18 ก.ย.2567 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้องที่ 1 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ถูกร้องที่ 2
ทั้งนี้รายงานดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจสอบเมื่อ 20 ก.ค.2567 โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. ความเป็นมา
ผู้ร้องร้องเรียนทางโทรศัพท์ตามคำร้องที่ ๑๓๘/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ว่า เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ช่วงกลางคืนต่อเนื่องวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ผู้ถูกร้องที่ ๑ อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น กรณีดังกล่าวอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ
๒. การตรวจสอบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ และระเบียบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ๒๕๖๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากการชี้แจงข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังต่อไปนี้
๒.๑ รายการเอกสาร พยานหลักฐานจากการตรวจสอบ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง
๒.๑.๑ หนังสือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่ ยธ ๐๗๒๔/๔๘๔๙ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๒ หนังสือผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ ยธ ๐๗๖๘/๙๑๖๐ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๓ หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ที่ ยธ ๐๗๐๕.๔/๔๒๒๗๘ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๔ หนังสือผู้ถูกร้องที่ ๒ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ตช ๐๐๓๖.๑๖๑/๓๔ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๕ บันทึกสรุปการประชุมรับฟังข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๖ บันทึกสรุปการประชุมกับผู้ถูกร้องที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ ณ ห้องประชุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
๒.๑.๗ บันทึกสรุปการประชุมรับฟังข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๗ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๘ บันทึกสรุปข้อมูลจากเรือนจำจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗ ณ เรือนจำจังหวัดปทุมธานี
๒.๑.๙ บันทึกสรุปข้อมูลจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๗ ณ เรือนจำพิเศษมีนบุรี
๒.๑.๑๐ หนังสือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลับ ที่ ดศ (สคส) ๕๑๒/๔๙ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๑๑ บันทึกการให้ถ้อยคำของแพทย์สังกัดทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๒.๑.๑๒ บันทึกการให้ถ้อยคำของพยาบาลสังกัดทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๒.๑.๑๓ บันทึกการให้ถ้อยคำของพยาบาลวิชาชีพสังกัดผู้ถูกร้องที่ ๑ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๒.๑.๑๔ บันทึกการให้ถ้อยคำของผู้แทนผู้ถูกร้องที่ ๒ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๒.๑.๑๕ หนังสือผู้ถูกร้องที่ ๑ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ยธ ๐๗๖๘/๗๒ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๑๖ บันทึกการให้ถ้อยคำของผู้แทนสถาบันโรคทรวงอกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๗
๒.๑.๑๗ หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ที่ ยธ ๐๗๐๕.๔/๗๒๑๕ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๑๘ หนังสือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ ดศ (สคส) ๕๑๒/๔๔๑ ลงวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๑๙ หนังสือผู้ถูกร้องที่ ๒ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ตช ๐๐๓๖.๑๖๑/๒๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๒๐ หนังสือคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ลับ ที่ ดศ (สคส)๕๑๒/๓๗๘ ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๑.๒๑ หนังสือกรมราชทัณฑ์ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ยธ ๐๗๐๕.๔/๖๙ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒.๒ ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบ
๒.๒.๑ ข้อเท็จจริงจากผู้ร้อง
รายละเอียดปรากฏตามความเป็นมาในข้อ ๑
๒.๒.๒ ข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง
๑) ผู้ถูกร้องที่ ๑ ชี้แจง ดังนี้
๑.๑) การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย ผู้ถูกร้องที่ ๑ ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (Standard Operating Procedures for Custodial Measures: SOPs) และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้าใหม่และผู้ต้องขัง เข้า-ออกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้แก่ ตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล จัดทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง พิมพ์ลายนิ้วมือ ตรวจค้นตัว คัดกรองโรค ตรวจสุขภาพ ซักประวัติการเจ็บป่วย จากนั้นจะแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ไปที่แดนเฝ้าระวังโรคเป็นเวลา ๕ วัน หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จะจำแนกเข้าแดนต่อไป แต่หากพบว่าติดเชื้อจะต้องแยกกักตัวอีก ๕ วัน
