ศาลรธน. 14 ประเทศ ทำปฏิญญากรุงเทพฯ ยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน.

20 ก.ย.2567 - เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมใหญ่สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าในการเสริมสร้างความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเวทีการประชุมระหว่างประเทศภายใต้กรอบการดำเนินการของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย นำเสนอบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ของบรรดาประเทศสมาชิก (Members) ผู้สังเกตการณ์ (Observers) และแขกผู้ได้รับเชิญ (Guests) โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย จำนวน 14 ประเทศ และกลุ่มภูมิภาคศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 ภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2567 รวมเวลา 5 วันเต็ม

ในระหว่างการประชุมศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในฐานะประธานการประชุม และประเทศสมาชิกสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญากรุงเทพมหานคร (Bangkok Declaration) สาระสำคัญคือการยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งแยกอำนาจ การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และความจำเป็นของหลักความเป็นอิสระของตุลาการ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานของความยุติธรรม สันติภาพ และเสถียรภาพในสังคมโลก ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้คำนึงถึงบทบาทอันสำคัญของความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในการส่งเสริมสนับสนุนสังคมให้มีความยั่งยืนด้วยการยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานนั้นในการจัดการกับปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากร และความยุติธรรมทางสังคม นอกจากนี้ สมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพและร่วมมือซึ่งกันและกันด้วยการปรับเปลี่ยนกรอบการทำงานตามรัฐธรรมนูญเพื่อความท้าทายใหม่ ๆ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและประกันการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แม้ในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนและสันติภาพ รวมถึงการให้ความสำคัญของการประกันในการเข้าถึงความยุติธรรม ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนและเสถียรภาพในสังคมรัฐ เพื่อที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและส่งเสริม "ความยุติธรรมทางสภาพอากาศ (Climate Justice)” ในการนี้ สมาคมฯ ขอแสดงความปรารถนาดีสำหรับความสำเร็จต่อสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 29 (COP 29)

อนึ่ง ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการสมาชิกสมาคม AACC (BoMM) ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางถึงแนวทางการส่งเสริมความยุติธรรม สันติสุข และสิทธิมนุษยชน รวมถึงการร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำใด ๆ อันเป็นภัยแก่ชีวิต ความมั่นคง เสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีของปัจเจกบุคคลและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่สังคมที่สันติและยั่งยืน และได้แสดงความห่วงใยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ ปาเลสไตน์ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า สมาชิกสมาคมฯ จะร่วมกันไม่สนับสนุนต่อการกระทำใด ๆ อันเป็นภัยแก่ชีวิต ความมั่นคง เสรีภาพ ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งรวมถึงชาวปาเลสไตน์

สมาชิกสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียมีจุดยืนร่วมกันในการอุทิศตนให้แก่หลักความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนให้ประชาคมมีความกว้างขวางขึ้น เพื่อความเป็นธรรมและโลกที่เท่าเทียม มุ่งมั่นสู่เป้าหมายร่วมกัน เสริมสร้างความร่วมมือกับศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งอื่นในระดับโลกต่อไป โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการเวนิสและสถาบันสหประชาชาติ รวมถึงความร่วมมือในระดับระหว่างภูมิภาคและในภูมิภาคของสมาคมอื่นและประชาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งเสริมหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เด่นชัดในการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงความสำเร็จของการจัดการประชุมใหญ่ (Congress) และการประชุมคณะกรรมการสมาชิก (BoMM) ในประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานของสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ก่อให้เกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) และการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภูมิภาคไอเบอโร - อเมริกา (CIJC) และการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศมองโกเลียกับศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน สำหรับการประชุมในคราวต่อไปศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอุซเบกิสถานรับเป็นประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) ครั้งที่ 7 (ปี 2025-2027) ต่อจากประเทศไทย และศาลสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ รับเป็นประธานสมาคมฯ ครั้งที่ 8 (ปี 2027-2029) อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการผลักดันหลักความยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมใหญ่ (Congress) ครั้งนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชเฟอร์ซื้อใบขับขี่! ครม.อุ๊งอิ๊งไปไม่เป็น เกิดอาการอกสั่นขวัญผวา มีความเสี่ยงสูงถูกถอดถอนทั้งคณะ

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol หัวข้อ ครม. อุ๊งอิ๊งไปไม่เป็น จากกรณีที่นักร้อง ได้ร้องว่า

หวาดเสียว 'กูรูใหญ่' ชี้ความผิดพลาดแถลงนโยบายไม่ระบุหาเงินจากที่ไหน เปิดช่องร้องถอดถอนครม.

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน ประธานศาลรธน. 1 ใน 4 ตุลาการ : ความเป็นรมต.ของ 'เศรษฐา' ไม่สิ้นสุดลง

สืบเนื่องจาก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพา

กางไทม์ไลน์ตั้งครม.ชี้สส.ส่อผิดม.185 รมต.3 คน โดนด้วย หวั่นตกม้าตายก่อนได้ทำงาน

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ถกเถียงด้วยข้อกฎหมายว่า ความเป็นรัฐมนตรีในครมชุดนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด มีการครอบงำหรือครอบครองการปฏิบัติหน้าที่จนผิดกฏหมายหรือไม่

สวนกลับ สุดเดือด 'หมอวรงค์' ท้ารบ 'ธรรมนัส' ลั่น กูไม่กลัวมึง

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์วีดีโอในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผมโพสต์เฟสเตือนคุณธรรมนัส ด้วยความห่วงใย เพราะวันนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า

'ไอซ์ รักชนก' ปากแจ๋ว! ถล่มศาลรธน. ของบ 1 ล้าน สำรวจความเห็นประชาชน

นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน อภิปรายมาตรา 31 ศาล ถึง โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการอำนวยความยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 68 จำนวน 1 ล้านบาท