เผยห้าวิบากจากความลำบากทุกข์ยากบนราชบัลลังก์ของ 3 รัชกาล ราชสกุลมหิดล

30 ก.ค.3567- อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ห้าวิบากจากความลำบากทุกข์ยากบนราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาลจากราชสกุลมหิดล

……………………………………………………………..

วิบากของราชสกุลมหิดล

ต้นราชสกุลมหิดลคือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช) ซึ่งทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

……………………………………………………………..

วิบากที่หนึ่ง

พระราชโอรสพระองค์โตคือ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (พระเชษฐาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช) ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของสยาม ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ แต่ทรงสวรรคตตั้งแต่ทรงพระเยาว์

……………………………………………………………..

วิบากที่สอง

หลังจากนั้นพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็สิ้นพระชนม์จนหมดสิ้นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เหลือแต่เพียง 2 พระองค์คือ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

……………………………………………………………..

วิบากที่สาม

เกิดคดีฆาตกรรมในหลวงรัชกาลที่ 8 จากสาเหตุทางการเมือง

สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงเขียนจดหมาย แจ้งความเป็นอยู่ของลูกทั้งสามถึงสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จย่าของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) อยู่เสมอมิได้ขาด รวมถึงเรื่องที่รัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับประเทศไทยเรื่อยมาตั้งแต่รับขึ้นครองราชย์ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาล

โดยสมเด็จพระราชชนนียังได้ย้ำอีกว่า สกุลมหิดลไม่ต้องการลาภยศใด ๆ หากแต่สิ่งที่มุ่งหวังคือ พระพลานามัย การศึกษา ตลอดจนการเรียนรู้ในช่วงเยาว์วัยของในหลวงรัชกาลที่ 8 คือสิ่งสำคัญที่สุด โดยได้ทรงย้ำกับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศว่า…“การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง”

เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สมเด็จย่า มิได้มีความปรารถนาให้พระราชโอรส เป็นพระมหากษัตริย์ ราชสกุลมหิดลปรารถนาเพียงการอยู่อย่างสงบสุข แต่ที่ต้องยอมรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เนื่องจากเป็นภาระและหน้าที่ต่อบ้านเมืองเท่านั้น

ช่วงเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งมีพระชนมายุ 20 พรรษา ได้ถูกฆาตกรรมและเสด็จสวรรคตอยู่ในห้องบรรทมของพระองค์ในพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

มีบันทึกว่าเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งกำลังศึกษาวิชากฎหมายและนิวัติกลับมาประเทศไทย เคยมีการโต้ตอบกับนักการเมืองผู้กุมอำนาจอยู่หลายครั้ง เนื่องจากพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อนจะเกิดคดีสะเทือนขวัญในที่สุด

แต่มีความพยายามของฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมหรือฝ่ายล้มเจ้า บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ร้ายว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ถูกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชลอบปลงพระชนม์ เพราะหวังครองราชสมบัติ

ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทั้งชาติ ไม่เหมือนพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทรงมีอำนาจทางการเมืองเพียงผู้เดียว ดังนั้นน้องจะฆ่าพี่ทำไม

ยิ่งไปกว่านั้น จากบันทึกประวัติศาสตร์ที่ยกให้ดูข้างต้น รวมทั้งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางตลอดมาว่า ราชสกุลมหิดลไม่มีความมุ่งหวังใดๆ ในเรื่องการเมืองและราชบัลลังก์ นอกจากนี้ครอบครัวมหิดลยังรักใคร่กลมเกลียว โดยเฉพาะรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ผูกพันรักใคร่กันตลอดมา ไม่มีเหตุผลจูงใจใดๆ บ่งชี้เลยว่า น้องจะฆ่าพี่เพื่อราชบัลลังก์ที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ

……………………………………………………………..

วิบากที่สี่

ใจความบางส่วนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC เมื่อปี พ.ศ.2525

“เมื่อข้าพเจ้าจะมารับหน้าที่นี้เมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น ข้าพเจ้าอายุเพียงแค่ 18 ปี ในเวลานั้นทุกอย่างดูทรุดโทรมไปหมด ในวันนั้นเก้าอี้และพรมก็ขาดเป็นรู พื้นแตกคร่ำคร่า วังทั้งวังก็เกือบจะพังลงมา เวลานั้นสงครามโลกเพิ่งสิ้นสุดลง ไม่มีใครสนใจกับอะไรทั้งสิ้น ข้าพเจ้าต้องค่อยๆก่อสร้างทุกๆอย่างขึ้นมาใหม่ โดยไม่ใช้วิธีทุบทิ้ง

ข้าพเจ้าต้องค่อยๆทำไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นเวลา 36 ปีเข้าไปแล้ว ดังนั้น เราอาจเรียกรัชกาลนี้กระมังว่า เป็นรัชกาลแห่งการปฏิรูป ขนบธรรมเนียมเก่าแก่ ถูกรักษาไว้และเปลี่ยนแปรมาโดยลำดับ”

จากบทพระราชทานสัมภาษณ์ข้างต้นจะเห็นถึงความยากลำบากในช่วงต้นรัชกาลในแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9
พระองค์ใช้เวลาถึง 36 ปี กว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย

……………………………………………………………..

วิบากที่ห้า

ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหรือของชาติใดๆ ในโลกมีลักษณะคล้ายกันอยู่อย่าง คือเมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลหรือผลัดแผ่นดิน มักเกิดการลองของ หรือความพยายามในการล้มล้างราชบัลลังก์

ดังนั้น นับตั้งวินาทีแรกที่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ก็คือวินาทีแห่งวิบากกรรมของพระองค์

คงไม่ต้องอธิบายความใดๆ ว่าเกิดเหตุการณ์ใดในความพยายามบั่นทอนพระราชบัลลังก์

และคงไม่ต้องอธิบายว่าพระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ใดต่อชาติและประชาชนมากมายเพียงใด

แต่ต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด ในการรับมือกับการเมือง ยังไม่มีใครบอกได้

……………………………………………………………..

สิ่งที่พวกเราประชาชนผู้จงรักภักดีต้องทำคือ สามัคคี ร่วมกันค้ำบัลลังก์และถวายกำลังใจ ให้พระองค์ ร่วมกันถวายกำลังใจ ถวายชัยมงคล และร่วมกันสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์จักรีและราชสกุลมหิดล ให้คงอยู่สถาพรตลอดไป


อ่านทั้งหมดได้ที่ “อัษฎางค์ดอทคอม”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอ็ดดี้' อัดพวกนิ้วไม่ครบโยงหนัง 'สืบสันดาน' ล้างสมองกลุ่มเปราะบาง

ดาราแสดงดี ขนาดตัวละครเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังแสดงได้ดีเลย โปรดักชั่นดี ดนตรีประกอบดี คือดูแล้วก็แอบดีใจว่า ละครไทยพัฒนามาไกลมาก