๑.๒) ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ และได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำโดยมีหลักการว่าให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉิน สามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำจะรับตัวผู้ต้องขังที่ป่วยกลับมาเมื่อมีอาการดีขึ้นและแพทย์สั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ส่วนห้องสำหรับพักรักษาตัว เสื้อผ้าที่สวมใส่ และระยะเวลาการรักษา เป็นไปตามที่โรงพยาบาลกำหนด เรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง ๑ คน ต่อเจ้าหน้าที่ ๒ คน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓
๑.๓) ผู้ถูกร้องที่ ๑ รับตัวนายทักษิณเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. และเนื่องจากนายทักษิณเป็นผู้ต้องขังรายสำคัญ ผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงมีหนังสือประสานขอแพทย์จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้ามาตรวจร่างกาย จากการตรวจพบว่า นายทักษิณมีโรคประจำตัวที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดที่ปอด กระดูกสันหลังเสื่อม และโรคหัวใจ โดยแพทย์ให้ตรวจติดตามอาการทุก ๓-๔ ชั่วโมง และส่งใบคำแนะนำไปยังสถานพยาบาลของผู้ถูกร้องที่ ๑
๑.๔) เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. พยาบาลเวรรายงานว่า นายทักษิณมีค่าความดันโลหิตสูง มีอาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย แน่นหน้าอก ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ พัศดีเวรจึงให้พยาบาลเวรโทรศัพท์ประสานกับแพทย์เวรของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายขณะรับตัว โดยแพทย์เห็นว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวนายทักษิณไปยังผู้ถูกร้องที่ ๒ ซึ่งมีความพร้อมและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พัศดีเวรจึงได้อนุมัติให้ส่งตัวนายทักษิณไปรักษากับผู้ถูกร้องที่ ๒ โดยแพทย์ของผู้ถูกร้องที่ ๒ ได้รับตัวนายทักษิณไว้รักษาเมื่อเวลาประมาณ ๐๐.๒๐ น. ของวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่สามารถเปิดเผยเอกสารการตรวจร่างกายก่อนเข้าเรือนจำและผลการตรวจร่างกายของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ไม่อาจเปิดเผยได้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๕ (๕)
๑.๕) ผู้ถูกร้องที่ ๑ มีสถิติการส่งตัวผู้ต้องขังไปรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในปี ๒๕๖๓ รวม ๒๐๑ ราย ปี ๒๕๖๕ รวม ๙ ราย และปี ๒๕๖๖ รวม ๒๓๘ ราย นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๖๕ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ส่งตัวผู้ต้องขังไปเป็นผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลอื่นอีก ๒๘ ราย ได้แก่ สถาบันโรคทรวงอก ๕ ราย โรงพยาบาลตำรวจ ๑๖ ราย สถาบันประสาทวิทยา ๒ ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ๑ ราย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ๑ ราย โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ๑ ราย โรงพยาบาลราชวิถี ๑ ราย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๑ ราย ทั้งนี้ ช่วงปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19
๒) ผู้ถูกร้องที่ ๒ ชี้แจงดังนี้
๒.๑) ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีหน้าที่รักษา กำหนดแนวทางการรักษา และรายงานอาการของผู้ป่วยตามความเป็นจริง ส่วนการรักษาความปลอดภัยและการเข้าเยี่ยมของญาติผู้ต้องขังเป็นหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์
๒.๒) ผู้ถูกร้องที่ ๒ รับตัวผู้ป่วยจากกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานีตำรวจต่าง ๆ มารักษาตัวหลายรายต่อปี การกำหนดห้องพักรักษาตัวขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายและความพร้อมของห้องเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ควบคุมตัวด้วย หากเห็นว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม สามารถโต้แย้งได้ รวมถึงการให้ผู้ต้องขังรักษาต่อหรือย้ายออกก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีห้องสำหรับผู้ต้องขังโดยเฉพาะ ๑ ห้อง ๔ เตียง ซึ่งมีกรงเหล็กป้องกันการหลบหนี โดยส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่พักห้องดังกล่าวเป็นผู้ต้องขังที่มีแนวโน้มจะหลบหนี
๒.๓) โดยปกติหากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ผู้ถูกร้องที่ ๒ จะแจ้งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้ทราบก่อน แต่หากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังไม่พร้อมรับตัวผู้ป่วยรายนั้นกลับไปดูแลก็จะแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ รับตัวผู้ต้องขังไว้รักษาตัวไปก่อน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่าตัดและต้องให้เคมีบำบัดซึ่งต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่การเดินทางจากผู้ถูกร้องที่ ๒ ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จะสะดวกกว่าจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แพทย์จะให้พักรักษากับผู้ถูกร้องที่ ๒ ต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น
