เปิดคำร้องฉบับเต็ม 'หมอวรงค์' ชงกกต.ยุบพรรคเพื่อไทย ร่ายยาวเหตุยินยอมให้ 'ทักษิณ' ครอบงำ


11 ก.ย. 2567 - นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เผยแพร่ คำร้องกกต.เรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทย ฉบับเต็ม มีเนื้อหาดังนี้

เรื่อง การกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

เรียน ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง

สิ่งที่ส่งมาด้วย บัญชีรายการข่าวและข่าวที่เกี่ยวข้องที่เผยแพร่ใน สื่อมวลชน 9 หัวข้อ

ด้วยปรากฎว่ามีบุคคลและพรรคการเมืองกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ2560 ข้าพเจ้านายวรงค์ เดชกิจวิกรม ประสงค์ร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ดังข้อเท็จจริงที่จะกราบเรียน ดังต่อไปนี้

1 กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตรซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและก็เป็นบุคคลที่ไม่อาจสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็นสมาชิก เพราะเป็นบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริต รวม 4 คดี ต้องโทษจำคุกรวม8ปี และยังไม่ได้พ้นโทษหรือหากพ้นโทษแล้วก็ยังพ้นโทษมาไม่ถึงสิบปี ณ ปี2561และถึงปัจจุบัน ตามที่บัญญัติในข้อ12 (9)ของข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 โดยมีพฤติการณ์และการกระทำอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตั้งแต่ปี2560 หลายกรรมหลายวาระต่างกัน โดยพฤติการณ์และการกระทำที่ข้าพเจ้าประสงค์จะร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามกฎหมายกับนายทักษิณ ชินวัตรในครั้งนี้ คือพฤติการณ์การกระทำ ดังต่อไปนี้

1.1 ในเย็นวันที่14สิงหาคม 2567หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสินสิ้นสุดลง นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกนาย ชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในบัญชีเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่สามของพรรคเพื่อไทย แกนนำของพรรคเพื่อไทยบางคน และหัวหน้าและผู้บริหารพรรคร่วมรัฐบาลไปที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อหารือในการเสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน โดยพฤติกรรมการกระทำจากการที่ปรากฎหลักฐานว่านายชัยเกษม นิติศิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหรือเลขาธิการพรรคที่ปรากฏตัวเดินทางไปที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร จากรายงานข่าวของสื่อมวลชนและภาพคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อโซเชียลมีเดีย ตามบัญชีที่แนบมาพร้อมนี้

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ปรากฏข่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติศิริ ให้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน แม้ต่อมาในวันรุ่งขึ้น 15 สิงหาคม 2567 ปรากฎข่าวว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้แทนราษฎรบางส่วนเห็นว่า นายชัยเกษม นิติศิริ อาจมีปัญหาด้านสุขภาพ จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่านายชัยเกษม นิติศิริ เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคเพื่อไทย และไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพแล้ว ซึ่งก็เป็นพฤติการณืที่ยืนยันได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติศิริ ให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่นายทักษิณ ชินวัตรได้เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทยหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหารือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งก็ปรากฏเป็นรายงานข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สื่อโซเชียลมีเดีย หลายสำนักในทิศทางเดียวกันโดยไม่มีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ไปประชุมกับนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตรออกมาปฏิเสธแม้แต่คนเดียว ว่ารายงานข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายทักษิณ ชินวัตรซึ่งมิได้เป็นสมาชิกหรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยได้กระทำและมีพฤติการณ์ควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ประดุจเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แม้ต่อมาในวันที่15 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคเพื่อไทย ยืนยันเสนอชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้ได้รับการคัดเลือกเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนาย ชัยเกษม นิติศิริและที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยและหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบเสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างการกระทำแลเพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตรที่เป็นความผิดสำเร็จแล้วได้

1.2 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทยที่ตึกชินวัตร 3 เมื่อวันที่20 สิงหาคม 2567 ปรากฏข่าวตามรายงานของสื่อมวลชนหลายสำนักโดยนายทักษิณ ชินวัตรก็ไปที่ตึกชินวัตร3 โยอ้างว่าเพื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมพรรคเพื่อไทย และตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงคำถามว่าควรที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้วย เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร ร้องขึ้นว่า“โอ๊ยคงไม่หรอก เพราะรู้สึกว่าเอาแค่นี้ก็หนักแล้ว” และเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงบทบาทของนายทักษิณ ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ที่จะถูกมองว่าครอบงำพรรค นายทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าไม่มีครอบงำ มีแต่ครอบครอง ผู้สื่อข่าวจึงถามทันทีว่าครอบครองหนักกว่าครอบงำ นายทักษิณ จึงรีบตอบว่าไม่ใช่ เพราะ นางสาวแพทองธาร เป็นลูกสาวของตน (รายละเอียดปรากฎตามรายงานของสื่อมวลชนตามบัญชีที่แนบมาพร้อมนี้)

จากข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นหลักฐานยืนยันว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าไปครอบงำ ชี้นำเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต่อการจะรับหรือไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเมื่อพิจารณาประกอบกับคำตอบของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อประเด็นที่อาจมองว่า เป็นการครอบงำ ที่ตอบว่าไม่มีมีครอบงำมีแต่ครอบครอง แม้ในเวลาต่อมาจะเสริมว่า เพราะนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวของตน เป็นการแสดงเจตนาของนายทักษิณ ชินวัตร ต่อสาธารณชนโดยพฤตินัย ว่าตนมีอำนาจเหนือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จริงอยู่ว่านางสาวแพทองธารเป็นบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยความสัมพันธ์ ระหว่างบิดากับบุตร นายทักษิณ ชินวัตรสามารถให้คำแนะนำให้คำปรึกษาแก่นางสาวแพรทองธารได้ แต่เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่มีตำแหน่งใดในพรรคเพื่อไทย การให้คำปรึกษากับผู้เป็นบุตรควรกระทำเป็นการภายในของครอบครัวเป็นการส่วนตัว แต่การที่นายทักษิณ ชินวัตรให้ความเห็นเกี่ยวกับการควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อผู้สื่อข่าวดังกล่าว ที่ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ประกอบกับข้อที่ชี้แจงว่าไม่ได้ครอบงำ แต่ครอบครอง เป็นการจงใจแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า ตนมีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย เหนือนางสาวแพทองธาร ชินวัตรหัวหน้าพรรค ในการที่จะตัดสินใจให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งใด หรือไม่รับตำแหน่งใด อันทำให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจทางการเมือง

1. 3 นอกเหนือจากการกระทำและพฤติการณ์ที่แสดงว่า นายทักษิณ ชินวัตร ควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ดังที่กราบเรียนมาตามข้อ1.1 และ1.2 ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการกระทำและพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้ควบคุมครอบงำ ชี้นำ การตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเข้าร่วมรัฐบาล ที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี คือกรณีสืบเนื่องมาจากปัญหาภายพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดความแตกแยกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มของหัวหน้าพรรคคือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณกลุ่มหนึ่งและกลุ่มของเลขาธิการพรรคคือร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กลุ่มหนึ่ง ทั้งสองกลุ่มต่างก็ช่วงชิงในการเสนอชื่อบุคคลในกลุ่มให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาว่าพรรคเพื่อไทยจะตกลงให้พรรคพลังประชารัฐกลุ่มใดระหว่างกลุ่มของพลเ อกประวิตร วงษ์สุวรรณหัวหน้าพรรค และกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าเข้าร่วมรัฐบาล และจะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนรัฐบาลมีเสถียรภาพหรือไม่ โดยนายทักษิณ ชินวัตรให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่20 สิงหาคม 2567 ณ อาคารชินวัตร3 ซึ่งหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 21สิงหาคม2567 ได้เสนอเป็นรายงานข่าว ความตอนหนึ่งเป็นดังนี้

“ เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความล่าช้าหรือไม่ นายทักษิณ เผยว่า ไม่เป็นไร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อสกรีนทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยที่สุด

