'แก้วสรร' ออกบทความเรื่อง พรรคส้ม : 'พรรคการเมือง' หรือ 'พรรคปฏิวัติ' ???

14 ส.ค.2567 - นายแก้วสรร อติโพธิ ออกบทความเรื่อง “พรรคส้ม : “พรรคการเมือง” หรือ “พรรคปฏิวัติ” ???”ระบุว่า “เราต้องกลับมาศึกษา ม.112 อย่างดี พวกเรายังคงต้องผลักดันเดินหน้าปรับปรุงแก้กฎหมายในส่วนนี้ ที่ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ ”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน

“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย ...มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจการ การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภา และการใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง” ศาลรัฐธรรมนูญ

ถาม ถ้าพรรคประชาชนเดินหน้าแก้ไข 112 อีก ก็ต้องถูกยุบอีกใช่ไหมครับ
ตอบ เขาบอกว่าจะเดินหน้าต่อไป แต่อาจจะไม่ถูกยุบถ้าไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ เช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญบ่งชี้ไว้

ถาม ผมไม่เข้าใจครับ ที่ศาลระบุว่าพรรคก้าวไกลมุ่งกร่อนเซาะสถาบัน “โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย ”

ตอบ คุณจับความถูกแล้วครับ Key word มันอยู่ตรงนั้น....ตรงที่ศาลชี้ว่า มันมีการเคลื่อนไหวกร่อนเซาะสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นขบวนการใหญ่ มีหลายฝ่ายหลายพฤติการณ์ประกอบกันประสานกัน หนึ่งในนั้นคือการเคลื่อนไหวในระบบรัฐสภาของพรรคส้ม ที่แต่งตัวเป็น “พรรคการเมือง” ลงเลือกตั้ง แล้วชูธงแก้กฎหมายปรับปรุงสถาบันกษัตริย์

พอชูธง หยิบ ม.112 ขึ้นมาเสนอแก้ไขในนามฝ่ายนิติบัญญํติ แต่ในทางความเคลื่อนไหวกร่อนเซาะแล้ว มันก็คือคือการชี้เป้า วี้ดบึ้มให้การมีอยู่ของสถาบันตกเป็นปัญหาของชาติ ความเคลื่อนไหวอื่นๆ ทั้งการโจมตีใส่ร้ายในโซเชียล ทั้งการชุมนุมเป็นแฟลชม๊อบ เผาพระบรมฉายาลักษณ์ เผายาง ก่อจลาจล ก็ประสานกันเข้ามาในที่สุด

ถาม มันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองมิใช่หรือครับ
ตอบ นั่นเป็นคำกล่าวอ้าง แต่แท้จริงแล้วหาใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามวิถีทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดไม่ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า “การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต” คิดอย่างนี้มองอย่างนี้แล้ว ศาลก็เลยชี้ว่า พรรคส้มเอาการเสนอกฎหมายมาบังหน้า บังความเคลื่อนไหวกร่อนเซาะสถาบันของขบวนการใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

ถาม ถ้าพรรคส้มยอมละวางไม่ชูธงแก้ ๑๑๒ ก็แสดงว่า เขาเลิกกร่อนเซาะสถาบันแล้วใช่ไหม ?
ตอบ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งทำงานให้บ้านเมืองอย่างแท้จริง เขาก็ควรนำพลังคนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์อนาคตใหม่จริงๆ

ในการจัดตั้งรัฐบาลคราวที่แล้ว ถ้าเขายอมเลิกแก้ 112 วันนี้พลัง 14 ล้านเสียง ก็ได้เข้ามาขับดันประเทศแล้ว
มาวันนี้พอถูกยุบ ก็ยังประกาศแก้ไข 112 อีก ขอคะแนนเสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งคราวหน้าอีก อย่างนี้คุณว่าตัวจริงของพรรคส้ม เป็นพรรคการเมือง หรือพรรคปฏิวัติ

ถาม ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์แล้ว ยังจะเป็นประชาธิปไตยต่อไปได้ไหม
ตอบ ต้องวาน นักเข้าทรงของพรรคส้ม คือคุณช่อ พรรณิการ์ ไปถาม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านให้ละเอียดว่า ในปี 2475 เมื่อปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว ทำไมพวกท่านถึงต้องไปกราบทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 ให้ทรงรับเป็นประมุข และพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนอีก

ถาม มันไม่มีคำอธิบายในหนังสือใดบ้างเลยหรือครับ
ตอบ ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันมาก ก็เป็นงานคิดของนักคิดชาวอังกฤษ Walter Bagehot ที่อธิบายระบบรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษว่า มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนที่เป็นตัวตนเป็นศักดิ์ศรีของคนในชาติ คือสถาบันกษัตริย์ เขาเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ว่า “ Dignifies ”

อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนทำงานเขาเรียกว่า “ Efficiency ” คือส่วนที่เป็นสภาเป็นรัฐบาลและข้าราชการ ส่วนนี้มีประชาชนในพรรคการเมืองเป็นสถาบันยืนอยู่ข้างหลัง

