ลุ้นระทึก! วัดใจข้อต่อสู้ 'เศรษฐา' ชงชื่อ 'พิชิต' บกพร่องโดยสุจริต

ตุลาการศาล รธน.เริ่มลงมติ 9 โมงเช้า วัดใจข้อต่อสู้ 'เศรษฐา-บกพร่องโดยสุจริต' ได้อยู่ต่อหรือหลุดจากตำแหน่ง หลังอ้างไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้ 'พิชิต' ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

14 ส.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ในช่วงเช้าวันนี้ 09.30 น. ทาง 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายนครินร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน.ได้นัดประชุมตุลาการศาล รธน.เพื่อลงมติแถลงความเห็นส่วนตนด้วยวาจาในคำร้องคดีที่กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4)และ(5) ซึ่งหลังการลงมติเสร็จสิ้น ตุลาการศาล รธน.ทั้งหมด จะมีการประชุมลับเพื่อเขียนคำวินิจฉัยกลาง และนำไปอ่านที่ห้องพิจารณาคดีของศาล รธน.ในเวลา 15.00 น.

ท่ามกลางความสนใจจากคนทั้งประเทศว่า นายเศรษฐา จะยังคงได้เป็นนายกฯต่อไปหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง ที่คาดว่าไม่เกิน 16.30 น. การอ่านคำวินิจฉัยคงเสร็จสิ้นลง

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าในคดีนี้ ศาล รธน.ไม่ได้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดี แม้ก่อนหน้านี้ ผู้ร้องคือกลุ่ม 40 อดีต สว.ได้ยื่นบัญชีพยานให้ศาล รธน.เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำสามคนคือ นายเศรษฐา, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีตเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ อดีต สว. ที่เกี่ยวข้องในฐานะสภาทนายความได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตว่าความของนายพิชิตและพวกที่เป็นจำเลยในคดีถุงขนม 2 ล้านบาทตามหนังสือที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้แจ้งไป

ขณะที่ฝ่ายนายกฯ มีรายงานว่าได้ส่งชื่อพยานบุคคลเพื่อให้ศาล รธน.เรียกมาให้ถ้อยคำหากมีการเปิดห้องไต่สวนคดี เช่น นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกฯและอดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ –อดีตกรรมการร่าง รธน.ปี 2550 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย ศาลไม่ได้เรียกพยานมาให้ถ้อยคำ ทำให้การพิจารณาคดีของตุลาการศาลนอกจากจะพิจารณาจากข้อกฎหมาย-พยานหลักฐานต่างๆ ที่ศาลแสวงหามาเองตามระบบไต่สวนแล้ว ก็ยังพิจารณาจาก คำร้องของกลุ่ม 40 อดีต สว., คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายเศรษฐา และคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษรของกลุ่ม 40 อดีต สว.และคำแถลงปิดคดีของนายเศรษฐา

มีรายงานว่า คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับคำแถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษรของนายเศรษฐา รายละเอียดประเด็นข้อต่อสู้หลักๆ ไม่ได้มีเนื้อหาแตกต่างกันมากนัก เพียงแต่คำแถลงปิดคดีมีการสรุปประเด็นให้สั้นกระชับมากขึ้น เมื่อเทียบกับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่มี 32 หน้า ซึ่งกำหนดประเด็นข้อต่อสู้ไว้ 11 ประเด็น เช่น การอธิบายถึงกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จะถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่จะตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่จะถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี

โดยนายเศรษฐา ได้ยกประเด็นข้อต่อสู้ทางคดี มาอธิบายชี้แจงต่อศาลว่า สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคล ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของนายกฯ ตลอดจนทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดย สลค.จะตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560, พ.ร.บ.ป.ป.ช., พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี, คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ,ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้อง โดยมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่เนื่องจากการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ มีระยะเวลาที่จำกัดและมีชั้นความลับในการดำเนินการ ดังนั้นข้อมูลที่สำคัญที่สุดจึงต้องมาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี โดย สลค.จะตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเบื้องต้นเช่น เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ โดยตรวจจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา, การตรวจสอบประวัติว่ามีคดีแพ่งและคดีอาญาใดๆ หรือไม่, ข้อมูลการถือหุ้น ซึ่งทั้งหมด สลค.ถือเป็นเรื่องลับมาก โดยหากมีข้อสงสัยว่าอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จะรายงานต่อนายกฯ และเชิญบุคคลดังกล่าวมาหารือและแจ้งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง และหากมีปัญหาข้อกฎหมาย นายกฯ อาจขอให้ สลค.มีหนังสือขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้น สลค.จะสรุปผลการตรวจสอบประวัติต่อนายกฯ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่อไป