๒.๔) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ผู้ถูกร้องที่ ๒ ปรับปรุงชั้น ๑๔ อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ ๘๘ พรรษา ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑ ห้อง และห้องพิเศษทุกห้องที่ยังใช้การได้เพื่อรองรับผู้ป่วยในภาวะกึ่งวิกฤติที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีเครื่องมือครบ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยวิกฤติต้องให้อยู่ในห้องฉุกเฉินเท่านั้น ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่ชั้น ๑๔ เป็นระยะ แพทย์ให้กลับบ้านไปแล้วประมาณ ๘-๙ คน แต่ช่วงหลังเครื่องปรับอากาศบางห้องชำรุด จึงรับผู้ป่วยเฉพาะห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศได้ ประมาณ ๕-๖ ห้อง ซึ่งรวมถึงห้องของนายทักษิณที่พักรักษานานกว่าบุคคลอื่น
๒.๕) แพทย์ผู้รับตัวนายทักษิณชี้แจงว่า ช่วงกลางคืนวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ขณะออกไปตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินของผู้ถูกร้องที่ ๒ โทรศัพท์มาแจ้งว่า เรือนจำส่งผู้ต้องขังมารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ปริมาณออกซิเจนต่ำ ตนจึงตอบรับให้ส่งตัวมาตรวจได้ และได้รับแจ้งทางโทรศัพท์อีกครั้งว่าขณะนี้ห้องคนไข้เต็มทุกอาคาร ตนจึงให้ส่งไปห้องใด ๆ ที่ยังว่าง เมื่อไปตรวจจึงทราบว่าคนไข้คือนายทักษิณ ซึ่งขณะนั้นสวมหน้ากากออกซิเจนและยังสื่อสารรู้เรื่องแต่ตอบสนองช้า ตนจึงรักษาเบื้องต้นและประเมินอาการเพื่อนำไปปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยห้องที่นายทักษิณรักษาตัวถือเป็นห้องพิเศษระดับปกติ ไม่ใช่ห้องใหญ่หรือมีอัตราค่าห้องที่แพงที่สุด ทั้งนี้ หากกรมราชทัณฑ์เห็นว่าห้องดังกล่าวไม่เหมาะสามารถแจ้งให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ ย้ายนายทักษิณไปพักรักษาที่ห้องอื่นได้
๒.๖) ผู้ถูกร้องที่ ๒ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับนายทักษิณได้แสดงเจตนาไว้ในหนังสือ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ไม่ยินยอมให้สถานพยาบาลเปิดเผยข้อมูล/ส่งข้อมูล หรือสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ อีกทั้งรายงานทางการแพทย์เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
๒.๗) สาเหตุที่นายทักษิณต้องพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคความเสื่อมของกระดูกต้นคอ กระดูกหลัง โรคปอดเรื้อรัง โดยมีหลักฐานทางการแพทย์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรคอื่นเพิ่มขึ้นด้วย และระหว่างพักรักษาตัว นายทักษิณมีภาวะวิกฤติเป็นระยะ เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งการจะให้ออกจากโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ว่าสามารถดูแลรักษาต่อได้หรือไม่ เพราะผู้ถูกร้องที่ ๒ มีหน้าที่เพียงให้ความเห็นทางการแพทย์ตามวิชาชีพและระบุอาการป่วยตามความเป็นจริงให้กรมราชทัณฑ์ทราบและพิจารณาเท่านั้น
๒.๘) ระหว่างเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ถึงกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ มีผู้ต้องขังที่นอนพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ ๒ นานที่สุดเมื่อปี ๒๕๖๕ จำนวน ๑ ราย เป็นผู้ต้องขังอายุ ๖๖ ปี รักษาตัวเป็นเวลา ๖๘ วัน ที่แผนกอายุรกรรม
๒.๒.๓ ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
๑) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
๑.๑) ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้ในกรณีไม่ซับซ้อนหรือไม่ฉุกเฉินร้ายแรง แต่โรคที่มีอาการรุนแรง เช่น เส้นเลือดสมองตีบฉับพลัน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรักษา แพทย์จะแนะนำให้ส่งต่อโรงพยาบาลอื่น
๑.๒) เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้มีหนังสือขอให้มอบหมายแพทย์เข้าตรวจร่างกายในขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ซึ่งในวันดังกล่าว แพทย์และพยาบาลได้ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยพิจารณาร่วมกับประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลของประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากนั้นได้เขียนใบส่งตัวไว้เพื่อให้สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจเกินศักยภาพของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
๑.๓) เวลา ๒๓.๕๙ น. ของวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ พัศดีเวรได้รายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอกความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วต่ำ พยาบาลเวรจึงโทรศัพท์ขอคำปรึกษาจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ โดยแพทย์ได้สอบถามอาการอย่างละเอียดและพิจารณาจากประวัตินายทักษิณแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและศักยภาพของโรงพยาบาลแล้ว จึงแนะนำให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น และแม้สถาบันโรคทรวงอกจะตั้งอยู่ใกล้ผู้ถูกร้องที่ ๑ แต่จากอาการในภาพรวม ผู้ถูกร้องที่ ๒ น่าจะมีความพร้อมมากกว่า เพราะมีแพทย์หลายสาขา รวมถึงมีบันทึกข้อตกลงกับกรมราชทัณฑ์
๒) กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง ดังนี้
๒.๑) การอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๗ โดยผู้ต้องขังที่รักษาตัวเกินระยะเวลา ๑๒๐ วัน เรือนจำจะรายงานต่อกรมราชทัณฑ์เพียงครั้งเดียว และรายงานอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
