ลุยแก้รธน.ริบอำนาจศาล อ้างเดินสายกลาง 'ชูศักดิ์' มั่นใจประชามติ มีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า

'ชูศักดิ์' ยันแก้รธน.ริบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ-ตีกรอบปมจริยธรรม ไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่เดินสายกลางเพื่อความยุติธรรม ปัดอุ้ม 'นายกฯอิ๊งค์' หลังเสนอแก้ในนามพรรคการเมือง หวั่นอีหลักอีเหลื่อเพราะรบ.เตรียมแก้ทั้งฉบับ โวมั่นใจประชามติผ่านฉลุย เชื่อมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า ยังแย้มดาบสองเตรียมแก้อำนาจป.ป.ช.

20 ก.ย.2567- นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงสาระสำคัญของการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ฉบับพรรคเพื่อไทย 6 ประเด็น ว่าในส่วนของมาตรฐานจริยธรรม เรายังไม่มีจุดเริ่มว่าจะนับตรงไหน แต่มีความคิดว่าจะเริ่มตั้งแต่ศาลฎีการับฟ้องคดีจริยธรรมเป็นต้นถึงจะเข่าข่ายขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรงห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยกระบวนการจริยธรรมจะต้องมีการไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน ซึ่งจะต้องมีมูล และร้องไปที่ศาลฎีกา เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีหลักฐานพอสมควรว่าฝ่าฝืนจริยธรรม แตกต่างจากเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ที่จะใช้เกณฑ์ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่

นายชูศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นแก้มติศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการตัดสินความสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสส. สว. และรัฐมนตรี จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมาก มาใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่มีอยู่ ว่า หากคดีดังกล่าวมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน ก็ต้องมี6 เสียงที่สั่งให้พ้นหน้าที่ จึงจะมีผลทำให้หลุดจากตำแหน่ง โดยหลักคิดของเราการที่จะเอาคนออกจากตำแหน่งควรจะต้องใช้เสียงพอสมควร เพราะถึงขั้นเอาคนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสส. จึงควรเป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานพอสมควร ตนคิดว่าถือเป็นการสร้างความชอบธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะไปว่ากันตรงนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

เมื่อถามว่ารัฐมนตรีที่เคยติดคุก แต่ตัดทิ้งเพราะอะไร อย่างกรณีที่ศาลชั้นต้น ตัดสินคดียังไม่ถึงที่สุด แต่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้มีแนวคิดอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติ และเหตุของการพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมากกว่า เพราะเหตุที่เขาเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก ความจริงแล้วยังไม่เคยถูกจำคุก หรือบางคน ก็ถูกศาลสั่งให้รอลงอาญา ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด แต่หากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว และมีเหตุนั้นเกิดขึ้นหรือคดีถึงที่สุด เป็นความชอบธรรมมากกว่า จึงได้เขียนไป เหตุสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้วันไหน หลังประธานรัฐสภาระบุว่าวันที่ 25 ก.ย.นี้ ไม่สามารถพิจารณาได้ทัน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยมีการเสนอแล้วในที่19 ก.ย.ส่วนที่กำหนดไว้วันที่ 25 ก.ย. เป็นเพียงตุ๊กตาซึ่งสามารถบวก ลบวันที่จะพิจารณาได้ โดยหลักการคือพิจารณาไปพร้อมกันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งจะพิจารณาในรัฐสภา 3 วาระ และก่อนทูลเกล้าฯจะต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชน ซึ่งคาดว่าจะทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับช่วงเดือนม.ค.ปี68

เมื่อถามว่ามีคนมองว่าทำไม พรรคเพื่อไทย เลือกแต่เพียงแก้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แตะการแก้อำนาจของ ป.ป.ช อย่างที่พรรคประชาชน เสนอ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงป.ป.ช. เราก็มี ร่างแก้ไขพ.ร.บ. ป.ป.ช.เหมือนกัน ซึ่งมีการแก้ไขหลายเรื่อง