โดยนายกฯ ได้ชี้แจงว่ากรณีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5) ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวมาก่อน รวมถึงยังไม่มีแนวทางว่า มาตรา 160(4) และ (5) เป็นกรณีที่จะต้องใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีหรือไม่อย่างไร โดยปัจจุบันให้นำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้กับสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รวมถึงต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ประกอบกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาล รธน.ที่จะพิจารณา ซึ่งในทางปฏิบัติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต้องตรวจสอบและรับรองตนเอง ว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยต้องมีการลงรายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน รับรองความจริง

นายเศรษฐา ได้อธิบายต่อศาล ว่าการตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลและฟอร์ม ครม.ชุดแรก เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีทั้งหมด 35 คน ตามขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่มีมาตลอด ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อ 30 ส.ค. 2566

นอกจากนี้ นายเศรษฐาได้ชี้แจงกับศาล รธน.ว่า นายพิชิตเป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยไว้วางใจให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี และตัวนายพิชิต ก็ได้ลงชื่อรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยนายพิชิตได้เขียนข้อความรับรองตัวเองไว้ด้วยว่า เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมาแล้วเกินสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง โดยโทษจำคุกที่ได้รับไม่ใช่คำพิพากษาของศาลในคดีอาญา แต่เป็นคำสั่งศาลจึงไม่เป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 และมาตรา 98
“ผู้ถูกร้องที่สอง(นายพิชิต)ได้ยืนยันว่า ตนเองมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนั้น ผู้ถูกร้อง(นายเศรษฐา) จึงเชื่อโดยสุจริตว่า นายพิชิตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตัวผู้ถูกร้องไม่ได้รู้หรือควรรู้ว่านายพิชิตขาดคุณสมัติหรือมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามคำร้องแต่อย่างใด”นายเศรษฐาชี้แจงไว้

การชี้แจงของนายเศรษฐา ย้ำว่า ต่อมา สลค.ตรวจสอบพบประเด็นปัญหาข้อกฎหมายของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีจำนวนสองราย คือนายพิชิต และนายไผ่ ลิกค์ โดยกรณีของนายพิชิต มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (7) เพราะเคยได้รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาลฎีกาเมื่อปี 2551 ซึ่งการรับโทษดังกล่าว สลค.ไม่แน่ใจว่า มีความหมายรวมถึงโทษจำคุกตามความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ ทำให้ สลค.จึงมีหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ 30 ส.ค. 2566 ในกรณีของนายพิชิต ต่อมาวันที่ 1 ก.ย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ได้มีหนังสือตอบข้อหารือกลับมายัง สลค.

ในเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ย้ำว่า การหารือในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่ง สลค.ตรวจพบในขณะนั้น และเกิดกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี 2 คน (นายพิชิตกับนายไผ่) มิใช่การหารือเฉพาะของนายพิชิตผู้ถูกร้องที่สอง เพียงรายเดียวอย่างที่ผู้ร้องเข้าใจคลาดเคลื่อนไป แต่เป็นการขอหารือตามประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีข้อสงสัยโดยครบถ้วน มิใช่ตั้งใจสอบถามไม่ครบถ้วนอย่างที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้ง สลค.ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถสอบถามประเด็นข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) กับ (5) กับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่การจงใจไม่สอบถามเฉพาะกรณีของผู้ถูกร้องที่สอง และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลรายได้รวมถึงผู้ถูกร้องที่สองด้วย และต่อมานายพิชิต ผู้ถูกร้องที่สอง แจ้งความประสงค์ไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะต้องการให้การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จโดยเร็ว ในการแต่งตั้ง ครม.เมื่อ 1 ก.ย. 2566 จึงทำให้ไม่ปรากฏชื่อนายพิชิต

ประเด็นในการสู้คดีของนายกฯ ตามหนังสือที่ถึงศาล รธน.ได้ให้เหตุผลที่เสนอชื่อแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี เมื่อ 27 เมษายน 2567 ว่า นายพิชิต ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายคือการดูและกลั่นกรองกฎหมายก่อนเสนอนายกฯ ได้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงช่วงต้องปรับ ครม. ได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องจากพรรคเพื่อไทย โดยกลุ่มผู้นำพรรคเพื่อไทยเห็นควรเสนอแต่งตั้ง นายพิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดูแลงานด้านกฎหมาย ทำให้ผู้ร้อง(นายกรัฐมนตรี) ได้หารือเพิ่มเติมเป็นการภายในเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิชิต

มีรายงานอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้อ้างบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ปี 2560 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยระบุว่า พบว่าตอนช่วงที่มีการร่างรธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ทางที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ว่าที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ -มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี จะพิสูจน์ได้อย่างไร และสุดท้ายประธาน กรธ.บอกว่า “หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” อีกทั้งนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ.ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ร่างมาตรา 160 (4)และ(5) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาล รธน.จำนวนมาก ทำให้ศาล รธน.กลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย แสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของ มาตรา 160 (4)และ(5) สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีบันทึกท้ายข้อหารือถึง สลค. ตอนที่พิจารณากรณีของนายพิชิตว่าการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา160 เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาล รธน. ทำให้ สลค.กับตัวนายกฯ จึงไม่อาจตรวจสอบและชี้ขาดประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้ยกประเด็นข้อต่อสู้ในคดีนี้ขึ้นมาอีกว่า มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีด้วย ต้องบังคับใช้กับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งแล้ว และต้องบังคับใช้กับพฤติกรรมหรือการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นต้นไป ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องมีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง (นายพิชิต) กรณีละเมิดอำนาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว อีกทั้งไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำอื่นใดใหม่เกิดขึ้น จึงมิใช่หลักฐานที่เด็ดขาด และรับฟังเป็นยุติได้ทันทีว่าผู้ถูกร้องที่ 2 (นายพิชิต) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จึงควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ประกอบกับผู้ถูกร้องมีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า ผู้ถูกร้องที่2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ได้ชี้แจงกับศาล ว่าการปรับ ครม.ของตนเอง เมื่อ 27 เมษายน 2567 ที่มีชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามขั้นตอนและแนวทางที่ถูกต้องที่ สบค.กำหนดไว้ และเป็นไปโดยสุจริต

“ผู้ถูกร้อง ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่นนัยยะของมาตรา 29 ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ว่าบุคคลใดได้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกร้องยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ผู้ถูกร้องที่หนึ่งจึงได้ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณีและข้อพึงปฏิบัติทางการเมือง โดยไม่ถือไปก่อนว่าผู้ถูกร้องที่สอง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อันจะทำให้ผู้ถูกร้องที่สอง มีลักษณะต้องห้ามไปตลอดชีวิต โดยที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว การดำเนินการแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรี เมื่อ 27 เมษายน 2567 เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการ ภายใต้ความไว้วางใจทางการเมือง และข้อตกลงทางการเมืองที่พรรคร่วมรัฐบาลมีต่อกัน โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและผู้ถูกร้องที่หนึ่งดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว”

