วงการพลังงานทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียนได้ก้าวเข้ามามีบทบาทและกำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งว่าจะบริหารจัดการกับข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เสถียรได้อย่างไร “ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่” หรือ BESS (Battery Energy Storage System) คือคำตอบ เพราะเป็นระบบที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือกับข้อจำกัดดังกล่าว ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มนำ BESS มาใช้ในระบบไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย
BESS ขุมพลังรักษาความเสถียรพลังงาน
BESS เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ดีสุดด้านกักเก็บพลังงานที่นำมาช่วยยกระดับความมั่นคงระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพให้ระบบไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายตามความต้องการไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น เมฆบดบัง ฝนตก กลางคืนไม่มีแดด บางช่วงเวลาลมก็หยุดพัด และยังเปรียบเสมือนแบตเตอรี่สำรอง (Power Bank) ที่พร้อมใช้ยามจำเป็นเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้น ด้วยหลักการทำงานของ BESS ที่กักเก็บพลังงานในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในอีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีความต้องการพลังงาน ผ่านการชาร์จแบตเตอรี่ในช่วงเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ แล้วนำพลังงานที่กักเก็บเอาไว้มาจ่ายไฟฟ้าเสริมระบบในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง ช่วยจ่ายไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลดความผันผวนในการผลิตไฟฟ้าภาพรวม และเสริมศักยภาพโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมั่นคง (Grid Modernization)
แกะกล่องพลังงาน BESS
เทคโนโลยี BESS ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนติดตั้งอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์จึงเปรียบเสมือน “กล่องพลังงาน” ที่มีจุดเด่นหลายประการ เช่น สามารถควบคุมการเพิ่มหรือลดกำลังการจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็ว มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 10 ปี นอกจากนี้ BESS ยังใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย สามารถติดตั้งได้ทั้งในบริเวณระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่หลากหลาย เป็นกล่องพลังงานที่มีความเสถียร ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ลุยนำ BESS ใช้งานแล้ว
กฟผ. ได้ติดตั้งระบบ BESS ใน 3 พื้นที่ คือ 1) สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์ (ความจุแบตเตอร์รี่ 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง) 2) สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์ (ความจุแบตเตอร์รี่ 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง) เป็นการติดตั้งเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าในบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ และ 3) โครงการสมาร์ทกริดฯ จ.แม่ฮ่องสอน ติดตั้งแบตเตอรี่กำลังไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ (ความจุแบตเตอร์รี่ 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง) ทำงานร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ช่วยจ่ายไฟฟ้าให้กับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ส่งเสริมนโยบายของกระทรวงพลังงานและจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ต้องการให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบของจังหวัดสีเขียว
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้นำ BESS เข้ามาผนวกกับโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 กำลังผลิตไฟฟ้า 24 เมกะวัตต์ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ขนาด 6 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ช่วยลดข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน BESS พร้อมรับบทบาทเป็นดาวเด่นของระบบไฟฟ้ายุคใหม่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีส่วนช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น สร้างโอกาสประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ได้เร็วขึ้นพร้อมไปกับความมั่นคงทางพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” ปลูกฝังเรื่องพลังงานสะอาด และการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
กลุ่มบริษัทกัลฟ์ จัดกิจกรรม “GULF Sparks Energy ชวนน้องท่องโลกพลังงาน” เพื่อเป็นการอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
กฟผ.เปิดสนามแข่งจักรยาน มาตรฐานUCI ณ เขื่อนวชิราลงกรณ
กฟผ. จับมือสมาคมกีฬาจักรยานฯ เปิดประเดิมสนามแข่งจักรยานมาตรฐานนานาชาติ (UCI) รับ 3 รายการใหญ่ การแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ การแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์นานาชาติ และการแข่งขัน หนูน้อยขาไถ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2567 ณ สนามจักรยาน เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ คว้ารางวัลสุดยอด CEO รัฐวิสาหกิจดีเด่นสาขา Environment ตอกย้ำการขับเคลื่อนภารกิจองค์กรด้วยความตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับรางวัลสุดยอดซีอีโอรัฐวิสาหกิจ สาขา Environment จากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร
‘พิชัย’ เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา
‘พิชัย’ จับมือทูตแคนาดา เร่งเครื่องเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-แคนาดา พร้อมนัดถกรัฐมนตรีการค้าแคนาดาช่วงประชุมเอเปคที่เปรู ขยายโอกาสการค้าในตลาดอเมริกาเหนือ