เมื่อสองส่วนนี้ทำงานหมุนรับกันได้ด้วยดีไม่ขบกัน ระบอบก็จะไปได้โดยราบรื่น

ถาม สถาบันกษัตริย์ มีไว้ทำไม? ในคำอธิบายของ Bagehot
ตอบ เขาบอกว่า การเมืองเป็นเรื่องการจัดการความขัดแย้ง ผู้นำมาแล้วก็ไป แต่กษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง สั่งสมประสบการณ์จนเป็น “สติ” ของการเมืองการปกครองโดยรวม ในระบบนี้ทรงมีสิทธิ สามประการนี้เท่านั้นคือ สิทธิที่จะสนับสนุนให้กำลังใจ ตักเตือน รับรู้และให้คำปรึกษา

ถาม ในสิทธิสามประการข้างต้น ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่ฟังกษัตริย์เลยจะได้ไหม
ตอบ นั่นไม่ใช่ปัญหากฎหมาย แต่เป็นปัญหาความได้สมดุลย์ ระหว่างหัวใจ กับ สมอง ของคนในชาติ นายกฯ มีน้ำหนักมาจากเสียงในสมองของ “ประชาชน” สถาบันกษัตริย์มีต้นทุนอยู่ที่หัวใจหรือความจงรักภักดีของราษฎร ทั้งสองส่วนต้องไปด้วยกันให้ได้

ถาม ที่ต้องมี มาตรา 112 ไม่ให้ใครมาล่วงเกิน ก็เพราะเหตุนี้หรือครับ
ตอบ ถูกต้องครับ ที่การด่าในหลวงเป็นความผิดต่อความมั่นคง ไม่ผิดเช่นด่าชาวบ้านธรรมดา ก็เพื่อรักษาบารมีของสถาบันไว้ บ้านเมืองจะได้สงบมั่นคงเย็นศิระกันต่อไปได้

ถาม ที่คณะราษฎร์ ต้องขอรัชกาลที่ 7 ให้ทรงรับเป็นประมุข ก็เพราะเหตุนี้เหมือนกัน
ตอบ คณะราษฎร์ไม่อยู่ในหัวใจของราษฎร พวกท่านจึงต้องขอให้สถาบันกษัตริย์รับหน้าที่ในส่วน Dignifies พระราชทานพระปรมาภิไธยให้อำนาจทั้งสาม ทำงานบ้านเมืองต่อไป จนปัจจุบัน

ถาม ขบวนการสามนิ้ว ส่งพรรคส้มมาลงเลือกตั้งทำงานในส่วน Efficiency ในสภาหรือรัฐบาล แล้วทำไมไม่มุ่งพัฒนาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กลับมาหมกมุ่นจะใช้หีบเลือกตั้งปรับแก้ส่วนประมุขอยู่ทุกวันอย่างนี้ได้อย่างไร

นี่เขายืนหยัดว่า สังคมไทยพร้อมจะเป็น “สาธารณะรัฐ” มีประธานาธิบดีเป็นประมุขได้แล้วอย่างนั้นหรือ

ตอบ ผมตอบไม่ได้ และไม่ควรตอบ ได้แต่ยกคำของ Bagehot มาส่งท้ายไว้เท่านั้นว่า “อย่าโยนทิ้งสิ่งใด ถ้ายังตอบไม่ได้ว่ามันใช้ทำอะไร ถ้ารู้แล้วเมื่อใด ค่อยคิดให้กระจ่างต่อไปว่า จะหาอะไรมาแทนได้บ้าง ”


เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แกะรอย 'เพนกวิน' โผล่เรียนที่สหรัฐ ใครอยู่เบื้องหลังเส้นทางหลบหนีคดี 112

เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี เปิดข้อมูลการเคลื่อนไหวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ซึ่งหลบหนีคดี 112 ไปต่างประเทศ โดยระบุว่า เอ๊ะ จิ๊กซอ ต่อลงพอดีเลยแหะ?!?

'จอน อึ้งภากรณ์' ผู้ก่อตั้งไอลอว์ ชี้ไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ หาก 'อานนท์ นำภา' ยังติดคุก

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)​ ​ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยจะยังเป็นประชาธิปไตยไม่

นิด้าโพล ชี้ผลสำรวจคะแนนนิยมการเมืองล่าสุด คนหนุน ‘เท้ง’ นั่งนายกฯ ส่วนมาดามแพฯ ร่วงอันดับ 2

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2567”

'นายกฯอิ๊งค์' ขึ้นแท่นนักการเมืองแห่งปี 'ผู้นำค้านเท้ง' ร่อแร่รั้งอันดับ 9

เปิดผลโพลนักการเมืองแห่งปี 67 'แพทองธาร ชินวัตร' ประชาชนชื่นชอบกว่า 15% ขณะที่่ผู้นำค้าน 'ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ' ร่อแร่ร่วงอันดับ 9 ได้แค่ 5%

พรรคการเมืองฟังไว้! กกต.เคลียร์แล้วรับบริจาคหวยได้

กกต.ตอบพรรคประชาชน รับบริจาคสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ และถ้าถูกรางวัล ต้องชี้แจงตามขั้นตอนถึงแหล่งที่มาตามระเบียบและกฎหมายพรรคการเมือง