เปิด ‘เอกสารลับ’  เศรษฐา 32 หน้า สู้ยิบตา-โต้ทุกเม็ด วอนศาลรธน. อย่าสอยหลุดเก้าอี้

เปิดเอกสาร’ลับ’เศรษฐา 32 หน้า สู้ยิบตา-โต้ทุกเม็ด วอนศาลรธน.อย่าสอยหลุดเก้าอี้ อึ้ง นายกฯ อ้างไม่มีภูมิหลังการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์การเมือง-บริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้ได้ว่าพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือไม่ การันตี ไปหาทักษิณสามครั้ง  ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพล

29 ก.ค.2567-ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ถึงการเตรียมการสู้คดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นผู้ถูกร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดี กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.)ยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยกรณี นายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 14 ส.ค.นี้

โดยมีรายงานว่า คาดว่านายเศรษฐา จะส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีต่อศาลรธน.ตามกำหนดเวลาไม่เกินกลางสัปดาห์นี้ และจะให้นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ตรวจทานและให้ความเห็นเป็นคนสุดท้ายก่อนส่งเอกสารให้ศาลรธน.

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาถึงศาลรธน.ไปแล้ว รวมถึงได้แจ้งบัญชีรายชื่อพยานบุคคล ไปให้ศาลรธน.หากศาลรธน.จะมีการเปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีเพื่อให้เรียกไปให้ถ้อยคำ แต่สุดท้าย ศาลรธน.ไม่เปิดห้องไต่สวน

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยกับ”ไทยโพสต์” ว่า ช่วงที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ได้มีการพูดคุยและสอบถาม ทีมงานการเมืองที่เป็นอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงฝ่ายกฎหมายที่ไปช่วยงานนายเศรษฐา ที่ทำเนียบรัฐบาลและช่วยงานส่วนตัว ถึงการสู้คดีในชั้นศาลรธน. จนทำให้ ได้ทราบถึง รายละเอียดใน หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรี ที่ทำถึงศาลรธน.ก่อนหน้านี้มีทั้งสิ้น 32 หน้า

โดยมีรายงานว่า เนื้อหาหลักๆ คือการชี้แจงลำดับขั้นตอนการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเป็นรัฐมนตรี ทั้งตอนตั้งรัฐบาลครั้งแรกหรือ”เศรษฐา 1”เมื่อ 1 กันยายน2566 และการปรับครม.ครั้งล่าสุดเมื่อ 27 เม.ย. 2567 โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันในเอกสารลับดังกล่าวว่า ได้กระทำการทุกอย่างโดยถูกต้องตามขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี อีกทั้งได้ย้ำว่า ในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและการเสนอชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดจากการเสนอชื่อผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใด ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จึงจึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง  ที่จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รายงานข่าวให้ข้อมูลว่า การสู้คดีของนายเศรษฐา ที่ปรากฏในเอกสาระสำคัญดังกล่าว ได้มีการลำดับขั้นตอนตั้งแต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อสิงหาคม 2566  และมีชื่อของนายพิชิต ชื่นบาน จะถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือครม.เศรษฐา 1  โดยทาง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคล ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลที่สำคัญจะต้องมาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี เพราะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเบื้องต้นเช่น เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ -ประวัติคดีอาญาและคดีแพ่ง และหากมีข้อสงสัย ว่าอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ รวมถึงแจ้งบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีว่าพบปัญหาเรื่องคุณสมบัติที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นายกฯและบุคคลดังกล่าว ตัดสินใจและดำเนินการให้ถูกต้อง โดยหากพบว่ารายชื่อบุคคลใดมีปัญหา ก็จะใช้วิธีการคือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือขอหารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อได้รับแจ้งผลการหารือจาก คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะสรุปผลการตรวจสอบประวัติโดยละเอียดทั้งหมดต่อนายกฯ

มีรายงานอีกว่า หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า กรณีของนายพิชิต ชื่นบาน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลังได้รับเอกสารต่างๆที่นายพิชิต นำไปยื่นกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเช่น แบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติ  ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกิดข้อสงสัยในเรื่องลักษณะต้องห้าม เพราะนายพิชิต เคยถูกคุมขังตามคำสั่งของศาลฯ ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 30 สิงหาคม และจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็นัดประชุมด่วนและมีหนังสือตอบกลับมาเมื่อ 1 กันยายน 2566 ตามที่สื่อมวลชนรายงานข่าวก่อนหน้านี้โดยเป็นการสอบถามไปถึงเรื่องว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา (6)และมาตรา 98 (7)หรือไม่

“สำหรับคำร้องของอดีตสว.ที่ว่านายกฯ จงใจไม่สอบถามกฤษฎีกาว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)และ(5) แต่เลือกถามเฉพาะประเด็นที่จะทำให้เสนอชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีได้นั้น ทราบว่านายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า เป็นการหารือในประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจพบในขณะนั้น และเกิดกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีสองคนคือนายพิชิต กับนายไผ่ ลิกค์ มิใช่การหารือเฉพาะของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่สอง เพียงรายเดียวอย่างที่กลุ่มอดีตสว.เข้าใจแต่เป็นการขอหารือตามประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีข้อสงสัยโดยครบถ้วน มิใช่ตั้งใจสอบถามไม่ครบถ้วนอย่างที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้ง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถสอบถามประเด็นข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) กับ (5) กับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯจึงชี้แจงว่า มิใช่การจงใจไม่สอบถามเฉพาะกรณีของผู้ถูกร้องที่สอง และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลรายได้รวมถึงนายพิชิตด้วย”รายงานข่าวระบุ

แหล่งข่าวที่ทราบข้อมูลรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลอีกว่า ทราบมาว่า ในคำแถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ทางนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำหลายครั้งในเอกสาร 32 หน้าดังกล่าว ตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด ในการเสนอชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี แต่ทั้งหมด ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใด ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้น จึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

“ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้คำว่า ตัวเอง ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้หรือควรรู้ว่านายพิชิต เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการใช้คำดังกล่าวหลายครั้ง”

นอกจากนี้ในเอกสารยังทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงยืนยันว่า การเสนอชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี  ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด  แต่ได้เสนอชื่อนายพิชิต อย่างเป็นธรรม และยังได้ระบุในเอกสารด้วยว่า มีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ แม้แต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ก็นำไปบริจาคเพื่อการกุศลและประโยชน์สาธารณะทั้งหมดจึงเป็นการดำเนินการโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทั้งหมดทำโดยถูกต้องตามขั้นตอน ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม”

นอกจากนี้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ในเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว นายเศรษฐา ได้ชี้แจงกรณี ในคำร้องระบุว่านายเศรษฐา เสนอชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีหลังไปพบนายทักษิณ ชินวัตร สามครั้งในช่วงการปรับครม. โดยนายเศรษฐาชี้แจงว่า ที่มีการบอกว่า ตนเอง แต่งตั้งนายพิชิต เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลภายนอก เอื้อประโยชน์ให้กับนายพิชิต และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูล โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า รู้จักกับนายทักษิณมานาน และมีการพบปะกันบ้างตามแต่ละโอกาส ส่วนการพบปะกับนายทักษิณ 3 ครั้งในช่วงการปรับครม. ทั้งที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้าของนายทักษิณ -ที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ก็เป็นการกระทำโดยเปิดเผย ไม่ได้เป็นการไปรับคำสั่งหรือข้อปฏิบัติใดๆ ในทางการเมือง เช่นตอนไปพบที่บ้านพักช่วงวันหยุดสงกรานต์ ก็เพื่อขอรดน้ำดำหัวตามประเพณีปฏิบัติของสังคมไทย เป็นต้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

ข้องใจ! เงินให้กู้ยืมคู่สมรส ร้อง ป.ป.ช. สอบ 'นายกฯอิ๊งค์'

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล