'อ.หริรักษ์' ชำแหละ ความเห็น 'อ.สุรพล' แก้ตัวให้ 'ก้าวไกล' ข้องใจจะเปลี่ยนประเทศแบบไหน

31ก.ค.2567- รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคก้าวไกลตามความผิดในข้อหา ล้มล้าง หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ความเห็นของผู้สันทัดกรณีทั้งหลายส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่น่าจะรอด แต่ในบรรดาผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มีหลายคนที่เห็นว่า การยุบพรรคไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการเมือง เพราะพรรคที่ถูกยุบก็สามารถตั้งพรรคใหม่ได้ และกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ก็ยังคงสามารถอยู่เบื้องหลังโดยหาคนอื่นมาออกหน้าแทนได้เสมอ แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นความโกรธแค้นของนักการเมืองของพรรคที่ถูกยุบและประชาชนที่สนับสนุน ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรมีมารตรการยุบพรรค แต่เมื่อเป็นกฎหมายและหากพรรคก้าวไกลทำผิดตามกฎหมายจริง ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้

ล่าสุด เร็วๆนี้ พรรคก้าวไกลได้เปิดชื่อพยานบุคคลเพิ่มขึ้นอีกชื่อหนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอยู่ในคณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต. แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารและอื่นๆเพียงพอแล้ว อ.สุรพลจึงทำได้เพียงเขียนความเห็นในฐานะพยานต่อคดีนี้อย่างละเอียด และเผยแพร่ออกสื่อต่างๆเพื่อให้ประชาชนได้เห็น และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
ต่อไปนี้จะขอสรุปความเห็นดังกล่าวอย่างสังเขป ซึ่งแยกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 คำรัองยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ความเห็นคือ กกต.ไม่ได้ทำตามมาตรา 93 ของพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ซึ่งกำหนดในวรรคแรกว่า
" เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ(กกต.)กำหนด ....."

ตามข้อความที่ว่า " ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด" คณะกรรมการ กกต.ได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีประธานกกต.เป็นผู้ลงนาม ซึ่งอ.สุรพลเห็นว่า นายทะเบียนมิได้ทำตามระเบียบดังกล่าว ไม่ได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน และไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้โต้แย้งอย่างเต็มที่ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการกกต. ซึ่งคณะกรรมการได้มีมติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จึงเห็นว่า กกต.มิได้ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จึงทำให้คำร้องยุบพรรคก้าวไกลที่คณะกรรมการกกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งยังเห็นว่า การอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยมาก่อนแล้วว่าพรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ทำไม่ได้ เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยคดึตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่คำร้องของกกต.ทียื่นศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้อยากจะนำข้อความจากรัฐธรรมนูญมาตรา 49 มาให้อ่านดังนี้
" มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ...."
ในขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 กำหนดว่า
"เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1.) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศที่มิได้เป็นไปตามวิถึทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(3)...........
(4)........... "
ดูแล้วการพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 และการพิจารณาคดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 จะเป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงหรือเป็นเรื่องเดียวกัน คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ประเด็นที่ 2 การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์​ทรงเป็นประมุข หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ความเห็นคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาการกระทำตามคำร้องให้ชัดเจนให้ได้ว่า การกระทำใดเป็นการกระทำของพรรคการเมือง และการกระทำใดเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล เพราะการกระทำใดที่จะเป็นผลผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นการกระทำของนิติบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเป็นการกระทำของสมาชิกหรือบุคคลที่สังกัดนิติบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่ง

การกระทำเช่น การเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นเพียงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติเสนอรัฐสภาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น การปรากฏตัวในที่ชุมนุมชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 การเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาคดี 112 การเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ของสมาชิกพรรคก้าวไกล การติดสติ๊กเกอร์บนเวทีหาเสียง เป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่การกระทำของพรรค การกระทำใดที่จะเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเป็นการกระทำที่ใช้กำลังบังคับ หรือเป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง เท่านั้น

การเสนอนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาเผยแพร่หาเสียง ข้อเสนอแบบนี้ของพรรคการเมือง เป็นการประนีประนอมแนวทางของกลุ่มความคิดต่างๆ เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ฝ่ายต่างๆยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้ มิฉะนั้นแล้วการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นจริงก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น พรรคก้าวไกลจึงไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการล้มล้าง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