๒.๒) กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๓ วรรคหนึ่ง และข้อ ๔ วรรคหนึ่ง ได้วางหลักการไว้ว่า “เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ ... (๒) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าพักในห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ ๓ จัดให้” และข้อ ๕ กำหนดว่า “ผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ ... (๒) ใช้สิทธิของผู้ต้องขังตามที่ทางราชการจัดให้และห้ามเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกไปจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ ๓ จัดให้...” ดังนั้นเมื่อนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ หากโรงพยาบาลนั้นจัดให้พักรักษาตัวในห้องที่มีการควบคุมพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยรายอื่น ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ โดยไม่ได้กำหนดให้เรือนจำต้องรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และมีเจ้าหน้าที่ของเรือนจำทำหน้าที่ควบคุม ๒ คน ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานเสนอทุกครั้ง ยกเว้นกรณีพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังรายสำคัญหรือผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต เจ้าหน้าที่อาจต้องรายงานเป็นระยะบ่อยขึ้น เนื่องจากการเสียชีวิตของผู้ต้องขังผูกพันกับผลการปฏิบัติงานของเรือนจำด้วย
๒.๓) แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าควรส่งตัวผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาที่โรงพยาบาลใด ส่วนกรณีฉุกเฉิน เรือนจำสามารถส่งผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ถึงแม้จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในสถานที่ที่โรงพยาบาลจัดให้ โดยไม่สามารถเลือกห้องพักเองได้ ทั้งนี้ ผู้ต้องขังที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำจะใช้สิทธิการรักษาของตนเอง และผู้ป่วยหรือญาติจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเกิน
๒.๔) กรณีผู้ต้องขังเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เมื่อการรักษาสิ้นสุดหรืออาการทุเลา แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาจำหน่ายผู้ต้องขังป่วยกลับเข้าเรือนจำหรือไปพักรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
๒.๕) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๖ เรือนจำ/ทัณฑสถานส่งผู้ต้องขังออกไปรักษาภายนอกตลอดมา ทั้งนี้ มีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยในรักษาอยู่นานที่สุดเป็นระยะเวลา ๕๐ วัน ด้วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รองลงมา ๔๕ วัน ด้วยอาการผิดปกติที่พบจากการตรวจทางคลินิกและตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังป่วยจิตเวช ๒ ราย ซึ่งรักษาตัวเกินกว่า ๑๒๐ วัน อยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลกและสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยเรือนจำได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และไม่ต้องรายงานการรักษาตัวต่อเนื่องมายังกรมราชทัณฑ์อีก
๒.๖) หลังจากที่นายทักษิณพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ ๒ ครบ ๑๒๐ วัน ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้รายงานขอความเห็นชอบจากกรมราชทัณฑ์แล้วโดยไม่ได้รายงานการรักษามายังกรมราชทัณฑ์อีก ฃจนได้รับการปล่อยตัวพักโทษไปเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
๓) สถาบันโรคทรวงอก ชี้แจง ดังนี้
สถาบันมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจและปอด ซึ่งจะรับผู้ป่วยจากเรือนจำทั้งแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากนี้ยังมีระบบให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและมีโรคร่วมอื่น ที่สถาบันมีข้อจำกัด ที่ไม่อาจรับไว้รักษาได้ โดยผู้ป่วยในของสถาบันส่วนใหญ่จะมีภาวะฉุกเฉิน ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาตามประเภทของโรคและอาการของผู้ป่วยว่าควรพักรักษาที่ห้องใด ผู้ป่วยที่จะพักห้องพิเศษได้ต้องพ้นภาวะวิกฤติและดูแลตัวเองได้หรือญาติดูแลได้ เมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินแล้ว เรือนจำจะรับผู้ต้องขังกลับไปซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำที่ปฏิบัติหน้าที่เฝ้าผู้ต้องขังจะสื่อสารกับแพทย์และพยาบาลโดยตลอด จึงทราบอาการของผู้ต้องขังอยู่แล้ว ที่ผ่านมาผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะพักรักษาตัวไม่ถึง ๓๐ วัน และเคยรักษาผู้ป่วยนานสุด ๓๓ วันเป็นผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจซึ่งมีภาวะแทรกซ้อน
๔) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ชี้แจง ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๓ (๑) การพิจารณาว่าหน่วยงานของรัฐหรือโรงพยาบาลที่ครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลจะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗ ประกอบมาตรา ๔๙ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะก่อน หากข้อมูลดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบด้วย แล้วพิจารณาตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นการเพิ่มเติม
๕) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ชี้แจง ดังนี้
๕.๑) ข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีหลักการเดียวกัน คือ ห้ามไม่ให้เปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ บัญญัติหลักการไว้ว่าเจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ ยกเว้นมีเหตุตามมาตรา ๒๔