ส่วนประเด็นตามคำร้องในเรื่องนายเศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่สอง เป็นรัฐมนตรีเพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลภายนอก เอื้อประโยชน์ให้กับนายพิชิต และนายทักษิณ ชินวัตร เรื่องนี้ มีรายงานว่า นายเศรษฐา ได้ชี้แจงว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูล และเป็นเพียงการคาดการณ์ไปเองด้วยอคติของผู้ร้อง เพราะรู้จักกับนายทักษิณมาเป็นระยะเวลานาน และมีการพบปะกันบ้างตามแต่ละโอกาส ส่วนการพบปะกับนายทักษิณ 3 ครั้งในช่วงการปรับ ครม. ทั้งที่บ้านพักของนายทักษิณ, ที่จังหวัดเชียงใหม่ และตามที่ผู้ร้องกล่าวหา ก็เป็นการกระทำโดยเปิดเผย ไม่ได้เป็นการไปรับคำสั่งหรือข้อปฏิบัติใดๆ ในทางการเมือง เช่นตอนไปพบช่วงวันหยุดสงกรานต์ ก็เพื่อขอรดน้ำดำหัวตามประเพณีปฏิบัติของสังคมไทย โดยการพบปะกันทั้งสามครั้งตามคำร้อง เป็นการกระทำโดยเปิดเผย ไม่ได้เป็นการไปรับคำสั่ง หรือข้อปฏิบัติใดๆ ทางการเมือง จึงมิใช่ข้อพิรุธแต่อย่างใด

นายเศรษฐา ในฐานะผู้ถูกร้อง ยังชี้แจงด้วยว่า ผู้ถูกร้อง (นายเศรษฐา) ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดจากการเสนอชื่อผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรี การกระทำของผู้ถูกร้องที่1 จึงเป็นการกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใด ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้ถูกร้องจึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และเมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ก็ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมหรือมีเรื่องร้องเรียนจากการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อมีการยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาเรื่องนี้ ผู้ถูกร้องที่สอง ก็ได้ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว ตามวิถีปฏิบัติทางการเมือง

“ผู้ถูกร้อง ซึ่งไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้หรือควรรู้ว่า ผู้ถูกร้องที่2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการเสนอชื่อผู้ถูกร้องเป็นรัฐมนตรีเมื่อ 27 เมษายน 2567 ผู้ถูกร้องไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด และไม่ได้พิจารณาเสนอชื่อจากอคติ หรือความคิดเห็นของบุคคลใดโดยปราศจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้เสนอชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างเป็นธรรม และไม่ได้รู้หรือควรรู้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5)”นายกรัฐมนตรีระบุในเอกสารที่ส่งถึงศาล รธน.

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังได้ยกประเด็นข้อต่อสู้ทางคดีที่ว่า การกระทำทั้งหมดตามคำร้อง (กลุ่มอดีต 40 สว.) มีที่มาจากข้อกล่าวหา ที่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของนายพิชิต ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องและจำหน่ายคดีในส่วนของนายพิชิตไปแล้ว และผู้ถูกร้องที่หนึ่ง (นายกรัฐมนตรี) ควรต้องรับผิดเฉพาะเหตุที่เกิดจาก (1) การขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่เกิดจากการะทำของตัวนายกรัฐมนตรีเองโดยแท้ หรือ (2) การรู้เห็นหรือรับรู้ การขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของบุคคลอื่นอย่างชัดแจ้ง แต่ยังคงดำเนินการต่อไป ดังนั้นในคดีนี้ ไม่ว่านายพิชิตจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งผลให้ตัวนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามไปด้วย เพราะตนเองและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาตลอด

“อีกทั้งความผิดของผู้ถูกร้องที่สอง คือนายพิชิต ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของตนเอง ในฐานะผู้ถูกร้องที่หนึ่งจึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”

และระบุในตอนท้ายว่าของเอกสารที่ส่งศาล รธน.ว่า “ผู้ถูกร้อง (นายกฯ) ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริต ในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ในการทำงานหลากหลาย มีความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่นายกฯ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ แม้แต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ก็นำไปบริจาคเพื่อการกุศลและประโยชน์สาธารณะ โดยทั้งหมดทำโดยถูกต้องตามขั้นตอน ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรมขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกร้องตามหลักความได้สัดส่วน ความสมเหตุสมผลแห่งเหตุโดยมีคำวินิจฉัยให้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4)และ(5)”

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อดีต40สว.' ผู้ร้องถอดถอน 'เศรษฐา-พิชิต' เชื่อมั่นในหลักกฎหมาย พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนอดีต40ส.ว.ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี โพสต์ข้อความว่า