ประเด็นสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจาณาให้ยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ความเห็นคือ พรรคก้าวไกลไม่ยังไม่มีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันจะเป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ทั้งนี้ยังได้ฝากความเห็นปิดท้ายถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญความว่า
"การพยายามแก้ปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อนของชาติด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นกระบวนการที่ได้ใช้มาแล้วหลายครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ละครั้งก็ไม่เคยทำให้เกิดทางออกหรือทางเลือกใหม่ที่จะช่วยคลี่ตลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ ในทางตรงข้ามกลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายอยู่แล้ว กลับทวีความรุนแรงขึ้น ........ ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้มโนธรรมและความรักความห่วงใยในประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้"

นี่เป็นการสรุปสาระสำคัญของความเห็นของอ.สุรพลเท่านั้น ความเห็นฉบับเต็มมีรายละเอียดและมีความยาวกว่านี้มาก ต้องนับว่าเป็นความสามารถของพรรคก้าวไกลที่ได้มือระดับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งก็ดูเหมือนอ.สุรพลจะมองก้าวไกลในแง่ดีไปเสียทั้งหมด แม้แต่เรื่องที่พรรคก้าวไกลไปอ้าแขนรับผู้ที่เป็นจำเลยในคดี 112 ให้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยเดียวกัน 3 คน ท่านก็มองว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนไม่ใช่เรื่องของพรรค การที่คุณพิธาติดสติ๊กเกอร์ในช่อง ยกเลิก 112 บนเวทีหาเสียง ก็มองว่าเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล ทั้งที่คุณพิธาขึ้นเวทีหาเสียงในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล
จะว่าไป หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคก้าวไกลมีการกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลาย และจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอทบทวนอีกครั้งว่า การพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ถือเป็นการพยายามล้มล้างการปกครองฯด้วย เพราะระบอบการปกครองของประเทศไทยต้องประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การพยายามล้มล้างส่วนหนึ่งส่วนใดก็ถือว่าเป็นการล้มล้างทั้งหมด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำดังกล่าวเสีย

แรกทีเดียวก็ยังนึกชมว่า พรรคก้าวไกลก็หยุดเคลื่อนไหวอย่างที่เคยทำจนเกือบหมด แต่แล้วมาถึงวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่เพจหรือเว็บไซด์ขององค์กร หรือบริษัทตลอดจนบุคคลต่างๆ ต่างก็โพสต์ข้อความถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อไปดูเว็บไซด์ของพรรคก้าวไกลนอกจากไม่มีข้อความถวายพระพรแล้วยังโพสต์รูปคุณพิธาพร้อมข้อความว่า
"ก้าวแรก อบจ. ก้าวต่อเปลี่ยนประเทศ" เสียนี่
นี่เป็นความจงใจหรือไม่ที่จะโพสต์ข้อความเช่นนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคำว่า "เปลี่ยนประเทศ" จะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่เคยหาเสียงไว้หรือเปลี่ยนไปเป็นแบบใด
อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีการหยุดการกระทำ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดหรือไม่รอดจากการถูกสั่งให้ยุบพรรค
เพราะพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ(กกต.)มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 2 ใน 4 ของกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือ กระทำการล้มล้างการปกครองฯ และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การได้ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มาเป็นพยานสำคัญจะเป็นผลบวกหรือผลลบต่อพรรคก้าวไกล วันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้ตั้งแต่เวลา 15.00 น จะได้รู้กัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สถิตย์' ขอตั้งหลักรอหนังสือทางการเรื่อง 'กิตติรัตน์'

'สถิตย์' ขอตั้งหลักรอมติกฤษฎีกาเอกฉันท์-หนังสือ ก.คลังทางการ จับตา พท.ส่งชื่อใครแทนเสี่ยโต้ง หลังอดีตปลัดกุลิศ อดีตทีมกุนซือเศรษฐาก็วืดขาดคุณสมบัติ

เอาแล้ว! ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ตีตกคำร้องป่วยทิพย์ชั้น 14

มติเอกฉันท์! ศาล รธน.ตีตกคำร้อง รมว.ยุติธรรม -ราชทัณฑ์ เอื้อประโยชน์ 'ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 เหตุไม่มีข้อเท็จจริง หลักฐานยังห่างไกล เป็นเพียงกล่าวอ้าง

ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป

เปิด 11 ชื่อผู้สมัคร 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ปลัด ก.เกษตรฯ มาวันสุดท้าย

ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11-25 พฤศจิกายน 2567

'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง