'ชวน' แจงที่ไม่เห็นด้วยปชป.ร่วมรบ. เหตุไม่อยากทรยศ ปชช. ปัดข่าวลาออกจากพรรค ย้ำ เป็นนักการเมืองอาชีพ ตัวจริง-รู้กติกา
23 ส.ค. 2567 - นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล ว่า ยังไม่มีการแจ้งมาจากกรรมการบริหารพรรค แต่ตามระเบียบข้อบังคับพรรค จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุม สส.และกรรมการบริหารพรรค แต่ทราบว่ามีความพยายามของกรรมการบริหารและ สส.บางคนที่อยากจะเข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ครั้งแรก และตอนลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ตนจึงเห็นว่า "ไม่ควรมาอ้างว่าประชาชนอยากให้ร่วม หากอยากเป็นรัฐบาลก็ควรพูดตรงๆ ว่าอยากเป็น"
นายชวน ยังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล เนื่องจากเคยไปรณรงค์ให้ประชาชนในภาคใต้ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เพราะถูกเลือกปฏิบัติ ไม่พัฒนาภาคใต้ เนื่องจากคนใต้ไม่เลือก จึงไม่อยากทรยศ แต่หากเสียงส่วนใหญ่มีมติให้เข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องว่ากันไปตามมติของพรรค ย้ำว่า ไม่มีปัญหา เพราะตนไม่ใช่ตัวปัญหาของพรรค ซึ่งตนอยู่กับพรรคมาเกือบ 60 ปี มีส่วนร่วมล้มลุกคลุกคลานตกทุกข์ได้ยากมาด้วยกัน ฟื้นฟูพรรคจนกระทั่งได้เป็นรัฐบาล
"หากอยากเป็นก็บอกตรงๆ ว่าอยากเป็นรัฐบาล อย่าไปอ้างคนอื่น เราควรพูดเรื่องจริงว่า เพราะอยากเป็น เราก็ไม่ว่าอะไร และหากมติส่วนใหญ่ให้เป็น เราก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าไปหลอกไปอ้างเหตุผลอะไรมาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็ทำให้ คนที่ติดตามเราอยู่ จะมีความรู้สึกในทางลบกับพรรคไป"
ส่วนที่มีกระแสข่าว หากร่วมรัฐบาลนายชวนจะลาออกนั้น นายชวนกล่าวว่า ตนไม่เคยพูด และตนเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น เป็นคนที่ไม่ค่อยพูดมาก ซึ่งตนเคยบอกว่า ใครชนะเลือกตั้งได้ที่ 1 เป็นรัฐบาล ตอนนั้นตนแพ้ไป 2 เสียง และรวมเสียงได้มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ต้องรักษาคำพูด ตนเป็นนักการเมืองที่อยู่มาได้ เพราะประชาชนเลือก เพราะความเชื่อถือ คำไหนคำนั้น อะไรทำได้ ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ ก็บอกตรงๆ ตนจึงไม่พูดว่าจะลาออก เพราะถ้าพูดต้องลาออก
เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลหรือไม่ นายชวน ยืนยันว่า ไม่แน่นอน เพราะตนเป็นนักการเมืองตัวจริง ไม่ใช่นักฉวยโอกาส ไม่ใช่นักกินเมือง ไม่ใช่นัดปล้นเมืองโกงเมือง ตนเป็นนักการเมือง ตนรู้ในกติกา จึงไม่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล แต่จะใช้สิทธิ์โดยชอบธรรมที่มี เช่น กฎหมายที่ดีของรัฐบาล ตนก็พร้อมที่จะสนับสนุน ยกเว้นบางเรื่อง เช่น หากมีกรณีพฤติกรรมที่ทุจริต หากมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะยกขบวนกันไปยอมรับสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือจุดยืนของพรรคต้องมีไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลในสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการไปเจรจา ไม่ได้อยากเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วขอร่วมหน่อย แต่เป็นการร่วมโดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และประกันรายได้เกษตรกร
นายชวน ย้ำว่า ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัว หรือไปอาฆาตแค้นอะไรกับนายกรัฐมนตรีหรือคนในพรรคเพื่อไทย แต่ตนต้องการตอบแทนบุญคุณคนภาคใต้ โดยการทำหน้าที่แทนชาวบ้าน และที่เหนือไปกว่านั้น คือพรรคมีเกียรติยศมายาวนาน เราไม่เคยถูกประณามว่า เป็นพรรคอะไหล่ หรือ ถูกกล่าวหาว่า เป็นพรรคที่คอยเสียบ ตนก็รู้สึกเจ็บร้อนแทน และรู้สึกว่าไม่เห็นมีใครออกมาปกป้องพรรค และอยากขอร้องว่า หากจะพูดถึง พฤติกรรมคอยเสียบ ขอให้เจาะจงไปที่ตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เพราะพรรคไม่ได้ประกอบด้วย สส.เพียง 25 คน แต่ยังมีสมาชิกซึ่งอยู่ข้างนอกอีกจำนวนมาก และคงไม่พอใจกับพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่คงไม่สามารถทำอะไรได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทางพรรคเพื่อไทยไม่ได้ติดใจที่อยากได้พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลสักเท่าไหร่ แต่ปัญหาคือคนของเราอยากร่วมรัฐบาลมากกว่า
สำหรับกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หากพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะสูญพันธุ์นั้น นายชวน ยืนยันว่า ไม่สูญ เพราะอย่างน้อยก็น่าจะเหลือตนอีกคน แต่ไม่มั่นใจว่า ได้รับเลือกเข้ามาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากรรมการบริหารพรรคชุดนี้ ก็มาจากชุดที่แล้ว จึงน่าจะทราบว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน และยังเชื่อว่า สส.บัญชีรายชื่อในสมัยหน้า น่าจะได้มากกว่าเดิม เพราะจากการลงพื้นที่เห็นปฏิกิริยาชาวบ้านก็พอจะรู้ว่า หลายคนก็ยังอาลัย และเสียดายพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไป และคนก็เปลี่ยนไปมาก
นายชวน ยังกล่าวถึงกรณีที่นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ นักการเมือง มี 2 ประเภท และมีพวกที่พูดเก่งชอบตำหนิแต่ทำงานไม่เก่ง ว่า ตนอยู่สภามากว่า 50 ปี ไม่เคยได้ยินว่าแบ่งกันเช่นนี้ และเห็นว่านายเดชอิศม์เป็นฝ่ายค้านมาเกือบ 1 ปี แทบไม่เคยพูดในสภาเลย หรือจะพูดเพียง1 ครั้ง ในขณะที่ลูกชายพูดเก่ง ซึ่งหากพูดอย่างนี้ อยากย้อนถามว่า ลูกชายทำงานไม่เก่งหรืออย่างไร เพราะลูกชายนายเดชอิศม์อภิปรายงบประมาณได้ดีมาก ตนอยู่สภามาเคยได้ยินแต่ว่า มีนักการเมืองที่โกงกับไม่โกง และคนที่เป็นคนอภิปรายได้ดีในสภา เป็นเพราะเตรียมตัวมา ดังนั้น จึงไม่ควรพูดเช่นนี้
นายชวน ยังเชื่อว่า แม้มีความเห็นต่างในการที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่ทำให้พรรคแตก เพราะพรรคประชาธิปัตย์อยู่มายาวนาน ผ่านอะไรมาเยอะ แต่สิ่งสำคัญคือ พรรคต้องมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘เทพไท’ ถามตรงๆ ‘ประชาธิปัตย์-รวมไทยสร้างชาติ’ เลือกมวลชนหรือกาสิโน
อยากให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ตัดสินใจเลือกจุดยืนทางการเมืองว่า จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน หรือยืนหยัดเคียงข้างกับรัฐบาลในระบอบทักษิณ
ปชป.ครบรอบ 79 ปี 'เฉลิมชัย' ลุยสร้างเอกภาพภายในพรรค
ประชาธิปัตย์' ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 'เฉลิมชัย' ย้ำ ยึดมั่นหลักการ-อุดมการณ์ ประชาธิปไตย ไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าสร้างเอกภาพภายใน เผย เลือกตั้งซ่อมเมืองคอน ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ชี้ มีโอกาสสูง ส่งลง 'ผู้ว่าฯ กทม-ส.ก.' ด้าน 'พรรคการเมืองอื่น' ร่วมยินดี ขณะที่ 'พท.' นำแจกันดอกไม้มามอบให้เป็นครั้งแรก
ย้อนคำจาตุรนต์! 'ทิชา' ถามหา 'หลักการ' นักการเมืองน้ำดี กรณี 'มิน อ่อง หล่าย'
ทิชา ณ นคร แชร์โพสต์เก่าจาตุรนต์ฉายแสง วิจารณ์พลเอกประยุทธ์เคยต้อนรับรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมเหน็บแนมเจ็บ ๆ ถามหาจุดยืนและหลักการจากนักการเมืองน้ำดี หลังรัฐบาลแพทองธารต้อนรับมิน อ่อง หล่าย สะเทือนภาพลักษณ์ซ้ำรอยเดิมที่เคยวิจารณ์ไว้
เลิกอีแอบ! ไล่บี้ทุกพรรคประกาศจุดยืน 'กาสิโน' เอาหรือไม่เอา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ถามดังๆ จุดยืนต่อกาสิโน ของแต่ละพรรค เมื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
'นิพิฏฐ์' กระตุกปชช.เลือกนักการเมือง หากบ้านเมืองเสียหายปชช.ก็ต้องยอมรับชะตากรรม
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สัปดาห์นี้ ผมได้คุยกับบุคคล 3 ท่าน ที่ควรเอ่ยถึง คือ ท่านชวน หลีกภัย, ท่านอัยการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง และ นักการเมืองท้องถิ่น 2-3 กลุ่ม
พรรคร่วมห้ำหั่น! ศึกเลือกตั้งซ่อมเมืองคอน 'ลูกเขย' ชน 'พ่อตา' ภูมิใจไทยรักษาที่มั่น
การเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จะมีขึ้นในวันที่ กำหนดให้วันที่ 27 เมษายน 2568 เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 2 - 6 เมษายน 2568 นี้ แม้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งผู้สมัคร แต่กระแสข่าวที่ออกมากำลังจะกลายเป็น “สมรภูมิร้อน” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล