5 ส.ค.2567 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง สิทธิ “หวงกันข้อมูลสุขภาพ” ในคดี “ติดคุกจอมปลอม” ผ่าน
www.thaipost.net มีเนื้อหาดังนี้
“คดีติดคุกจอมปลอม”
ถาม เห็นเลขา ปปช.แถลงว่า จะมีการไต่สวน “คดีติดคุกจอมปลอม”ของคุณทักษิณ ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ( กสม. ) แล้ว แล้วอย่างนี้จะมีคดีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างครับ
ตอบ คดีนี้มีสองมูลคดีครับ คดีแรกคือคดีที่นักโทษไปนอนโรงพยาบาลตำรวจ ๖ เดือน ตรงนี้ กสม.เห็นว่า ถ้าป่วยถึงขั้นวิกฤต ก็ต้องนอน ไอซียู ไม่ใช่นอนห้องพิเศษสบายๆถึง ๖ เดือน กสม.จึงเสนอให้ ปปช.ใช้อำนาจตรวจสอบให้กระจ่างว่า ความไม่เสมอภาคนี้ มีการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
คดีที่สองเป็นช่วงที่นอนโรงพยาบาลครบ ๖ เดือนแล้ว นักโทษคนนี้ก็ได้พักโทษทันที ตรงนี้กฎหมายระบุไว้ว่าจะสั่งพักโทษได้ก็ต้องมีสภาวะถึงขั้นช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่พอพักโทษแล้ว กลับออกมาเพ่นพ่านไปได้ทั่วประเทศ ตีกอล์ฟ กินเลี้ยง จิบไวน์ ร้องเพลง อย่างที่เห็นกัน
ถาม กสม. เขาเสนอแต่คดีที่ไปนอนโรงพยาบาล ๖ เดือนเท่านั้น ไม่ใช่หรือ
ตอบ คดีพักโทษโดยมิชอบนี้ ปปช.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบด้วยตัวเองอยู่แล้ว ถ้าตรวจสอบคดีที่ ๑พบว่าไม่ป่วยหนักจริง ความสงสัยในคดีที่ ๒ ก็จะตามมาอยู่ดีว่า แล้วไปพักโทษโดยอ้างว่านักโทษช่วยตัวเองไม่ได้ คือ ลุก นั่งนอน ลงบันได กินข้าว เข้าห้องน้ำ ด้วยตัวเองไม่ได้ได้อย่างไร พอสงสัยอย่างนี้คณะหมอที่ประเมินก็งานเข้า ต้องอธิบายให้ได้ว่าประเมินมาอย่างนี้ได้อย่างไร นี่ก็จะเกิดเป็นคดีที่สอง
“ข้อมูลสุขภาพ” ของนักโทษ
ถาม ปัญหาว่า คุณทักษิณป่วยจริงหรือไม่นี่ จะพิสูจน์กันได้อย่างไร เรื่องมันผ่านมาเกือบปีแล้วนะครับ
ตอบ ตอบ ไม่ยากเลยครับ เรียกเอกสารจากเรือนจำและโรงพยาบาลตำรวจมาให้ครบ ตรวจไม่กี่วันก็รู้เรื่องแล้ว
ถาม เอกสารอะไรบ้าง
ตอบ มาตรฐานที่ต้องปฏิบัติในวงการแพทย์มันมีบังคับเป็นเรื่องเป็นราวอยู่ว่า ในกระบวนการทั้งหมด ต้องมีต้องเก็บรักษาเอกสารใดบ้าง เอกสารดังต่อไปนี้นี่แหละครับ ที่ต้องเรียกมาไขความจริงให้ได้
๑. บันทึกเวชระเบียนในชั้นตรวจร่างกายรับเข้าเรือนจำ พร้อมบันทึกแพทย์ดูไบถึงแพทย์ไทย
๒. บันทึกเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินยามวิกาลของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เช่นถ้าเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ก็ต้องมีผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือรายงานความดันโลหิตสูงถึงขั้นวิกฤต หรือถ้าหกล้มเอ็นหัวไหล่ขาดดิ้นเร่าๆ เหล่านี้ต้องมีอยู่ในบันทึกของโรงพยาบาล และมีอยู่ในใบส่งต่อ ( Refer ) คนไข้ทั้งสิ้น หลักฐานข้อนี้ถ้าไม่มี ก็แสดงว่ามั่วกันแน่นอน
๓. บันทึกในฟากโรงพยาบาลตำรวจ ก็ต้องมีบันทึกผู้ป่วยนอก ระบุอาการป่วยเจ็บและข้อบ่งชี้ที่ต้องรับรักษาเป็นผู้ป่วยใน เมื่อรับไว้แล้วก็ต้องมีบันทึกแสดงพัฒนาการของอาการป่วยเจ็บ โดยหมอเจ้าของไข้ ( Progress Note ) ถ้าต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ก็มีบันทึกปรึกษาไข้ ( Consultation Note )อีก บวกด้วยบันทึกการตรวจพิเศษทั้งปวง ทั้ง X-Ray, CT.Scan, MRI แล้วแถมด้วยบันทึกการพยาบาล,บันทึกวิสัญญี,บันทึกการใช้ยา ฯ ทั้งหมดในข้อนี้ ได้มาแล้ว ก็ขอผู้ชำนาญจากแพทยสภา มาตรวจสอบ ก็จะรู้ได้โดยพลันเลยว่า ปรากฏมูลคดีแหกตาชาวบ้านหรือไม่ ปปช.ควรตั้งข้อกล่าวหาใครได้บ้าง มีพยานบุคคลใดต้องเรียกมาสอบ ทั้ง แพทย์,พยาบาล,เภสัช,นักกายภาพ
สิทธิหวงกัน “ข้อมูลสุขภาพ”
ถาม เห็นในรายงาน กสม.เขาบอกว่า ฝ่ายโรงพยาบาลอ้าง พรบ.สุขภาพแห่งชาติมาปฏิเสธไม่ส่งข้อมูลสุขภาพของคุณทักษิณให้ กสม.นะครับ ภายหน้า ปปช.ก็อาจจะถูกยันอย่างนี้อีกเหมือนกัน
ตอบ ผมว่าทางโรงพยาบาลตีความไม่ถูกต้อง พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา ๘๐ ก็ระบุชัดเจนเป็นหลักไว้แล้วว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นความลับสำหรับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นสืบสวน สอบสวน และชั้นศาล
ถาม แต่เมื่อเรื่องมันแคบเฉพาะลงมาเป็นข้อมูลสุขภาพนั้น มาตรา ๗ ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ระบุชัดเจนนะครับว่า
“มาตรา ๗ ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลของส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
ตอบ ผมว่า ปปช.ก็ยังเรียกข้อมูลได้เหมือนเดิมนะครับ กล่าวคือ มาตรา ๗ นี้ เขาขึ้นเป็นหลักทั่วไปหวงกันไว้แต่แรกก่อนว่า การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพนั้นทำไม่ได้ จากนั้นเขาก็ยกเว้นว่าเปิดเผยได้เมื่อมีอำนาจกฎหมายรองรับ แล้วก็ถามกันต่อไปว่าทุกกฎหมายเลยหรือ ซึ่งเขาก็บัญญัติวางข้อยกเว้นซ้อนข้อยกเว้นไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าเป็นการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการแล้ว ก็จะเปิดเผยไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างเหตุจำเป็นใดก็ตาม
ถาม ก็ในท้ายมาตรา ๗ เขาระบุว่า เปิดเผยไม่ได้ทั้งนั้นนะครับ ไม่ว่าสิทธิตามกฎหมายข้อมูลราชการ หรือกฎหมายอื่นก็ตาม กฎหมาย ปปช.ก็เป็น
“กฎหมายอื่น” ด้วยไม่ใช่หรือ
ตอบ ไม่ใช่ครับ คำว่า “กฎหมายอื่น” ในที่นี้ เขาหมายถึงกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการ ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ปปช.แน่นอน
ถาม อะไรคือกฎหมายในทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลส่วนราชการ
ตอบ คือสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนราชการนั้น มันมีทั้งกลุ่มที่เป็นอำนาจเรียกข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายเฉพาะต่างๆ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสิทธิของคนธรรมดาทั่วไปที่อยากรู้โดยไม่ต้องมีส่วนได้เสียอะไร กลุ่มนี้มีกฎหมายข้อมูลทางราชการรับรองสิทธิไว้ ให้เข้าถึงได้ เว้นแต่จะอยู่ในข้อยกเว้นที่ห้ามเข้าถึง
ด้วยความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายสุขภาพแห่งชาติเขาเห็นว่า การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพบุคคล ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการใดในอำนาจรัฐเท่านั้น เขาจึงไม่รับรองให้ใครอ้างสิทธิสาธารณะมาขอให้เปิดเผยข้อมูลสุขภาพใครได้ โดยบัญญัติว่าห้ามหมดเลยไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามกฎหมายข้อมูลส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น ( ถ้ามี ) ก็ตาม
ถาม แสดงว่า ปัญหานี้เกิดจากการบัญญัติกฎหมายไม่ชัดอย่างนั้นหรือครับ
ตอบ ผมว่าเขาน่าจะเขียนได้ดีกว่านี้เท่านั้น เช่นเขียนว่า “ข้อมูลสุขภาพบุคคลจะขอให้เปิดเผยได้ก็แต่โดยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการและกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกัน ” ถ้าเขียนชัดอย่างนี้ ก็หมดปัญหา ภาพความเข้าใจก็จะออกมาถูกต้องดังนี้
ถาม สรุปแล้วการตรวจสอบของ ปปช.ไม่มีอุปสรรคตามกฎหมายข้อมูลมาขัดขวางเลยใช่ไหมครับ
ตอบ ผมขอยืนยันว่าไม่มีแน่นอน มีแต่เรื่องความยึดมั่นในหน้าที่เท่านั้นว่า ปปช.มีปัญหาตรงนี้หรือไม่
ถาม แล้วอาจารย์ว่ามีปัญหาไหม
ตอบ เรื่องนี้เราหวังการตรวจสอบจากฝ่ายบริหารไม่ได้เลย ทั้งรัฐมนตรียุติธรรม และ นายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นลูกน้องนักโทษทั้งสิ้น ข้างองค์กรอย่างแพทยสภา และ กสม.ที่ออกโรงมาตรวจสอบในทุกวันนี้นั้น อันที่จริงก็อยู่นอกพรีเมียร์ลีคส์ทั้งสิ้น
ปปช.ต่างหาก คือองค์กรศูนย์หน้าที่มีหน้าที่ตรงที่สุด แต่กลับยืนนิ่งไม่ขยับมาเป็นปี ต้องให้กองหลังอย่าง กสม.ฟันฝ่าด่านหอบแฮ่กๆพาลูกมาประเคนให้ตรงหน้าโกลล์อย่างนี้ แค่นี้ก็น่าอายมากๆแล้วนะครับ
คงต้องช่วยกันจับตาให้ดีๆว่า ขนาดครองบอลอยู่หน้าโกลล์อย่างนี้แล้ว จะมีตะคริวมากินจนล้มตัวลงนอนหรือไม่???