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ 2 ฝ่ายระหว่างพล.อ.ประวิตร และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ใครจะเข้ามาร่วม นายทักษิณกล่าวว่า ฝ่ายที่ทุ่มเทให้กับรัฐบาลมาตลอด ก็น่าเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง ยืนยันว่าพล.อ.ประวิตรไม่ได้โทรหา ไม่ทราบอาจมีคนรอบข้างท่านเล่าให้ฟัง

ส่วนที่มีการระบุว่าไม่มีตระกูลวงษ์สุวรรณใน ครม.นั้น นายทักษิณกล่าวว่า แล้วแต่กรรมการ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง อยากจะร้องเพลงอัสนีว่า ถ้าจะมาก็มาทั้งตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังผูกใจเจ็บกับพล.อ.ประวิตร ด้วยหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ตนเองโดนเยอะที่สุด แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร อยู่กับวันนี้ และวันพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ใครทำอะไรไปก็ควรจะรู้ตัว แค่นั้นเอง

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า เป็นธรรมชาติว่าต้องมีเสียงให้มีเสถียรภาพ เรามีปัญหามาก ต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องแก้กฎหมาย ต้องได้รับสนับสนุนจากสภา ต้องให้มีเสียงพอได้รับความเชื่อมั่น โดยในวันที่ 22 ส.ค. ตนจะพูดเรื่องความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนประเทศไทยอีกครั้ง

ส่วนกรณีคุณสมบัติของร.อ.ธรรมนัส ที่อาจจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้น นายทักษิณ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามกติกา เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาบอกว่าเป็นอย่างไร ถ้าผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน แต่จะให้สถานะนายกรัฐมนตรีอยู่แบบคราวที่แล้วก็ไม่ดี ย้ำว่าคนที่สุ่มเสี่ยงก็ไม่ควรที่จะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ทุกคนควรจะเสียสละเพื่อให้การเมืองต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณ บอกว่าคนที่เหมาะสมจะมาร่วมรัฐบาล จะต้องช่วยงานรัฐบาลมาก่อน แต่พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้มาโหวตเลือกน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ผ่านมา ควรเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายทักษิณ ถามย้อนว่า “นั่นสิ ต้องลองถามท่านดูว่า ทำไมไม่มาโหวต”

จากการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตรดังกล่าว แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าเป็นพฤติการณ์ที่เกินกว่าพฤติการณ์ที่ผู้เป็นบิดาพึงให้คำปรึกษาแก่บุตร เพราะเป็นการชี้นำเพื่อให้พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคที่เป็นบุตร ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในการกำหนดบุคคลหรือพรรคการเมืองให้ร่วมรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความประสงค์ทางการเมืองของตน โดยไม่ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐกลุ่มของพลเอกประวิตรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตามกฎหมายเข้าร่วมรัฐบาล แต่ต้องการ ให้กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัสที่เคยสนิทสนมกับตนเข้าร่วมรัฐบาล เพราะมีความเจ็บแค้นพลเอกประวิตร ที่เคยร่วมทำรัฐประหารเมื่อปี2557 ตามที่เคยแสดงออกทั้งทางตรงทางอ้อมในหลายโอกาส โดยที่รู้อยู่ว่าการให้กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส เข้าร่วมรัฐบาลจะทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายหลายประการอันมีจะมีผลเสียต่อรัฐบาลที่มีหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตามมา หากอ้างว่าเป็นคำแนะนำแก่บุตร ก็ผิดวิสัยของการให้คำแนะนำฉันบิดาและบุตรที่ต้องให้คำแนะนำในประการที่จะต้องไม่มีผลกระทบในทางที่ไม่เป็นคุณต่อบุตร นอกจากนี้นายทักษิณ ชินวัตร รู้ดีว่าหากพรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาล ให้เพียงกลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส เท่านั้นเข้าร่วมรัฐบาล อาจมีปัญหาเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่พอที่จะให้เกิดเสถียรภาพแก่รัฐบาล นายทักษิณ จึงให้สัมภาษณ์ในทำนองที่จะไม่ปิดกั้นพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ทั้งที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาก่อนและอาจมีการต่อต้านตามมา
ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จริงในเวลาต่อมาว่าพรรคเพื่อไทย ไม่เสนอชื่อบุคคลที่พรรคพรรคพลังประชารัฐ ที่ีมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าได้เสนอให้เป็นรัฐมนตรีตามมติของคณะกรรมการบริหาร เป็นรัฐมนตรีแต่ได้เสนอชื่อบุคคลตามที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าเสนอ เป็นรัฐมนตรีแทน และก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพรรคเพื่อไทยได้เชิญให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลและจะได้เสนอชื่อบุคคล ตามรายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอเให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลต่อไป

2.จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำของนายทักษิณ ชินวัตร ดังกราบเรียนมาในข้อ1.1. ข้อ1.2 และข้อ1.3 เป็นที่ชัดเจนว่านายทักษิณชินวัตร ได้กระทำและมีพฤติการณ์ในการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

3.พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ที่มิได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการอันเป็นควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยขาดอิสระ โดยยอมให้นายทักษิณ ชินวัตรกระทำหรือดำเนินกิจการประดุจคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ดังข้อเท็จจริงของพฤติการณ์และการกระทำตามที่ที่ได้กราบเรียนมาในข้อ11 ข้อ1.2 และข้อ1.3 โดยไม่มีกรรมการบริหารหรือสมาชิกผู้ใดทักท้วง ท้วงติงหรือคัดค้าน แต่กลับปรากฎพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการครอบงำและชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตรทุกประการ ดังนี้

3.1 กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ประชุมหารือที่บ้านพักของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติศิริ เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีรายงานข่าวยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยตกลงเสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติศิริ เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อเท็จจริงในข้อ1.1 แม้ในภายหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพื่อไทยตามกลลวงที่นายทักษิณ ชินวัตรวางแผนไว้ให้เสนอชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นผู้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และพรรคกการเมืองร่วมรัฐบาลก็ให้ความเห็นชอบก็ตาม ก็ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำที่เป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว

3.2 กรณีปัญหาภายของพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดเป็นประเด็นว่า พรรคเพื่อไทย จะเชิญพรรคพลังประชารัฐกลุ่มใดเข้าร่วมรัฐบาลและจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้คะแนนสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมีเสถียรภาพหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร มีท่าทีชี้นำไม่ต้องการให้กลุ่มของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณเข้าร่วมรัฐบาล และไม่ปิดกั้นที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 มีหลักฐานข้อเท็จจริงปรากฏต่อสาธารณชนว่า เลขาธิการพรรคเพื่อไทยมีหนังสือเชิญให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และรายชื่อบุคลที่จะเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ปรากฏจากรายงานข่าว ไม่มีบุคคลที่มีนามสกุลวงษ์สุวรรณอยู่ในรายชื่อ แต่มีบุคคลที่กลุ่มของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นผู้เสนอ และมีรายชื่อหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในรายชื่อบุคคลที่จะเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ด้วย ซึ่งเป็นไปตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ชี้นำไว้ก่อนหน้านี้

4 จากข้อเท็จจริงดังเรียนมาข้างต้นในข้อ3 เห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำ และชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย โดยยอมกระทำการตามการครอบงำ และ ชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ในการจะให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลใดเข้าร่วมหรือไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาล และจะเสนอหรือไม่เสนอบุคคลใดเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตรเป็นนายกรับมนตรี ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยและสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างแจ้งชัด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าใคร่ร้องต่อคณะกรรมการเลือกตั้งให้ดำเนินการทางกฎหมายกับนายทักษิณ ชินวัตร ฐานฝ่าฝืนมาตรา29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และดำเนินการทางกฎหมายกับพรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะกรรมการบริหาร ฐานว่าฝืนมาตรา28 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และคงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐของประเทศไทย และหลักนิติธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป จักเป็นพระคุณต่อปวงชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายวรงค์ เดชกิจวิกรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ นำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงเดินหน้า MOU ปี 44 ถามยกเลิกแล้วได้อะไร

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายพิชัย ชุนหวชิร

'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.

'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