15 ก.ย. 2567 - เมื่อเวลา 09.00 น. นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 15 ก.ย. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล รวม 129 อำเภอ 600 ตำบล 3,185 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 133,040 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยและดินถล่ม รวม 43 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวม 24 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 797 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,073 ครัวเรือน ดังนี้
1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง อ.เทิง อ.เมืองฯ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ รวม 35 ตำบล 132 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,215 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2) แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สบเมย และ อ.ปางมะผ้า รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 78 คน ระดับน้ำลดลง
3) น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเวียงสา รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 คน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4) ตาก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.พบพระ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง รวม 11 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 720 คน ระดับน้ำลดลง
5) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ รวม 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 361 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
6) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
7) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองไผ่ และ อ.ชนแดน รวม 5 ตำบล 13 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
8 )หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองฯ และ อ.รัตนวาปี รวม 18 ตำบล 77 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,528 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
9) เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากชม และ อ.เชียงคาน รวม 7 ตำบล 27 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
10) อ่างทอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอวิเศษชัยชาญ รวม 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 346 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
12) พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 82 ตำบล 411 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,820 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
13) ปราจีนบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.ประจันตคาม รวม 8 ตำบล 50 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 348 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่พื้นที่อื่นได้กำชับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ และเลือกใช้วิธีการที่ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ในส่วนของการเสริมกำลังดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนธิกำลังร่วมส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" สนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวดเชียงราย ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA รถผลิตน้ำดื่ม รถปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว รถบรรทุกเล็ก เรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ เสื้อชูชีพ และถุงยังชีพ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ปภ. ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 16 ชัยนาท และ เขต 17 จันทบุรี โดยใช้พื้นที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย เป็นจุดระดมทรัพยากร (staging area) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรับมอบภารกิจและกระจายทีมลงช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
ส่วนการสนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปภ.ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" ประจำการ ณ จังหวัดอุดรธานี เพื่อเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังได้ ส่งทีมปฏิบัติการจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร เขต 14 อุดรธานี และเขต 6 ขอนแก่น เข้าพื้นที่สแตนบายด์สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจและกระจายทีมลงช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงภัยที่แม้ปัจจุบันยังไม่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทันทีที่มีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และหากได้รับความเดือดร้อนจาก สาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ลมหนาวยังพัดแรง ใต้มีฝนเพิ่มตกหนักบางแห่ง
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 13 - 27 ม.ค. 68
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 11 เตือนหนาวจัดลมแรง ทะเลคลื่นสูง 4 เมตร
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยรวมทั้งทะเลอันดามัน
อุตุฯ เตือนอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิลดลงอีก ใต้ฝนฟ้าคะนอง 10-20%
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด
พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า ลมหนาวพัดแรง ยาวถึงปลายเดือน
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 10 - 24 ม.ค. 68
ประกาศกรมอุตุฯ ฉบับ 5 อากาศหนาวลดฮวบ 3-7 องศา คลื่นลมแรงสูง 4 เมตร
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยรวมทั้งทะเลอันดามัน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2568) ฉบับที่ 5
อุตุฯ เตือนมวลอากาศเย็นระลอกใหม่แผ่ปกคลุม อุณหภูมิลด 1-3 องศา ใต้ฝนฟ้าคะนอง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะอากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบนแล้ว