เศรษฐา เกาะ ‘มีชัย-กรธ.’ ช่วยชนะคดี ไม่หลุดนายกฯ

เศรษฐา เกาะ”มีชัย-กรธ.”ช่วยชนะคดี ไม่หลุดนายกฯ งัดบันทึกประชุม หวังเป็นไม้เด็ด อึ้งใช้คำ ยกเคสตัวเองเป็น”ความผิดอุปกรณ์”วอนศาลรธน.ตัดสินตามหลักความได้สัดส่วน

30 ก.ค. 2567 -ความคืบหน้า ก่อนถึงวันที่ 14 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย คำร้องคดี กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ผ่านมา ยื่นคำร้องให้ศาลรธน. วินิจฉัยกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170

ซึ่งหลังจากนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมายืนยันว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะส่งคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษรถึงศาลรธน.ภายในวันที่ 31 ก.ค.

โดยมีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยกับ”ไทยโพสต์”ถึงเนื้อหาในคำแถลงปิดคดีดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี คาดว่า เนื้อหาจะไม่ได้แตกต่างไปจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 32 หน้า ที่นายกรัฐมนตรีเคยส่งให้ศาลรธน.ไปก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนมากนัก แต่อาจจะมีการสรุปประเด็นให้มีความกระชับมากขึ้น และเน้นประเด็นที่เห็นว่าเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีชนะคดีในศาลรธน.มากขึ้น

มีรายงานว่าประเด็นข้อต่อสู้ของนายกรัฐมนตรี ในคดีนี้ มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ทราบและเห็นจากเอกสารลับ  32 หน้าที่อยู่ในเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่นายกฯยื่นต่อศาลรธน.แล้ว ซึ่งฝ่ายกฎหมายของพรรค มองว่ามีนัยยะความสำคัญไม่น้อย นั่นก็คือ การสู้คดี โดยหยิบยกประเด็นด้วยการอ้างถึง “บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ปี 2560 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน”เพื่อยืนยันว่า ปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิชิต ชื่นบาน ที่นายกฯนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอแต่งตั้งเป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และถูกกลุ่มอดีตสว.ยื่นคำร้องว่า นายพิชิต มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เพราะเคยถูกคุมขังจากคำสั่งของศาลฎีกาฯเป็นเวลาหกเดือนในคดีถุงขนมฯ

โดยเอกสารลับของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ช่วงที่กรธ.มีการร่างรธน.ฉบับปัจจุบัน ปี 2560 โดยในช่วงการยกร่าง มาตรา 160 (4) และ (5) ทางที่ประชุมกรธ.มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ว่าการที่กรธ.จะบัญญัติมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ -มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี จะพิสูจน์ได้อย่างไร และสุดท้ายนายมีชัย ประธานกรธ.บอกว่า “หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” และยังอ้างอีกว่า จากบันทึกการประชุมดังกล่าว นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรธ.ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ได้กล่าวในที่ประชุมกรธ. ว่า “ร่างมาตรา 160 (4)และ(5) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาลรธน.จำนวนมาก ทำให้ศาลรธน.กลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย”

เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรี จึงระบุว่า จากบันทึกการประชุมของกรธ.ดังกล่าว  แสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของรธน. มาตรา 160 (4)และ(5) สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา160 เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลรธน. ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับตัวนายกฯ จึงไม่อาจตรวจสอบและชี้ขาดประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง

รายงานเปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ในเอกสารคำชี้แจงของนายกฯ นายกรัฐมนตรี ยังได้ระบุถึงประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า สำหรับ ตัวนายพิชิต ชื่นบาน ที่เป็นผู้ถูกร้องที่สองในคดีดังกล่าว แต่นายพิชิตได้ลาออกไปก่อนศาลรธน.รับคำร้องทำให้ นายพิชิต จึงไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกร้องในชั้นศาลรธน.