๕.๒) กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ครอบครองข้อมูลเห็นว่าหน่วยงานหรือบุคคลที่มาขอข้อมูลผู้ป่วยเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๒๔ แล้ว จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๕ อีกครั้งว่า การเปิดเผยรายงานการแพทย์หรือข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควรหรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และประโยชน์ของผู้ขอข้อมูลประกอบกัน เช่น เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิต แต่ปัญหาในกรณีตามคำร้องนี้คือ หน่วยงานเจ้าของข้อมูลปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลไปแล้วว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐและประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น ผู้ขอข้อมูลต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หากคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยให้เปิดเผยผู้ถูกร้องที่ ๒ หรือกรมราชทัณฑ์ต้องเปิดเผยให้กับผู้ขอข้อมูลภายใน ๗ วัน หากหน่วยงานไม่ยอมเปิดเผย ผู้ขอสามารถนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองได้
๕.๓) พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถือเป็นกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ หน่วยงานจึงสามารถปฏิเสธตามกฎหมายเฉพาะได้ และผู้ขอข้อมูลสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งจะพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๕ เช่นเดียวกัน
๒.๒.๔ ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ
๑) รองศาสตราจารย์ธีระ วรธนารัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิของกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และการเลือกปฏิบัติ ให้ความเห็นว่า
๑.๑) จากข้อมูลด้านสุขภาพของนายทักษิณเห็นว่า ช่วงแรกรับนายทักษิณมีระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสัมพันธ์กับภาวะพังผืดที่ปอดที่อาจทำให้ความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลงกว่าคนปกติในอายุเท่ากัน อาการหลักคือ เหนื่อยและแน่นหน้าอก ซึ่งอาจสัมพันธ์กับความผิดปกติของหัวใจ และ/หรือปอด อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันก็ได้ ส่วนค่าออกซิเจนต่ำลงบ่งบอกถึงแนวโน้มการเกิดออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ข้างต้นร่วมด้วย กระบวนการทางการแพทย์ที่ควรทำ ณ ขณะนั้นคือการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น แต่ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดมาก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าอาการดังกล่าวถือเป็นภาวะวิกฤติหรือไม่
๑.๒) การรักษาตัวนานกว่า ๑๒๐ วัน อาจเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพและปัญหาของผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา หรือภาวะไม่พึงประสงค์จากยาที่ได้รับ ส่วนระยะเวลาในการรักษาตัวหลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดและจำนวนครั้งที่ผ่าตัดด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ตั้งแต่ไม่กี่วันจนถึงหลายสัปดาห์ โดยตามมาตรฐานเวชปฏิบัติ แพทย์จะตรวจรักษาและประเมินผู้ป่วยเป็นระยะ รวมทั้งบันทึกความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ในการทบทวนธรรมชาติของการป่วย และการตอบสนองต่อการดูแลรักษาของผู้ป่วย รวมถึงระบุแผนการดูแลรักษา และ/หรือแผนการจำหน่ายผู้ป่วยตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
๒) รองศาสตราจารย์ไวพจน์ จันทร์วิเมลือง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้ความเห็นว่า
๒.๑) จากข้อมูลด้านสุขภาพที่มีอยู่เห็นว่า อาการโดยทั่วไปของ นายทักษิณถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นค่าออกซิเจนในเลือดที่ตรวจจากปลายนิ้วถือว่าต่ำกว่าปกติ ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องถือเป็นภาวะที่อันตราย เนื่องจากอาจทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดใส่บอลลูน โดยแพทย์สามารถใช้สายสวนหัวใจแล้วทำบอลลูนได้ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน ๑ วัน และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำบอลลูน ๒ วัน ทั้งนี้ เป็นเพียงการวิเคราะห์เบื้องต้น เนื่องจากไม่ทราบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่นร่วมด้วยหรือไม่
๒.๒) ผู้ป่วยมีประวัติเคยติดเชื้อ Covid-19 แล้วมีภาวะปอดเป็นพังผืด เข้าใจว่าเป็นโรคพังผืดอุดกั้นในถุงลม ซึ่งจะทำให้ปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้าสู่ระบบเลือดได้ไม่ค่อยดี แต่ต้องดูภาพจาก CT SCAN ว่าในปอดมีพังผืดมากน้อยเพียงใด และออกซิเจนต่ำลงมากน้อยเพียงใด โดยค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ ๙๖–๙๙ หากระดับออกซิเจนต่ำกว่าร้อยละ ๙๕ ลงมาถือว่าอันตราย เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยช็อกได้ ซึ่งทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถควบคุมอาการพังผืดเรื้อรังในปอดจาก Covid-19 ได้ด้วยยาพ่น ส่วนอาการหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือกระดูกไขข้อเสื่อมไม่น่ากังวล เพราะเพียงทำให้มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเคลื่อนไหวไม่ได้เท่านั้น ซึ่งไม่อันตรายถึงชีวิต
๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า
๓.๑) การเปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องอาการป่วยในกรณีนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ป่วยในเรือนจำอีกเป็นจำนวนมากที่ควรได้รับในมาตรฐานเดียวกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาการป่วยโดยละเอียด แต่ควรมีมาตรการให้ประชาชนสามารถเชื่อได้ว่า นายทักษิณป่วยหนักจริงจนถึงขั้นที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถรักษาได้ เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างของกฎหมายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย
๓.๒) กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ กำหนดไว้ว่า หากผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน ๓๐ วัน ๖๐ วัน และ ๑๒๐ วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา ๑๒๐ วันไปแล้วต้องขออนุมัติอีกหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นอีกช่องว่างที่ทำให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ การกำหนดให้การรักษาตัวเกิน ๖๐ วัน และ ๑๒๐ วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำเพียงแค่ขอความเห็นชอบจากอธิบดี และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีควรมีความรับผิดชอบในกรณีนี้ด้วย เพื่อควบคุมและป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด
๔) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายให้ความเห็นว่า
๔.๑) การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีมาตรฐานที่เป็นสากลอยู่ในข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners หรือข้อกำหนดแมนเดลา-Mandela Rules) ซึ่งวางหลักไว้ว่า เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้รับการปฏิบัติในเรื่องการรักษาอย่างเท่าเทียม โดยหลักการไม่เลือกปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๒ กรณี ได้แก่ (๑) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอก กล่าวคือ แม้บุคคลนั้นเป็นผู้ต้องขังก็ควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเท่ากับคนที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง และ (๒) การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ต้องขัง ที่ต้องถูกปฏิบัติเหมือนกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
๔.๒) การรักษาความลับของผู้ต้องขังป่วยย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ต้องขัง ยกเว้นข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น แต่การเปิดโอกาสให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจะช่วยให้สังคมแน่ใจได้ว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น กรมราชทัณฑ์จึงต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ต้องขังรายอื่นได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน และควรปรับปรุงกฎกระทรวง
การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจในการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น อันเป็นการป้องกันการเลือกปฏิบัติ
๒.๒.๕ การแสวงหาข้อเท็จจริงของพนักงานเจ้าหน้าที่
เนื่องจากในการตรวจสอบมีข้อจำกัดในการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณและข้อมูลที่จะนำมาพิจารณาเปรียบเทียบ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสวงหาข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา สรุปได้ดังนี้
๑) จากเอกสารของกรมราชทัณฑ์ “กรมราชทัณฑ์แจงกรณีการปล่อยตัวพักการลงโทษนายทักษิณ ชินวัตร” ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สรุปว่า กรณีของนายทักษิณจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไป ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือ ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษ แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำประเด็นการปฏิบัติต่อนายทักษิณที่แตกต่างไปจากนักโทษรายอื่น ไปอภิปรายในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๒ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ ๒) ระหว่างวันที่ ๓-๔ เมษายน ๒๕๖๗ เช่น นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ได้อภิปรายถึงการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมกรณีนายทักษิณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดโทษ การรักษาตัวนอกเรือนจำ และการได้รับการพักโทษตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากประเด็นดังกล่าวจะสร้างความเคลือบแคลงให้แก่สังคมแล้ว ยังถูกตั้งคำถามและข้อสงสัยโดยสมาชิกในองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
๓) มีผู้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้นายทักษิณไปรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยมีประเด็นที่ร้องเรียนประกอบด้วย การส่งนายทักษิณไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ ไม่ถูกต้องเหมาะสม ผิดกฎกระทรวงในการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ การไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. ๒๕๖๕ การจัดให้อยู่ห้องพิเศษ ชั้น ๑๔ ต่อเนื่องกว่า ๑๘๐ วัน และการให้พักโทษกรณีพิเศษไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำร้องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
๓. ความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำหรือละเลย การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการรักษาพยาบาลของนายทักษิณหรือไม่โดยมีข้อพิจารณา ดังนี้
๓.๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗ บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้ และมาตรา ๓๒ บัญญัติรับรองว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิดังกล่าว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อีกทั้งมาตรา ๔๗ บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ
๓.๒ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ ๗ กำหนดให้ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยหลักการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ ๒๖ ที่กำหนดให้บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทั้งนี้ สำหรับสิทธิในด้านสุขภาพนั้น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ ๑๒ รับรองสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางแพทย์ และการให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ทุกคนในกรณีเจ็บป่วย นอกจากนี้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ข้อ ๒๔ กำหนดให้การให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้ต้องขังเป็นความรับผิดชอบของรัฐ โดยผู้ต้องขังควรได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานเช่นเดียวกับที่รัฐจัดให้กับประชาชนอื่น และจะต้องสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสถานภาพด้านกฎหมายของตน
๓.๓ สำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยนั้น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง วางหลักไว้ว่า ผู้ต้องขังย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจจากแพทย์โดยเร็ว และหากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำที่ถูกควบคุมตัว จะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์และต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำก่อน โดยให้ส่งผู้ต้องขังไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐเป็นลำดับแรก เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินสามารถส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยเรือนจำมีหน้าที่จัดกำลังควบคุมผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีในอัตราผู้ต้องขัง ๑ คน ต่อเจ้าหน้าที่ ๒ คน ซึ่งการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำเกินกว่า ๓๐ วัน ให้เรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดี ระยะเวลาเกินกว่า ๖๐ วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้ปลัดกระทรวงทราบ และระยะเวลาเกินกว่า ๑๒๐ วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานให้รัฐมนตรีทราบ โดยจะรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบอีกครั้งเมื่อผู้ต้องขังกลับเข้าเรือนจำ
๓.๔ กรณีการส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ นั้น ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของแพทย์และพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ประกอบความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อาการป่วยของนายทักษิณเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยเฉพาะค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ ๙๕ ประกอบกับความดันโลหิตสูง ถือว่าอยู่ในภาวะอันตรายเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการช็อกได้
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและความเห็นดังกล่าวแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณออกไปรักษาภายนอกเรือนจำเมื่อวันที่ ๒๒ ต่อเนื่องวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ เป็นการดำเนินการภายใต้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะนั้นและมีความมุ่งหมายที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดต่อชีวิตและสุขภาพของนายทักษิณ จึงถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร
๓.๕ กรณีผู้ถูกร้องที่ ๒ รับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพักชั้น ๑๔ อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ ๘๘ พรรษา นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
๑) การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤติซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น ๑๔ เนื่องจากขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ ๒ ให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยผู้ถูกร้องที่ ๒ ชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษซึ่งตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว
๒) กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษเนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป
๓) ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพและให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของผู้ถูกร้องที่ ๒ อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวพักโทษและออกจากผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
๓.๖ สำหรับกรณีผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๒ อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานานนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
๑) ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณจากผู้ถูกร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากนายทักษิณในฐานะเจ้าของข้อมูลเสียก่อน ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ อย่างไรก็ตาม หากนายทักษิณ
มีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติจริงตามที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ ชี้แจง ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดและพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินตามที่ได้มีความเห็นไว้แล้วในข้อ ๓.๕
