสีหน้าก้าวหน้าว่า เป็น “เสรีภาพทางการเมือง”

เราท่านทั้งหลายรวมทั้งท่านผู้ถาม…ในไม่ช้าก็ต้องจากโลกนี้ไป และจะต้องถูกถามเหมือนกันว่าชีวิตของเราได้ทิ้งคุณค่าอะไรไว้บ้าง ผมคิดว่าคุณค่าในชีวิตที่เกิดมาเป็นคน ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงบำเพ็ญให้เห็นเป็นที่ประจักษ์นั้น คือตัวอย่างอันมีค่าที่ชัดเจนที่สุดแล้ว ใช่หรือไม่ใช่?

ขอบคุณรูปภาพจาก MGR Online

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ

เทิดพระเกียรติ 2 กษัตริย์ ขัตติยมหาราช

ตุลาคมเดือนที่ปวงชนชาวไทยสูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5      และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ 9  ที่เสด็จสวรรคตในวันที่ 23  ตุลาคม