‘เท้ง-ไหม-ทิม’มีสิทธิ์เฮ! นักกฎหมาย มธ. เชื่อเอาผิด 44 สส.ก้าวไกล ยื่นแก้ 112 ยาก

นักกฎหมาย ธรรมศาสตร์ เชื่อเอาผิด 44 ส.ส.ก้าวไกลยื่นแก้ 112 ยาก เพราะทำตามหน้าที่ ไม่ใช่ทำชั่ว  ฟันธงหากคดีขึ้นศาลฎีกาฯ องค์คณะฯตัดสินคดี ต่างจากศาลรธน.เพราะดูเจตนาเป็นสำคัญ

11 ส.ค.2567-รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกรณี คณะกรรมการป.ป.ช.อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คนสมัยที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็เป็นส.ส.กันหลายคน ถูกร้องว่าทำผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ กรณีร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการเสนอแก้กฎหมายเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติ และต้องไม่ลืมว่าการที่ศาลอ้างเหตุแห่งการสั่งยุบพรรค ไม่ได้วินิจฉัยโดยอ้างจากเหตุของการเสนอแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังอ้างถึงการกระทำของ สส. ในหลายการกระทำและในหลายวาระด้วยกัน เพราะฉะนั้นแล้ว การเสนอแก้กฎหมายโดยลำพังตัวมันเอง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อให้กฎหมายที่เสนอมันอาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม มันก็ยังไม่ใช่การกระทำผิดกระทำชั่วใดๆ เพราะการเสนอกฎหมาย เป็นเพียงการโยนคำถามให้ผู้แทนประชาชนร่วมกันถกเถียงและหาทางออก ถ้าเราไปจำกัดว่าเรื่องใดเสนอได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นการไปจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเช่นนี้

นายมุนินทร์ กล่าวว่า ถ้าแบบนี้ ต่อไป หากสส.ไปเสนอร่างพรบ.ต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องอื่น ที่อาจมีการมองว่าเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ อย่างเช่นที่ก่อนหน้านี้ มีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร หรือเสนอกฎหมายทำให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือเรื่องกัญชา แล้วมีคนไปร้องศาลรธน.แล้วศาลรธน.บอกว่า การเสนอกฎหมายแบบนี้มันไม่ชอบ ไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม -คุณธรรม แล้วจะมีคนไปยื่นให้ตรวจสอบพวกสส.ที่ไปเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ ต่อศีลธรรมหรือไม่ มันจะมีความเสี่ยงเยอะมาก มันจะไปกระทบกับการทำหน้าที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติของสส. เพราะว่าเขาไม่ได้ไปเรียกร้องให้ไปทำอะไรนอกรัฐสภา แต่ว่าเป็นการกระทำตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเขาในการทำหน้าที่สส. คือก็เสนอเข้าสภาฯ แล้วก็ไปอภิปรายกันในสภาฯ จะพอใจหรือไม่พอใจ อย่างไร ก็ไปว่ากันในสภาฯ ที่สภาฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธร่างกฎหมายนี้ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมมองไม่ออกว่าการเสนอแก้กฎหมายโดยผ่านกระบวนการของสภาฯ มันจะเป็นเรื่องของการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้อย่างไร

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

 “แต่ว่าบ้านเรามันก็ไม่แน่ เพราะอย่างที่หลายคนบอก คือหลายเรื่องอาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนสงสัย ตั้งคำถามลักษณะแบบนี้มาตลอด เพราะบางทีในทางกฎหมายมันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้าย มันก็เกิดผลบางอย่างทางกฎหมายขึ้นมา คนก็สงสัยว่า ทำไมหลักการตามกฎหมายมันเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นไปได้ คนก็เลยบอกว่าเป็นเพราะเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเราก็บอกอะไรไม่ได้ แต่หากมองในเชิงกฎหมาย มันไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้เลย”

เมื่อถามว่า หากเกิดป.ป.ช.ชี้มูล 44 ส.ส.ก้าวไกลดังกล่าวขึ้นมา จนส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาไต่สวน  ทางศาลฎีกา ก็ต้องพิจารณาคดีโดยดูจากเรื่องของเจตนาเป็นสำคัญ นายมุนินทร์กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ตามหลัก due process ศาลก็ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งจริงๆ ต้องตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการป.ป.ช. ที่หากจะรับเรื่องไว้ ก็ต้องมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ที่ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ก่อนที่ป.ป.ช.จะมีมติใดๆ

นายมุนินทร์ย้ำว่า หากป.ป.ช.มีการชี้มูลคดี ก็ต้องส่งศาลฎีกา ทางศาลฎีกา ก็ต้องตั้งองค์คณะพิเศษขึ้นมาพิจารณาคำร้อง โดยต้องมี due process คือมีการสืบพยาน มีการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ได้นำพยานหลักฐานเข้าพิจารณาคดีอย่างเต็มที่ก่อนศาลฎีกาจะตัดสินคดี        ซึ่งการพิจารณาเรื่องความผิดคดีอาญาหรือการกล่าวหาว่าละเมิดฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ต้องมีเรื่องของเจตนา เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการพิสูจน์ว่ามีเจตนาที่จะละเมิดจริยธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาที่จะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายหรือต้องการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ และอย่าลืมว่าร่างกฎหมาย จะเป็นกฎหมายหรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายในระบบรัฐสภา และต้องมีการโหวตของทั้งสองสภา ในอดีตแม้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดที่ออกมาแล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคนใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวต้องรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายหรือในทางจริยธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 44 ส.ส.ก้าวไกลสมัยที่แล้วที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เข้าสภาฯ มีแกนนำพรรคประชาชนทั้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  หัวหน้าพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม กรรมการบริหารพรรคและนายทะเบียนพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รวมถึง นส.ศิริกัญญา ตันสกุล แกนนำพรรคประชาชน และส.ส.พรรคประชาชนอีกหลายคน ที่รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่แม้จะโดนตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งสิบปีไปแล้วจากคดียุบพรรคก้าวไกล แต่ก็ต้องมาลุ้นในคดี44 พรรคก้าวไกลดังกล่าวด้วย ท่ามกลางการจับตาจากหลายฝ่ายว่า หากคดีไปถึงศาลฎีกาฯ จะถูกสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตเหมือนกับหลายคดีก่อนหน้านี้เช่นคดีของนส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราขบุรี พรรคพลังประชารัฐ หรือนส.พรรณิการ์ วานิช อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่หรือไม่ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112

แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค.

'หมอเดชา' ย้อนเกล็ด 'ธนาธร' ยักไหล่​ แล้ววินิจฉัย​เหมือนเดิม!

นายเดชา ศิริภัทร เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Deycha Siripatra ว่า ในที่สุด​ พรรคก้าวไกล​ที่ถูกยุบ​ ก็เปลี่

'ก้าวไกล' ชิงเปิดตัวพรรคใหม่ สกัด สส.งูเห่า จับตา 'เศรษฐา' ส่อรอด

'จตุพร' อ่านเกมก้าวไกลชิงตั้งพรรคใหม่ สกัด สส. แตกแถว หวั่นถูกเงินทุนล่อไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล วิเคราะห์โดนอำนาจวาง 3 กับดักทำลายให้สิ้นซาก ปลุก ปชช. ขอเงินสดแทนเงินหมื่นดิจิทัล

มติเอกฉันท์ฝัง 'ก้าวไกล' มีเจตนามุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทย!

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา และลงมติกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล น้าเพิกถอน