โดยนายกฯ ได้ระบุว่า เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องมีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมของผู้ถูกร้องที่สอง (นายพิชิต)กรณีละเมิดอำนาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว และเกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จึงควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ประกอบกับตนเอง(นายกรัฐมนตรี) มีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า นายพิชิต เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

        “ผู้ถูกร้อง ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่นนัยยะของมาตรา 29  ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ว่าบุคคลใดได้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกร้องยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง(นายกรัฐมนตรี) จึงได้ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณีและข้อพึงปฏิบัติทางการเมือง โดยไม่ถือไปก่อนว่าผู้ถูกร้องที่สอง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อันจะทำให้ผู้ถูกร้องที่สอง มีลักษณะต้องห้ามไปตลอดชีวิต โดยที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ดังนั้น การดำเนินการแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี เมื่อ 27 เมษายน 2567 เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการ ภายใต้ความไว้วางใจทางการเมือง และข้อตกลงทางการเมืองที่พรรคร่วมรัฐบาลมีต่อกัน โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและผู้ถูกร้องที่หนึ่งดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว”

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยด้วยว่า จากที่ได้เห็นเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพบว่าในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ได้สรุปประเด็นไว้ว่า การกระทำทั้งหมดตามคำร้อง(กลุ่ม40 สว.) มีที่มาจากข้อกล่าวหา ที่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของนายพิชิต ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องและจำหน่ายคดีในส่วนของนายพิชิตไปแล้ว และผู้ถูกร้องที่หนึ่ง(นายกรัฐมนตรี) ควรต้องรับผิดเฉพาะเหตุที่เกิดจาก(1) การขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามที่เกิดจากการะทำของตัวนายกรัฐมนตรีเองโดยแท้ หรือ(2) การรู้เห็นหรือรับรู้ การขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของบุคคลอื่นอย่างชัดแจ้ง แต่ยังคงดำเนินการต่อไป ดังนั้นในคดีนี้ ไม่ว่านายพิชิต จะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรมต.ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งผลให้ตัวนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามไปด้วย เพราะตนเองและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาตลอด

“อีกทั้งความผิดของผู้ถูกร้องที่สอง คือนายพิชิต ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของตนเอง ในฐานะผู้ถูกร้องที่หนึ่ง จึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”

รายงานข่าวแจ้งว่า ในตอนท้ายของคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ได้ระบุตอนหนึ่งว่า ตนเองได้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริต ในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ในการทำงานหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า การได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา ถือเป็นเกียรติยศ เป็นสิริมงคล ที่สร้างความภาคภูมิใจสูงสุด

 “ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกร้องตามหลักความได้สัดส่วน ความสมเหตุสมผลแห่งเหตุ และสอดคล้องกับความไว้วางใจที่สมาชิกรัฐสภา มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ได้ต่อเนื่องต่อไป โดยมีคำวินิจฉัยให้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4)และ(5) “ถ้อยคำตอนท้ายของเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯระบุไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘มือกม.ตงฉินเพื่อไทย' ลาออก ‘สามารถ’ บอกการเมืองปัจจุบันคงไม่เหมาะที่ท่านจะอยู่ในพรรค

ท่านเป็นนักกฎหมาย ที่เชี่ยวชาญ ทุ่มเททำงานมาโดยตลอด ตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ยึดหลักนิติธรรมเป็นสำคัญ ไม่เอาใจใคร ไม่รับใช้ใครในทางที่ผิด ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้จากตำแหน่งหน้าที่

ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร

ประธาน กกต. ไม่ฟังธง 'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาลเกินอำนาจ อบจ. ผิดหรือไม่

"อิทธิพร" เผยบัตรเลือกตั้งอบจ. เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ เตือนผู้สมัคร หลีกเลี่ยงให้เงินแตะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน

ข้องใจ! 'นายกฯอิ๊งค์-บิ๊กเพื่อไทย' ทำไมขยันลงพื้นที่ภูเก็ต

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง หนีกระทู้สภา ไปกระทู้ภูเก็ต" โดยระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี