เปิดตำนาน 'พรรคประชาชน' ไม่ใช่ชื่อใหม่ถอดด้าม เคยเป็นรังเก่า 'กลุ่ม 10 มกราฯ'

เปิดตำนาน 'พรรคประชาชน' ไม่ใช่ชื่อใหม่ถอดด้าม เคยเป็นรังเก่า 'กลุ่ม 10 มกราฯ' ยุค 'ป๋าเปรม' ศิษย์เก่าดังอื้อ 'วันนอร์-จาตุรนต์-นิกร ' พบ 'ถวิล ไพรสนท์' มือท้องถิ่นพรรคก้าวไกล ก็คืออดีตผู้ร่วมก่อตั้ง กับ 'เฉลิมพันธ์-ไข่มุกดำ วีระ'

9 ส.ค. 2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสข่าวที่ออกมาช่วงค่ำวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ที่มาแทนพรรคก้าวไกล จะใช้ชื่อว่า "พรรคประชาชน" ที่จะมีการแถลงเปิดตัวเวลา 12.00 น.วันนี้ 9 สิงหาคม ที่ตึกไทยซัมมิทฯ

จากการตรวจสอบของ ไทยโพสต์ พบว่า ชื่อพรรคประชาชน ไม่ใช่ชื่อพรรคใหม่ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะเคยเป็นพรรคการเมือง ที่เคยส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งและได้ส.ส.มาแล้วในช่วงปี 2531 ซึ่งช่วงนั้น เป็นการเมืองในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี

ซึ่งแกนนำพรรค-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนเวลานั้น ก็คือนักการเมืองจาก”กลุ่ม 10 มกรา”ที่เป็นกลุ่มการเมืองชื่อดัง จนเป็นตำนานของพรรคประชาธิปัตย์มาถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่ม 10 มกรา มีแกนนำคือนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ที่เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน จนขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่มีนายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายเฉลิมพันธ์ คือบิดาของนางทยา ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำกปปส.-อดีตรองผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

โดยตำนานของพรรคประชาชน เกิดขึ้นหลังเกิดปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ -นายวีระ มุกสิกพงษ์ โดยมีแนวร่วม เช่น กลุ่มวาดะห์ ที่กำลังเริ่มโด่งดังทางการเมือง กับกลุ่มของนายพิชัย รัตตกุล ที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น ซึ่งกลุ่มของนายพิชัย มีแนวร่วม เช่น นายชวน หลีกภัย -พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายมารุต บุนนาค นายเล็ก นานา

พบว่ากลุ่มนายพิชัย ขัดแย้งกับกลุ่มของนายเฉลิมพันธ์ ในเรื่องโควต้ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ และตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในปีกของนายเฉลิมพันธ์ ตั้งกลุ่ม 10 มกราฯ ขึ้น เมื่อ 10 มกราคม 2530 ที่โรงแรมเอเชีย โดยมีการงัดข้อทางการเมืองกับกลุ่มนายพิชัย ตลอด จนมาถึงจุดแตกหัก ตอนโหวตร่างพรบ.ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร ที่เป็นร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรมเวลานั้น เพราะทางประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ กดดันให้รัฐบาลพลเอกเปรม รีบออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็มีกระแสคัดค้านไม่เห็นด้วยมากมาย

จนเมื่อร่างพรบ.ลิขสิทธิ์ฯ เข้าสภาฯ ทางส.ส.กลุ่ม 10 มกราคม โหวตสวนไม่เห็นชอบร่างพรบ.ลิขสิทธิ์ฯทั้งที่ตัวเองเป็นส.ส.รัฐบาล ทำให้ พลเอกเปรม ตัดสินใจยุบสภาฯ โดยเป็นการยุบสภา ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเพียงไม่กี่วัน

และหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง กลุ่ม 10 มกราคม ก็ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปตั้งพรรคประชาชน ที่เป็นการตั้งพรรคโดยเปลี่ยนชื่อจากพรรคเดิมคือ พรรครักไทย โดยมีนายเฉลิมพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายวีระ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวีระกานต์ อดีตประธานนปช.เสื้อแดง เป็นเลขาธิการพรรคประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชนได้ส.ส.เข้าสภาฯ ไม่มากเท่าใดนัก คือได้ประมาณ 19 คน และหลังเลือกตั้ง พรรคชาติไทย ที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้ง จนพลเอกชาติชาย ขึ้นเป็นนายกฯ หลังพลเอกเปรม ที่เป็นนายกฯคนนอกมาแปดปี ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ กับวาทะอมตะ”ผมพอแล้ว”

โดยการตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่มีพรรคประชาชนร่วมด้วย เพราะพลเอกชาติชาย ตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ถูกกับพรรคประชาชน ทำให้พรรคประชาชนกลายเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคอื่นๆ เช่น พรรครวมไทย ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ -พรรคกิจประชาคม ของนายบุญชู โรจนเสถียร -พรรคก้าวหน้าของนายอุทัย พิมพ์ใจชน

จนต่อมาช่วง เมษายน 2532 ทั้งสี่พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาชน-พรรครวมไทย-พรรคกิจประชาคม-พรรคก้าวหน้า ก็ได้ยุบรวมมาเป็นพรรคเดียวกันชื่อว่า “พรรคเอกภาพ”

จากนั้นช่วงปี 2534 พลเอกชาติชาย ปรับครม.โดยดึงพรรคเอกภาพเข้าร่วมรัฐบาล แล้วปรับพรรคประชาธิปัตย์ออก แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดรัฐประหาร รสช. เมื่อ 23 ก.พ. 2534 ทำให้ พรรคประชาชน ชื่อก็หายไปจากการเมืองหลายสิบปี พร้อมกับการที่นายเฉลิมพันธ์ วางมือทางการเมือง

โดยพบว่า ส.ส.-นักการเมือง ที่เคยอยู่กับพรรคประชาชน ที่ตอนนี้ยังเป็นส.ส.อยู่ ก็มีเช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในปัจจุบัน ที่ตอนนั้นออกจากประชาธิปัตย์มาพร้อมกับกลุ่มวาดะห์ และยังมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เคยอยู่กับกลุ่ม 10 มกราฯมาก่อน ตั้งแต่ยุคเป็นส.ส.ฉะเชิงเทรา สมัยแรก ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจาตุรนต์ ออกไปร่วมตั้งพรรคประชาชน พร้อมกับบิดา คือนายอนันต์ ฉายแสง อดีตส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย

ส่วนอดีตศิษย์เก่า พรรคประชาชน ที่ไม่ได้เป็นส.ส.แต่ยังมีบทบาทการเมืองก็เช่น นายนิกร จำนง ที่เคยเป็นส.ส.สงขลา กลุ่ม 10 มกราคม แต่ตอนที่ลงสมัครส.ส.พรรคประชาชน ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยปัจจุบัน นายนิกร เป็นผอ.พรรคชาติไทยพัฒนามาหลายปี ล่าสุดก็เป็นกรรมาธิการของสภาฯหลายคณะเช่น กรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ เป็นต้น

ขณะที่ คนอื่น ๆ ที่ยังโลดแล่นการเมืองอยู่ก็มีเช่น นายถวิล ไพรสณฑ์ ที่เคยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอนช่วงหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่มีสมาชิกพรรคลาออกหลายคนที่เรียกกันตอนนั้นว่า ประชาธิปัตย์เลือดไหลไม่หยุด โดยปัจจุบันนายถวิล ช่วยงานพรรคก้าวไกลในเรื่องท้องถิ่นมาหลายปีแล้ว จนน่าจับตาว่า นายถวิล อาจจะมีส่วนในการช่วยคิดชื่อ พรรคประชาชน รวมถึงยังมีศิษย์เก่า พรรคประชาชนอีกหลายคน เช่น นางอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตเลขาธิการนายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) อดีตนายกอบจ.ภูเก็ต ที่เคยลงสมัครส.ส.พรรคประชาชน เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' นำทัพ กวาดเรียบศึกอบจ. 'ส้มร่วง' แพ้ฤทธิ์บ้านใหญ่

นักวิชาการชี้เปรี้ยง พท.-ทักษิณ โอกาสสูงกวาดนายกอบจ.เกือบหมด! ส่วนพรรคส้ม ปาดเหงื่อ เสี่ยงร่วงปักธงไม่สำเร็จ แพ้ฤทธิ์บ้านใหญ่  แต่สจ.คาดผงาด เข้าวินหลายจังหวัด   

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

วันเด็กพรรคประชาชนคึกคัก 'ดช.ไอติม' ปลื้มร่างพ.ร.บ.ไม่ตีเด็กผ่านสภาฯ

พรรคประชาชนจัดกิจกรรมวันเด็ก “เมื่อทุกคนเลือกห้องเรียนเองได้” โดยบรรยากาศที่อาคารอนาคตใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก เด็ก ผู้ปกครอง และประชาชนเดิ

'พิธา' ให้สัมภาษณ์งานแต่งข้ามขั้ว ครม.ครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าร่วมงานพิธีสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปางพรรคเพื่อไทย และนางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง พรรคประชาชน

ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร

'สว.พิสิษฐ์' เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน. หั่นเสียงวุฒิสภา ขัดปชต.-การถ่วงดุล

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256