๒) นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของผู้ถูกร้องที่ ๑ ตามโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางออกจากผู้ถูกร้องที่ ๒ กลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ ๒ มาโดยตลอด
๓) ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงกับต้องรักษาตัวกับผู้ถูกร้องที่ ๒ นานถึง ๑๘๑ วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่มุ่งคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล จึงถือว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
๓.๗ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๕ (๒) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และข้อ ๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน ๓๐ วัน ๖๐ วัน และ ๑๒๐ วัน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีและรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบตามลำดับชั้น พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีข้อกำหนดว่าหากเลยระยะเวลา ๑๒๐ วันไปแล้วต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน ๖๐ วัน และ ๑๒๐ วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวะขาดการตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีดังกล่าวต่อไป
๓.๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามความเห็นข้างต้นแล้ว การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ด้วย ประกอบกับระหว่างการตรวจสอบได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ จึงเห็นควรส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖ ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ ๖
๔. มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๒๘/๒๕๖๗ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จึงมีมติว่า
๔.๑ การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ส่งตัวนายทักษิณไปรักษาที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นการดำเนินการขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขังตามสมควร แต่การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองให้นายทักษิณพักรักษาตัวในห้องพิเศษและรักษาตัวเป็นระยะเวลานานโดยยังไม่อาจเชื่อได้ว่าป่วยจนอยู่ในภาวะวิกฤติสลับปกติเป็นระยะ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
๔.๒ ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๑) และ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖ (๑) และ (๓) ประกอบมาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๒ ดังนี้
๔.๒.๑ มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
๑) ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำของโรงพยาบาลตำรวจตามหน้าที่และอำนาจ และกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้อีก โดยต้องเปิดเผยความคืบหน้าเป็นระยะและแจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย
๒) ให้แพทยสภาตรวจสอบการกระทำของแพทย์สังกัดโรงพยาบาลตำรวจที่เป็นผู้ทำการรักษาหรือมีความเห็นทางการแพทย์ในกรณีตามคำร้องนี้ แล้วดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
๔.๒.๒ มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางและวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีเหตุยกเว้นตามนัยมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ป้องกันการเลือกปฏิบัติ และคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
๔.๒.๓ ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ดังนี้
๑) แก้ไขข้อ ๕ (๒) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า “ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังนั้น ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย”
๒) แก้ไขข้อ ๗ ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องใช้อำนาจ ในการพิจารณาความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา มิใช่เพียงรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร
๔.๓ ให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๒๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖ ประกอบประกาศองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวปฏิบัติในการรับส่งเรื่องระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ข้อ ๖
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
ถ้าไม่ยอมเข้าคุกก็หนีต่อ! คำพิพากษาศาล ไม่เหนือกว่า พระบรมราชโองการ
คนบางคนคิดว่าตัวเองใหญ่คับฟ้าใหญ่คับบ้านคับเมืองพองตัวเป็นอึ่งอ่าง คุกสักวันก็ไม่ยอมติด
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
'ทักษิณ' เร่งดันบ่อน! เชื่อผลสอบแพทยสภาหยุดผีเปรตพนันได้
ครม.เร่งดันบ่อนพนัน จ่อมอมเมาคนไทย ขอ ปชช.ร่วมสามัคคีคัดค้าน หวังแพทยสภา-ปปช.ไต่สวนป่วยทิพย์ชั้น 14 เสร็จเร็ว เชื่อเปลี่ยนการเมือง หยุด
ตามนัด! ‘คปท.’ บุกจี้ ‘บิ๊กต่าย’ เร่งรพ.ตำรวจส่งเวชระเบียน ’ทักษิณ’ เบี้ยวมียกระดับ
แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และกองทัพธรรม เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. สอบถามกรณีที่แพทยสภาได้ทำหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจ
'รมว.ยธ.' แนะ 'รพ.ตำรวจ' โชว์โปร่งใส ส่งเวชระเบียน 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช.
'รมว.ยธ.' แนะ รพ.ตำรวจ ส่งเวชระเบียนรักษา 'ทักษิณ' ให้ ป.ป.ช. สร้างความโปร่งใสมีธรรมาภิบาล อ้างกรมราชทัณฑ์ให้ความร่วมมือตลอด