ถามอีกว่ากรณีที่พรรคการเมืองดำเนินการเองโดยที่ไม่เป็นร่างของรัฐบาล เป็นการป้องกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เราเห็นว่า เรื่องนี้ร่างของรัฐบาลก็มีภาระหน้าที่อยู่แล้วในการที่มีเรื่องของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องทำอยู่ ถ้ารัฐบาลนำเรื่องนี้ไปทำอีก มันก็อีหลักอีเหลื่อเราจึงคิดว่า ขณะนี้สส.ทำอยู่แล้ว ก็ให้สส.ในพรรคการเมืองทำกันไป ก็แยกหน้าที่กัน เพราะการที่รัฐบาลทำทั้งฉบับอยู่แล้ว จะเสนอให้ทำเป็นรายมาตราอีก มันก็ดูยังไงอยู่ ว่าจะเอายังไงกันแน่

เมื่อถามว่าเสียงในสภาไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นการทำประชามติจะมีอุปสรรคอะไรหรือไม่โดยเฉพาะการทำประชามติ เหมือนกับว่านักการเมืองจะได้ประโยชน์อย่างเดียวและประชาชนไม่ได้อะไร จะทำให้ถูกคว่ำประชามติ เพราะอาจทำให้ถูกร้องว่าผลประโยชน์ขัดกันนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดว่าประชาชนไม่ได้อะไร เรามองว่าทำกฎหมายให้ชัดเจน ให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเราระมัดระวังจุดนี้ ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมในระบบ มองอย่างนั้นจะดีกว่าสบายใจกว่า ส่วนของประชาชน รอทั้งฉบับเลย เพราะรัฐบาลเขาก็ใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ส่วนในชั้นประชามติจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่เพราะได้แก้ไขกฎหมายโดยใช้เสียงข้างมากปกติแล้ว จากเดิมต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น นายชูศักดิ์ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อถามอีกว่าในประเด็นเรื่องการถูกมองผลประโยชน์ทับซ้อน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีอะไร มันไม่ได้ทับซ้อนอะไร ทุกอย่างยังเดินสายกลาง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเพียงแต่จะทำให้เกิดความชัดเจน หลักเกณฑ์ชัดขึ้น ซึ่งคิดว่าสังคมจะเป็นธรรมมากขึ้นมากกว่า และคาดว่า เดือน ม.ค.ปีหน้าก็น่าจะเสร็จสิ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิ๊กอ้วนหงุดหงิด! ถูกจี้ถาม สส.เพื่อไทยในคดีตากใบ

'ภูมิธรรม' หงุดหงิดถูกจี้ถามคดีตากใบ บอกไม่รู้ 'พล.อ.พิศาลและพวก' อยู่ในไทยหรือไม่ แต่หากอยู่ก็ถูกจับหรือเชิญตัวไปแล้ว ขอสื่อใส่ใจเรื่องน้ำท่วมช่วยประชาชน

'หริรักษ์' ชี้เพื่อไทยขว้างงูไม่พ้นคอ เล่นเกมเขย่าแบงก์ชาติ แต่คนหน้าแหกคือ นายกฯอิ๊ง

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี นักข่าวตั้งคำถามเรื่อง

'เพื่อไทย' พับแผนแก้กฎหมายลูก! หวังยืมมือ ส.ส.ร.ตอนร่างรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐบาลเพื่อไทยพลิกเกม หวังยืมมือ ส.ส.ร. ดันแก้กฎหมายลูกปมยุบพรรค-ครอบงำพรรค ริบอำนาจ ป.ป.ช. หลบกระแสต้านแก้ รธน.รายมาตรา

'ธนาธร' โผล่ป้องพรรคประชาชนไม่ได้ชงแก้แค่เรื่องจริยธรรมอย่างเดียว

'ธนาธร' เชื่อ แก้รธน.ทั้งฉบับติดขัดโอกาสเสร็จในสภาชุดนี้ หรือปี 70 ยาก ควรแก้ไขรายประเด็น ชี้ 'ปชน.' ไม่ได้แก้เพียงปมจริยธรรม แต่เสนอยกเลิกมรดกรัฐประหาร -ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี